ร้อยเอ็ด ตั้งเป้า‘เมืองหลวง’ ข้าวหอมมะลิ ใช้การตลาด-นวัตกรรมนำการผลิต
“หากไม่มีการรวมกลุ่ม แปรรูปไม่ได้ เพราะไม่มีจำนวนมากพอสำหรับส่งขายได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สะดุด นี่คือเงื่อนไขทางการตลาดนำสู่ความสำเร็จ และทางรอดเกษตรกรไทย คือการรวมกลุ่ม และการแปรรูป”
อีสานกลาง คือ ดินแดนแห่งข้าว
กาฬสินธุ์ ต้องข้าวเหนียวเขาวง
ขอนแก่น ข้าวทับทิมชุมแพ
มหาสารคาม ข้าวไรซ์เบอรี่
และหากจะทานข้าวหอมมะลิที่อร่อย ก็ต้องที่จังหวัดร้อยเอ็ด
ร้อยเอ็ด 1 ใน 5 จังหวัดทุ่งกุลาร้องไห้ผลิตข้าวหอมมะลิได้ดีที่สุด ปัจจุบันมีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 2.2 แสนครัวเรือน มีพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 2.6 ล้านไร่ ผลผลิตเฉพาะข้าวหอมมะลิ โดยรวมประมาณ 1.1 ล้านตัน
“ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ด้วยความพิเศษของพื้นที่ ทำให้ “ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้” มีลักษณะพิเศษ เป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามาตั้งแต่ปี 2550
นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด บอกถึงยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาจังหวัดว่า ร้อยเอ็ดตั้งเป้าเป็นศูนย์การในการผลิตข้าวหอมมะลิ หรือ “เมืองหลวง” ข้าวหอมมะลิ เพราะคนทั่วไปรู้จักข้าวหอมมะลิร้อยเอ็ด “หอม-เรียวยาว-ขาวนุ่ม” ซึ่งในบรรดา 5 จังหวัดทุ่งกุลาฯ ร้อยเอ็ดนับได้ว่า มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดถึงร้อยละ 46.8 หรือกว่า 9.8 แสนไร่
ขณะเดียวกันแม้ทางจังหวัดร้อยเอ็ดพยายามในการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิให้มากขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 หรือให้มากกว่าปัจจุบันที่เกษตรกรทำได้ 442 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องสภาพพื้นที่ ทั้งน้ำ อากาศ แสงแดด ทำให้การปลูกข้าวหอมมะลิทำได้เพียงปีละครั้ง ผลผลิตต่อไรจึงได้น้อย
ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด มองว่า ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว หากเกษตรกรขายผลผลิต ก็จะได้ราคาตามตลาด รายได้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตและปัจจัยทางธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องเกิดการแปรรูปเป็นสินค้าให้หลากหลาย ทั้งอาหาร เวชสำอาง โดยใช้นวัตกรรมนำการผลิต
ส่วนการส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่ ที่ไม่เพียงสามารถลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตและคุณภาพข้าวเท่านั้น นายประยงค์ ภูดินทราย เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด เชื่อว่า เกษตรกรจะได้มีรายได้มั่นคงและยั่งยืน
"วันนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในจังหวัดร้อยเอ็ดมีการรวมกลุ่มทำนาแปลงใหญ่แล้ว 122 กลุ่ม หมื่นกว่าพื้นที่ หรือกว่า 1 แสนไร่ เราตั้งเป้ารวมกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทำนาแปลงใหญ่ให้ได้ครบทั้งพื้นที่"
การยกระดับผลผลิตข้าวหอมมะลิให้มีมูลค่าสูง เพื่อให้เกษตรหลุดพ้นความยากจน ในมุมมองนายสมเกียรติ ชัยคณารักษ์กูล ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด ชี้ว่า ทุกๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องช่วยกัน วันนี้ข้าวหอมมะลิเราขายไม่น่าเกิน 20 บาทต่อกิโลกรัม แต่หากมีการแปรรูปสามารถยกระดับมูลค่าข้าวหอมมะลิได้ถึง 20 เท่า
ประธานหอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด ชี้ว่า ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฯ เราปลูกได้ครั้งเดียวต่อปี อนาคตใครไม่จอง มาซื้อล่วงหน้า อาจไม่มีข้าวขาย ยิ่งปีนี้ความแล้งในทุ่งกุลาฯ ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิสูงแบบก้าวกระโดด
ขณะที่ดร.รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์อีสาน จังหวัดร้อยเอ็ด ยืนยันชัดเจนถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรว่า หนีไม่พ้นต้องผ่านกระบวนการแปรรูป
เขามองว่า ปัจจุบันเกษตรกรไทยยังนำสินค้าทางการเกษตรมาแปรรูปไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ เนื่องด้วยจุดอ่อนในการรวมกลุ่มกัน “หากไม่มีการรวมกลุ่ม แปรรูปไม่ได้ เพราะไม่มีจำนวนมากพอสำหรับส่งขายได้อย่างต่อเนื่อง และไม่สะดุด นี่คือเงื่อนไขทางการตลาดนำสู่ความสำเร็จ และทางรอดเกษตรกรไทย คือการรวมกลุ่ม และการแปรรูป”
ดร.รณวริทธิ์ ตอกย้ำ คนเดียวยังไงก็ทำไม่ได้แน่นอน และที่ผ่านมาจุดอ่อนเกษตรกรไทย คือการรวมตัวกันไม่ติด รวมตัวแล้วทะเลาะกัน
“พูดตรงๆ นะ มีการเอาการเมืองมาแทรกคนก็แตกกัน แต่ที่นี่ ไม่พูดเรื่องการเมือง มองเรื่องความอยู่รอด ที่ทุกคนจะอยู่รอดร่วมกันก่อน ทุกคนยึดทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง ยึดศาสตร์พระราชา และยึดหลักการอยู่ร่วมกัน”
ดร.รณวริทธิ์ ยังยกตัวอย่างส่วนของ รำข้าว 100 กิโลกรัม ผลิตเป็นน้ำมันรำข้าวได้ 4.5 ลิตร ขายปลีกลิตรละ 800 บาท ขายส่งลิตรละ 600 บาท หากขายเป็นรำออกไป 1 กิโลกรัม 10 บาท
และนี่คือการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวหอมมะลิได้ร้อยกว่าเปอร์เซนต์
“เราดูแลคนเยอะ มีสมาชิกว่ากว่า 1 พันคน เราต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากที่สุดมิเช่นนั้นเราจะหล่อเลี้ยงสมาชิกเราไม่ได้ ผมมองว่า สร้างเกษตรกรยอดเยี่ยมหมื่นคน ง่ายกว่าสร้างนักการตลาดเก่งๆ 1 คนเสียอีก" ดร.รณวริทธิ์ ให้มุมมองการยกระดับ และการเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิทิ้งท้าย
ผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ตำบลหนองพอก อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตและเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงครบวงจร ร้อยเอ็ดสามารถนำข้าวหอมมะลิมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และให้เกิดเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้แล้วกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่
1.Power bar ทำจากข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมนิล ข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวทับทิมชุมแพ ข้าวไรซ์เบอรี่ โดยวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์ ตำบลดงแดง อำเภอจตุพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด
2.เยลลี่น้ำนมข้าว โดยวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวหอมมะลิวาวี่ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
3.เครื่องดื่มจากใบข้าว ทำจากใบข้าวหอมมะลิต้นอ่อนที่ปลูกในท้องถิ่น โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ ตำบลชมสะอาด อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด
4.Breakfast cereal ข้าวหอมมะลิ โดยวิสาหกิจชุมชนสวนฟ้านาบุญ ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
5.ซุปครีมข้าวสำหรับผู้สูงอายุ เนื้อข้นจากข้าวหอมมะลิ โดยวิสาหกิจชุมชนการผลิตและแปรรูปข้าวอินทรีย์ ตำบลวังหลวง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
6.Crispy rice bar จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวหอมมะลิเพชรทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลดงครั่งใหญ่ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
7.แป้งเค้กกึ่งสำเร็จรูป ทำจากข้าวหอมมะลิ จากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ข้าวหอมมะลิ ตำบลหนองแก้ว อำเภอหนองแก้ว จังหวัดร้อยเอ็ด
8.ผงนมข้าวสำหรับชงดื่ม โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวกล้องวันทน์กมล ตำบลปอภาร อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
9.ไรซ์แครกเกอร์ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรยั่งยืน ตำบลหนองแคน อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด
10.ครีมผงข้าวหอมมะลิ แทนคอฟฟี่เมท โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า ตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ซึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งหมดจาก Farm to Customer หรือจากท้องทุ่งนาสู่ห้องครัวโดยตรง จัดจำหน่ายช่วง 3 วัน ในงานเทศกาลข้าวหอมมะลิโลกครั้งที่ 19 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเพชรรัตน์การ์เด้นร้อยเอ็ด โดยปีนี้ อาลีบาบา เว็บไซต์ขายของออนไลน์จะมาร่วมออกบูธในงานด้วย
ส่วนกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในเทศกาลข้าวหอมมะลิโลกครั้งที่ 19 ประกอบด้วยการเสวนาวิชาการ การเจรจาการค้าและลงนามบันทึกข้อตกลง การประกวดแข่งขัน แสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล มีการสาธิตและฝึกอบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงของศิลปินคืนถิ่น
ผลิตภัณฑ์ของฝากจากแป้งข้าวหอมมะลิ ร้านเนยสดปาร์ค
ผลิตภัณฑ์เวชสำอาง จากข้าวหอมมะลิ และผงพอกหน้าข้าวหอมมะลิ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืน ต.หนองแคน
ชงชาจากกล้าอ่อน
ผลิตภัณฑ์ชาใบข้าวหอมมะลิ วิสาหกิจชุมชนส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
พิซซ่า ก็ทำได้
ลงแขกเกี่ยวข้าวหอมมะลิ บ้านน้ำคำ ตำบลน้ำคำ อำเภอสุวรรณภูมิ