คืนดวงตาเมียนมาร์ 245 คน ‘เอสซีจี’จับมือ‘รพ.บ้านแพ้ว’ผ่าตัดต้อกระจกที่เมาะลำไย รัฐมอญ
“...ต้อกระจก” เป็นโรคทางจักษุ (ตา) ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะตาบอด หรือสายตาเลือนรางทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประมาณการณ์ว่า มีประชากรตาบอดทั่วโลกประมาณ 37 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2563 ต้อกระจกจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะตาบอด คิดเป็น 47.8% ของคนที่ตาบอด โดย 80% ของคนที่ตาบอด จะพบในประเทศที่กำลังพัฒนา..."
เมื่อวันที่ 8-11 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา เอสซีจี (SCG) และ Mawlamyaine Cement Limited (MCL) ประเทศเมียนมาร์ (โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ภายใต้การดำเนินการของเอสซีจี ตั้งอยู่ที่ อำเภอไจ๊มะยอว์ เมืองมาะลำไย รัฐมอญ) ร่วมกับ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ประเทศไทย จัดโครงการ Sharing a Brighter Vision 2018 เพื่อผ่าตัดรักษาผู้ป่วยต้อกระจกชาวเมียนมาร์ จากพื้นที่ เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ จำนวน 148 ราย และเมืองผะอัน รัฐกะเหรี่ยง (Kayin State) จำนวน 97 ราย รวมทั้งสิ้น 245 ราย
โครงการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยในปี 2558 ผ่าตัดไปแล้ว 206 ราย ปี 2559 จำนวน 207 ราย และปี 2560 จำนวน 209 ราย รวมทั้ง 4 ปี ผ่าตัดไปทั้งสิ้น 867 ราย
โดยความร่วมมือระหว่างคณะจักษุแพทย์ พยาบาล และบุคลากรจากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ร่วมกับพนักงานจิตอาสาจาก เอสซีจี และ เอ็มซีแอล เจ้าหน้าที่ล่าม และนักเรียนทุนจิตอาสา Sharing the Dream รวมถึงบุคลากรจากโรงพยาบาลเมืองเมาะลำไย (Mawlamyaine General Hospital) รัฐมอญ ประเทศเมียนมาร์
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2561 คณะจักษุแพทย์และพยาบาล จากโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ตรวจและคัดกรองผู้ป่วยที่มีภาวะการมองที่ไม่ชัดเจน พร่าเลือนตามข้อระบุที่ได้วินิจฉัยไว้ จำนวน 200 ราย ณ โรงพยาบาลเมืองพะอัน รัฐกะเหรี่ยง เพื่อรอรับการผ่าตัด และเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ทำการตรวจและคัดกรองผู้ป่วย จำนวน 200 ราย ณ โรงพยาบาลเมืองเมาะลำไย รัฐมอญ
ต่อมา เมื่อวันที่ 10-11 พ.ย. 2561 คณะจักษุแพทย์และพยาบาล จากโรงพยาบาลบ้านแพ้วฯ เริ่มดำเนินการผ่าตัดผู้ป่วยจากเมืองพะอันและเมืองเมาลำไยตามลำดับ โดยสำนักข่าวอิศราได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การผ่าตัดด้วย
การผ่าตัดดำเนินการที่ โรงพยาบาลเมืองเมาะลำไย โดยมี นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ประเทศไทย นำคณะสื่อมวลชนเข้าชมรอบพื้นที่โครงการ เริ่มจากพื้นที่ผู้ป่วยนั่งรอตามลำดับเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการผ่าตัด โดยนายแพทย์พรเทพ อธิบายว่า โรคต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมของเลนส์ตา ทำให้ตามัวลงเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้ตาบอดไปในที่สุด ซึ่งวิธีการรักษาคือ ต้องผ่าตัดและใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้กับผู้ป่วย
“ต้อกระจก” เป็นโรคทางจักษุ (ตา) ที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดภาวะตาบอด หรือสายตาเลือนรางทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ประมาณการณ์ว่า มีประชากรตาบอดทั่วโลกประมาณ 37 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2563 ต้อกระจกจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะตาบอด คิดเป็น 47.8% ของคนที่ตาบอด โดย 80% ของคนที่ตาบอด จะพบในประเทศที่กำลังพัฒนา
ต้อกระจกเกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อมตามอายุ สามารถรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดต้อกระจกคือการเอาเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออกและใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ ได้ผลดีถึง 99.45% ปัจจุบันการผ่าตัดต้อกระจกแบบผู้ป่วยนอกมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเทคนิคการผ่าตัดที่ทันสมัย ช่วยลดระยะเวลาการนอนในโรงพยาบาล รวมทั้งลดการติดเชื้อในโรงพยาบาล และค่ารักษาพยาบาลในการผ่าตัดน้อยกว่าการนอนรักษาในโรงพยาบาล (บางส่วนจากบทความวิชาการเรื่อง “ประสิทธิผลของโปรแกรมการวางแผนจำหน่ายแบบผู้ป่วยนอกต่อความวิตกกังวลและความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดต้อกระจก” โดย เบญจวรรณ พวงเพชร, อุษาวดี อัศดรวิเศษ, วันเพ็ญ ภิญโญภาสกุล, กนกรัตน์ พรพาณิชย์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในวารสาร Journal of Nursing Science Vol 34 Suppl 1 April-June 2016 หน้า 53-62)
จากข้อมูลสถิติของทางการเมียนมาร์ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันชาวเมียนมาร์ป่วยเป็นโรคต้อกระจกตากว่า 1.8 ล้านคน คิดเป็น 4% จากจำนวนประชากรทั้งหมด (ประมาณ 53 ล้านคน) โดยในรัฐมอญมีผู้ที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาโรคตาจำนวน 53,000 คน จากประชากรกว่า 2,055,000 คน ส่วนในรัฐกะเหรี่ยงมีผู้ที่เสี่ยงต่อการมีปัญหาโรคตาจำนวน 31,000 คน จากประชากรกว่า 1,432,00 คน
นายแพทย์พรเทพ อธิบายสาเหตุของการขุ่นมัวของเลนส์ตาว่า เกิดจากความเสื่อมถอยตามอายุ เปรียบให้เห็นภาพคือเสมือนผมหงอก บางคนมาเร็วบางคนมาช้าต่างกัน เมื่อเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งตาบอดได้ การป้องกันนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะเป็นภาวะเสื่อมตามอายุ แต่การรักษานั้นทำได้ นั่นคือ การผ่าตัด ส่วนวิธีการรักษาอื่นนั้นปัจจุบันยังไม่มี
“วิธีการผ่าตัดด้วยวิธีแบบเก่า คือ ต้องกรีดแผลขนาดประมาณ 13 มม. เพื่อเอาต้อออก ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วใช้วิธีดังกล่าวไม่ถึง 1% ต่อมาคือวิธีการที่ใหม่กว่า คือ การใช้เครื่องสลายต้อกระจก ซึ่งเป็นวิธีการที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน จะทำการกรีดแผลขนาดประมาณ 3 มม. เท่านั้น และใช้เครื่องสลายต้อกระจกเข้าไปทำการสลายออกเป็นชิ้นเล็กๆ และทำการดูดออกมาผ่านช่องขนาด 3 มม. ดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อแผลมีขนาดเล็กก็ทำให้หายเร็วกว่า และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ำกว่ามาก ความปลอดภัยสูง อีกทั้งแผลขนาดเล็กทำให้ไม่ต้องเย็บไหมจึงไม่มีผลทำให้เกิดการสายตาเอียง ฉะนั้น 99% โรงพยาบาลบ้านแพ้วใช้วิธีดังกล่าว
“แต่กระนั้น วิธีการผ่าตัดแบบใหม่โดยใช้เครื่องสลายต้อกระจกมีความยากกว่าวิธีการแบบเก่า หากไม่มีความเชี่ยวชาญอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่าวิธีการรักษาแบบเก่า อีกปัจจัยคือ ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า เพราะเครื่องสลายต้อกระจกดังกล่าวรวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันนั้นราคาสูงมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งยังใช้วิธีการรักษาแบบเก่าอยู่”
“เมื่อทำการผ่าตัดแล้ว ต่อมาจะทำการฝังเลนส์แก้วตาเทียมแทนเลนส์แก้วตาเดิมที่เอาออกไป ซึ่งที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเลือกใช้นั้น เป็นของที่มีคุณภาพสูงจากประเทศสหรัฐอเมริกา โครงการดังกล่าวนี้ก็เช่นเดียวกัน ด้วยการผ่าตัดโดยใช้เครื่องสลายต้อกระจกรวมถึงการฝันเลนส์แก้วตาเทียมคุณภาพสูงดังกล่าว ค่าบริการในโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณข้างละ 30,000-40,000 บาท
“เมื่อผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วก็จะทำการเปิดตาตรวจดูอาการในวันถัดไป เป็นอย่างไร ต้องแก้ไขหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือไม่ และตรวจดูอีกครั้งในอีกหนึ่งสัปดาห์ สิ่งที่ควรระวังที่สุดคือการติดเชื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดการตาบอดได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจะถูกห้ามไม่ให้โดนน้ำเป็นเวลา 1 เดือน รวมถึงต้องหยอดยาที่ให้อย่างสม่ำเสมอ
“การติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในห้องผ่าตัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลบ้านแพ้วให้ความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดในโรงพยาบาลเองหรือการออกหน่วยผ่าตัดนอกสถานที่อื่นๆ เช่น ใบมีด เข็ม ถุงมือใช้ครั้งเดียวทิ้ง อุปกรณ์ต่างๆ ผ่านการฆ่าเชื้อทำความสะอาดด้วยการนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการฆ่าเชื้อที่ดีที่สุด โดยเครื่องนึ่งดังกล่าวก็นำมาจากประเทศไทยด้วยเช่นกัน” นายแพทย์พรเทพ กล่าว
ด้านความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดต้อกระจก นายแพทย์พรเทพ เล่าว่า การผ่าตัดต้อกระจกโดยทั่วไป อาจจะใช้เวลาประมาณ 1 ชม.ต่อผู้ป่วยหนึ่งคน แต่เมื่อเรียนรู้จนมีความเชี่ยวชาญจะใช้เวลาเพียง 6-7 นาทีเท่านั้น โดยแพทย์ 1 คน สามารถทำการผ่าตัดผู้ป่วยได้สูงสุด 99 คนต่อวัน เป็นความเร็วที่แพทย์ผู้มีความเชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถทำได้ และด้วยความรวดเร็วดังกล่าว จึงใช้วิธีการหยอดยาชาในการผ่าตัด ซึ่งการหยอดยาชาต้องทำให้เสร็จภายใน 18 นาที แต่ทีมผ่าตัดสามารถทำเสร็จภายใน 6-7 นาทีเท่านั้น ทำให้ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา ซึ่งการใช้เข็มฉีดยาชานั้นมีภาวะเสี่ยงหรือมากกว่าวิธีการหยอดยาชา
“ในการช่วยเหลือนั้น ไม่สามารถช่วยเหลือทั้งหมดได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนมาก แต่เราพยายามช่วยเหลือผู้ที่ลำบากที่สุดก่อน หลักการคัดกรอง คือ เลือกผู้ที่มีปัญหามากที่สุดก่อน เช่น ช่วยผู้ป่วยที่ต้อสุกจนกระทั่งมองไม่เห็นแล้ว หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นต้อหินจนตาบอดในที่สุด” นายแพทย์พรเทพ กล่าว
ในช่วงเช้าวันที่ 11 พ.ย. 2561 ณ ห้องประชุม โรงพยาบาลเมืองเมาะลำไย จัดแถลงข่าวเปิดตาให้กับผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด ในโครงการ Sharing a Brighter Vision 2018 โดยมี ดร. ทา ตัน คยาว (Dr.Tha Tun Kyaw) Permanent Secretary of Ministry of Health and Sports ดร.เฮียน ลิน (Dr. Htain Lin) Social Minister of Mon State นายอู คุน เมียว ทิน (U Khun Myo Thint) Pa-Oh National Affair Minister of Kayin นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ อุปทูต สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ประธานกรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี ร่วมพิธี
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า เอสซีจีมุ่งมั่นและทุ่มเทดำเนินงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการเติบโตของธุรกิจ ตลอดจนเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งในประเทศ และทั่วทั้งภูมิภาค โดยคำนึงถึงความต้องการของชุมชนในพื้นที่เป็นหลัก และอาศัยการมีส่วนร่วมของพนักงาน ภาครัฐ และชุมชนรอบพื้นที่การดำเนินธุรกิจของเอสซีจีเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความยั่งยืน โดยโครงการ Sharing a Brighter Vision 2018 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถานเอกอัคราชฑูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง รัฐบาลของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ชุมชน อาสาสมัครนักเรียนทุน Sharing the Dream พนักงานเอสซีจีและเอ็มซีแอล ตลอดจน โรงพยาบาลเมืองเมาลำไย และ โรงพยาบาลเมืองผะอัน ร่วมผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จราบรื่นอย่างต่อเนื่อง
“โครงการดังกล่าวนั้น ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แล้ว ส่วนจะมียาวนานไปถึงเมื่อไรนั้นไม่สามารถบอกได้ ต้องดูเป็นปีต่อปี กระนั้นก็หวังว่าจะมีปีต่อๆ ไปเช่นนี้” ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/