เปิดขั้นตอนสรรหา ‘กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ’ กองทุนสื่อฯ หลังผู้สมัครร้องไม่ผ่านเข้าเเสดงวิสัยทัศน์
เปิดประเด็นร้อน ขั้นตอนสรรหา "กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ" กองทุนสื่อฯ หลังถูกร้องตัดสิทธิ์ผู้สมัครไม่ผ่านรอบเเรก จี้ "พล.ต.ต.ชุมศักดิ์" ประธานคณะกรรมการฯ เร่งชี้เเจงหลักเกณฑ์พิจารณาเหมาะสม สาเหตุไม่ได้รับการเเสดงวิสัยทัศน์
กลายเป็นประเด็นร้อน!
สำหรับการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ภายหลัง รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ รักษาการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชนในคณะกรรมการกองทุนฯ และผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ซึ่งทั้งสองคนเป็นผู้สมัครเข้ารับการสรรหา แต่ปรากฎว่า กลับไม่ได้รับการพิจารณาคุณสมบัติให้เป็นหนึ่งในผู้เหมาะสมรอบแสดงวิสัยทัศน์ ทั้งที่ทำงานคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนมานาน
จึงทำให้มีการยื่นหนังสือถึง พล.ต.ต.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในกองทุนฯ โดยข้อเรียกร้องของผู้ถูกตัดสิทธิ์ขอให้มีการชี้แจงเหตุผลและความชัดเจนในการตัดสิทธิ์รอบแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมหลักเกณฑ์การพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครและควรได้รับการแสดงวิสัยทัศน์ รวมถึงกระบวนการสรรหาที่คณะกรรมการกำหนดขึ้นเป็นอย่างไร พร้อมกับคลิปเสียงการประชุมและรายงานการประชุมด้วย
(อ่านประกอบ: ‘รศ.มาลี-ผศ.เอื้อจิต’ จี้ปธ.คกก.สรรหาฯ กองทุนสื่อ แจงตัดสิทธิ์แสดงวิสัยทัศน์ รับเลือก กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ)
หากย้อนกลับไปตรวจสอบขั้นตอน วิธีการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ พบว่า ตามประกาศคณะกรรมการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ฉบับที่ 1 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อจะต้องมีความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
โดยมาตรา 18 ใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ระบุว่า
(ก) คุณสมบัติ (1) มีสัญชาติไทย (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปีบริบูรณ์
(ข) ลักษณะต้องห้าม (1) เป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในกิจการที่กระทํากับกองทุน หรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน (2) เป็นผู้มีพฤติกรรมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน (3) เป็นผู้ดํารงตําแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการ หรือผู้ดํารงตําแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ พรรคการเมือง
(4) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (5) เคยได้รับโทษจําคุกโดยคําพิพากษาถึงที่สุดให้จําคุก เว้นแต่เป็นโทษสําหรับความผิด ที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (6) เคยเป็นผู้ต้องคําพิพากษาหรือคําสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการเสนอชื่อ ตามมาตรา 18 และตามที่ได้ระบุความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน โดยคำนึงถึงความรู้ความเชี่ยวชาญ ตลอดจนผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาในรอบแรก เพื่อเข้าสู่กระบวนการแสดงตนและวิสัยทัศน์ด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหา ณ กระทรวงวัฒนธรรม
โดยผู้ได้รับการคัดเลือกจะต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการสรรหาทั้งหมด ส่วนผู้ไม่สามารถแสดงตนต่อคณะกรรมการสรรหาในวัน เวลา ดังกล่าว ที่ระบุไว้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ให้ถือว่าสละสิทธิ์
ทั้งนี้ ปรากฎว่า รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ และ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ กลับไม่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก แม้จะเบื้องต้นทั้งสองคนจะอ้างว่า มีคุณสมบัติครบตามมาตรา 18 และมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ก็ตาม
ทั้งหมดนี้คือขั้นตอน วิธีการสรรหาบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนฯ ตามประกาศฉบับที่ 1
ส่วนเหตุผลแท้จริงเกี่ยวกับรายละเอียดพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครและควรได้รับการแสดงวิสัยทัศน์จะเป็นอย่างไร คงต้องรอให้ พล.ต.ต.ชุมศักดิ์ พฤกษาพงษ์ ประธานคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นผู้ออกมาชี้แจงแถลงไขเพื่อความกระจ่างทั้งต่อผู้เข้ารับการเสนอชื่อและสาธารณชนต่อไป .