แอมเนสตี้เรียกคืนรางวัล Ambassador of Conscience Award ที่เคยให้อองซานซูจี
อินเตอร์เนชั่นแนลประกาศเรียกคืนรางวัลรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึกที่เคยให้กับอองซานซูจี พิจารณาแล้วเห็นการทรยศต่อคุณค่าที่เคยปกป้องของผู้นำเมียนมา
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2561 คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เขียนจดหมายถึงอองซานซูจี แจ้งให้ทราบว่าทางองค์การได้ยกเลิกรางวัลที่เคยมอบให้เมื่อปี 2552 คูมีแสดงความผิดหวังที่เธอไม่ได้ใช้อำนาจทางการเมืองและทางศีลธรรมที่มีอยู่เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม หรือความเท่าเทียมในเมียนมา โดยกล่าวถึงการที่เธอเพิกเฉยต่อการทารุณกรรมของกองทัพเมียนมา และการที่รัฐไม่อดทนอดกลั้นต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาแล้วครึ่งเทอม หรือแปดปีหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากการถูกกักบริเวณภายในบ้าน
คูมีกล่าวไว้ในจดหมายตอนหนึ่งว่า
"ในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เราคาดหวังว่าอองซานซูจีจะยังคงใช้อำนาจทางศีลธรรมที่มีอยู่ เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมทุกครั้งที่พบเห็น อย่างน้อยที่สุดภายในเมียนมา"
“ทุกวันนี้ เราผิดหวังอย่างยิ่งที่ท่านไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความหวัง ความกล้าหาญ และการยืนหยัดปกป้องสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป แม้จะเสียใจเป็นอย่างยิ่ง แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลไม่อาจรับรองสถานะของท่านในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกอีกต่อไป เราจึงขอถอนรางวัลนี้ที่เคยมอบให้กับท่าน”
สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นับแต่อองซานซูจีขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนโดยพฤตินัยของเมียนมาเมื่อเดือนเมษายน 2559 รัฐบาลของเธอมีส่วนร่วมอย่างจริงจังต่อการปฏิบัติหรือสนับสนุนให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากมายหลายครั้ง
ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้วิพากษ์วิจารณ์อองซานซูจีและรัฐบาลของเธอหลายครั้ง เนื่องจากปฏิเสธที่จะพูดถึงปฏิบัติการที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาต่อประชากรชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ชาวโรฮิงญาต้องดำรงชีวิตภายใต้ระบบที่มีการแบ่งแยก กีดกันและเลือกปฏิบัติ ระหว่างที่มีปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงต่อพวกเขา เมื่อปีที่แล้ว กองกำลังของเมียนมาได้เข่นฆ่าสังหารชาวโรฮิงญาหลายพันคน ข่มขืนผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ควบคุมตัว ทรมานผู้ชายและเด็กผู้ชาย รวมถึงเผาทำลายบ้านเรือนอีกหลายร้อยหลัง ชาวโรฮิงญากว่า 720,000 คนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ รายงานจากองค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนไม่มีอำนาจควบคุมเหนือกองทัพ แต่ที่ผ่านมาอองซานซูจีและรัฐบาลของเธอได้ปกป้องกองทัพให้พ้นจากความรับผิดชอบ โดยทั้งปฏิเสธ เพิกเฉย หรือไม่ยอมรับข้อกล่าวหาว่าได้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังขัดขวางการสอบสวนของนานาชาติต่อการปฏิบัติมิชอบในครั้งนี้ รัฐบาลของเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา โดยประณามว่าพวกเขาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” กล่าวหาว่าพวกเขาเผาบ้านเรือนของตนเอง ทั้งยังประณามว่ามีการปล่อย “ข่าวการข่มขืนปลอม” ในเวลาเดียวกัน สื่อมวลชนของรัฐได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความในเชิงยั่วยุและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาเป็น “เห็บมนุษย์ที่น่ารังเกียจ” และเป็น “เสี้ยนหนาม” ซึ่งต้องกำจัดให้หมดไป
คูมีกล่าวเพิ่มเติมว่า การที่อองซานซูจีไม่ออกมาปกป้องชาวโรฮิงญา เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถยอมรับเธอในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกได้อีกต่อไป
“การที่เธอปฏิเสธถึงระดับความรุนแรงของการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะแก้ไขสถานการณ์เพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาหลายแสนคนซึ่งถูกทอดทิ้งอยู่ในบังกลาเทศหรืออีกหลายแสนคนซึ่งยังคงอยู่ในรัฐยะไข่ หากไม่มีการยอมรับว่าได้เกิดอาชญากรรมร้ายแรงต่อชุมชนเหล่านี้ เราย่อมไม่มีโอกาสเห็นรัฐบาลดำเนินการเพื่อปกป้องคุ้มครองพวกเขาจากความทารุณโหดร้ายในอนาคต”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเน้นให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐคะฉิ่นและตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งอองซานซูจีล้มเหลวในการใช้อิทธิพลและอำนาจทางศีลธรรมเพื่อประณามการปฏิบัติมิชอบของกองทัพ รวมถึงการทำให้กองทัพรับผิดต่ออาชญากรรมสงคราม หรือเพื่อปกป้องพลเรือนชนกลุ่มน้อยที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง อีกทั้งรัฐบาลพลเรือนของเธอยังทำให้สถานการณ์แย่ลงโดยการใช้มาตรการจำกัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเข้มงวด ทำให้ความทุกข์ยากมากยิ่งขึ้นต่อประชาชนผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบกว่า 100,000 คน
การปราบปรามเสรีภาพในการแสดงความเห็น
แม้กองทัพจะเป็นผู้ถืออำนาจแต่รัฐบาลที่นำโดยพลเรือนก็มีอำนาจหน้าที่มากพอที่จะปฏิรูปเพื่อให้เกิดการคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมอย่างสงบ แต่สองปีหลังจากรัฐบาลอองซานซูจีบริหารประเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้สื่อข่าวได้ถูกจับกุมและคุมขัง ในขณะที่คนอื่นๆ ต้องเผชิญกับการข่มขู่ คุกคามและการใช้อิทธิพลกดดันในหน้าที่การงาน
รัฐบาลอองซานซูจีไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อยกเลิกกฎหมายเผด็จการ รวมทั้งกฎหมายบางฉบับที่ได้เคยถูกใช้เพื่อควบคุมตัวเธอและบุคคลอื่นๆ ที่เรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในอดีต ในทางตรงข้าม เธอกลับแสดงความเห็นสนับสนุนการใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการตัดสินใจดำเนินคดีและคุมขังผู้สื่อข่าวรอยเตอร์สองคน เนื่องจากการรายงานข้อมูลการสังหารหมู่โดยกองทัพเมียนมา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยกย่องอองซานซูจีในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกเมื่อปี 2552 เนื่องจากการต่อสู้อย่างสงบและไม่ใช้ความรุนแรงของเธอเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยในตอนนั้นเธอถูกกักบริเวณในบ้าน และต่อมาได้รับการปล่อยตัวจนครบรอบแปดปีในวันนี้ เมื่อเธอมารับรางวัลนี้ในปี 2556 อองซานซูจีได้ร้องขอต่อแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่า “อย่าได้ละสายตาหรือความคิดของท่านจากพวกเรา และโปรดช่วยเหลือให้เราเป็นประเทศที่ความหวังและประวัติศาสตร์เป็นหนึ่งด้วยกัน”
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยึดมั่นตามคำขอของอองซานซูจีอย่างจริงจัง ดังนั้นเราจึงไม่เคยละสายตาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในเมียนมา”
“เราจะยังคงต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาต่อไป ไม่ว่าจะด้วยความสนับสนุนของเธอหรือไม่ก็ตาม” คูมีกล่าวทิ้งท้าย