มูลนิธิเลยชูนวัตกรรมชุมชนแนะอปท.ตะบันน้ำช่วยเกษตรที่สูง-กปน.ชี้กาลักน้ำได้ผลแก้อุทกภัย
เวทีน้ำชุมชนระดมนวัตกรรมชูเทคโนโลยีพอเพียง มูลนิธิเลยนำตะบันน้ำอวดแก้ปัญหาเกษตรพื้นที่สูงขาดน้ำ การประปานครหลวงแนะท้องถิ่นใช้กาลักน้ำแก้อุทกภัย ปธ.ยูบีเอ็มเชื่อเทคโนโลยีพอเพียงทำชุมชนพัฒนายั่งยืน
วันที่ 8 มิ.ย.55 ที่ไบเทค บางนา คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ร่วมกับการประปานครหลวง บริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย(ประเทศไทย)จำกัด จัดสัมมนาเทคโนโลยีพอเพียงเพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ซับซ้อนมีความเหมาะสมเป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน นักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าร่วม
นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานยูบีเอ็ม กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำโดยใช้เทคโนโลยี อาศัยความก้าวหน้าในนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งการจัดการน้ำในแม่น้ำลำคลอง การกำจัดของเสีย การช่วยเหลือในภาคเกษตรรวมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปปรับใช้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
นายอดิศร สุนทรารักษ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิเลย เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนอย่างยั่งยืน (ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง) กล่าวถึงกระบวนการจัดการน้ำโดยชุมชนว่า รูปแบบหนึ่งที่นำมาใช้ได้ผลดีคือการตะบันน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีง่ายๆ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ได้จริง เป็นการนำมาทดลองใช้ในพื้นที่เกษตรพื้นที่สูงได้ผลที่น่าพอใจ ตะบันน้ำเป็นความพยายามนำน้ำจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการใช้เชื้อเพลิง ดูแลรักษาง่าย เป็นเครื่องมือที่ทำงาน 24 ชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับความนิยม แต่หายไปหลังจากมีเครื่องสูบน้ำเข้ามา ซึ่งมูลนิธิฯร่วมกับปราญ์ชาวบ้านนำกลับมาใช้ในพื้นที่ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้
“เครื่องตะบันน้ำทำงานง่ายๆมีอุปกรณ์ประกอบด้วย ห้องวาล์วที่มช้ท่อพีวีซีธรรมดา วาล์วกระแทกซื้อได้จากร้านวัสดุทั่วไป เช็ควาล์ววึงเป็นตัวเปิดปิดน้ำ หลักการทำงานคือการกระแทกให้น้ำเกิดการไหลอย่างรวดเร็ว ก่อนจะให้ไหลวกกลับทางท่อวาล์ว ทำให้เกิดการสะสมพลังงานกระทันหัน ดันน้ำออกจากท่องที่ต่อเชื่อมกับวาล์ลเปิดปิด เกิดแรงลมผลักดันน้ำไหลต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งในภาคเกษตรหรือน้ำในการอุปโภคบริโภค ซึ่งรายละเอียดการทำเข้าไปดูได้ใน http://www.loeifund.or.th/” รองประธานกรรมการมูลนิธิเลย กล่าว
ด้าน นายวิวัฒน์ จริตนันท์ ผอ.กองบำรุงรักษาไฟฟ้าฝ่ายบำรุงสถานีสูบน้ำ การประปานครหลวง กล่าวว่า การประปาเสนอนวัตกรรมเรื่องกาลักน้ำที่มีระบบการทำงานตามธรรมชาติของน้ำคือไหลจากที่สูงลงที่ต่ำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการเกษตร การแก้ปัญหาน้ำท่วม นำน้ำออกจากที่หนึ่งย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง
“เป็นหลักการง่ายๆ กาลักน้ำการประปาทำได้ผลในช่วงมหาอุทกภัยปีที่ผ่านมา คือการเข้าไปวางท่อขนาดใหญ่ดึงน้ำออกจากคลองประปา คลองเพชรรัตน์แถวงามวงศ์วานที่ได้ผลดี หลักการก็ง่ายๆใช้ในกรณีน้ำต่างระดับใช้สายยางหรือท่อทำให้เกิดแรงดันน้ำ เทน้ำจากที่สูงลงที่ต่ำ องค์กรท้องถิ่นนำไปปรับใช้ได้ ทั้งในคูคลองสำหรับพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยในช่วงหน้าฝนที่กำลังเข้ามาในขณะนี้”