ร้องพม.เอาผิดสื่อทีวีและเพจดัง เผยแพร่ข่าวสัมภาษณ์เด็ก4ขวบ ถูกล่วงละเมิด
ร้องพม.เอาผิดสื่อทีวีและเพจดัง เผยแพร่ข่าวสัมภาษณ์เด็ก4ขวบ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ผิดกฎหมายคุ้มครองเด็ก จี้เร่งทำความเข้าใจการทำข่าวที่ถูกต้อง ไม่ละเมิดกฎหมาย
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)นางสาวทิพย์สุดา สิงห์บุญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม พร้อมด้วย นายวันชัย พูลช่วย ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และภาคีเครือข่ายฯ กว่า30คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนผ่านทาง นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีสื่อโทรทัศน์และเพจชื่อดัง เผยแพร่ข่าวการสัมภาษณ์เด็ก4ขวบถูกล่วงละเมิดทางเพศผ่านสาธารณะ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยนำหลักฐานทั้งหมดมอบให้ทางพม.ตรวจสอบและเอาผิดด้วย
นางสาวทิพย์สุดา กล่าวว่าจากกรณีที่สื่อออนไลน์เพจเฟสบุ๊คชื่อดัง และ สื่อโทรทัศน์ช่อง หนึ่ง รวมทั้งสำนักข่าวท้องถิ่นได้เข้าไปทำข่าวเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงวัย4ขวบ ถูกเด็กผู้ชายวัย13 ขวบ ล่วงละเมิดทางเพศ ที่จังหวัดอ่างทอง และได้มีการเผยแพร่ ภาพและวีดีโอ เกี่ยวกับข้อมูลของตัวเด็กผู้เสียหาย ทั้งนี้ยังมีการสัมภาษณ์ตัวเด็กผู้เสียหายโดยตรง ไม่ผ่านการประเมินสภาพจิตใจและสภาพแวดล้อมที่สมควรเป็นตามหลักสากลในการคุ้มครองสิทธิเด็ก และบางประเด็นอาจเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องในคดีความ ซึ่งการซักถามหรือสอบถามจำเป็นต้องเป็นไปตามหลักของสหวิชาชีพ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของเด็ก เข้าข่ายผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 22 มาตรา 26(6) มาตรา40(3) และอาจเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา133 ทวิ ด้วย เป็นการผิดต่อจรรยาบรรณและจริยธรรมการนำเสนอข่าว
“กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กอย่างชัดเจน แม้จะมีการเบลอหน้า ซึ่งไม่เป็นผลดีใดๆเลยกับตัวเด็กและครอบครัว ซ้ำร้ายอาจกระทบกระเทือนจิตใจเด็กและผู้เสียหาย ให้ลงลึกไปจนยากต่อการฟื้นฟูแก้ไขเยียวยา จึงขอให้ทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม.เข้าช่วยเหลือเยียวยาในตัวเด็กสองฝ่ายด้วย” นางสาวทิพย์สุดา กล่าว
ขณะที่ นายวันชัย กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งสองฝ่าย ที่อาจถูกละเมิดและคุกคามจากสื่อหลายสำนัก ตลอดจนมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลายในทุกช่องทาง ตลอดจนอาจมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กอีกในอนาคต เครือข่ายจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน พม. ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบดังนี้
1.ตรวจสอบการกระทำของสื่อสำนักดังกล่าว และเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และกฎหมายอื่นเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
2.ขอให้เร่งส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสหวิชาชีพ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ในการเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา(เด็กชาย)ทั้งสองครอบครัว เพื่อประเมินตามหลักวิชาชีพ โดยยึดประโยชน์ของเด็กสุงสุดเป็นตัวตั้ง และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ยุติการส่งต่อหรือเผยแพร่ ทั้งคลิปและภาพเด็กรวมถึงภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งให้เร่งตรวจสอบและเยียวยา เพื่อพิจารณาจากสภาพจิตใจของเด็ก ครอบครัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมในชุมชนนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กอย่างเป็นระบบ บูรณาการในการทำงานร่วมกับภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมเพื่อลดการซ้ำเติมเด็กทั้งสองครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
และ3. ขอให้กรมจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเด็ก ที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิเด็ก และขอเรียกร้องให้สื่อทุกสำนักตระหนักถึงและเคารพสิทธิของเด็ก ในการนำเสนอข่าวเพื่อป้องกันมิให้เด็กถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิ เพื่อร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้เด็ก
สำหรับพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา22 ระบุว่า การปฏิบัติต่อเด็กไม่ว่ากรณีใด ให้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญและไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม มาตรา26 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการ เจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก มาตรา27 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดย เจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นโดยมิชอบมาตรา40 เด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพได้แก่ (3) เด็กที่อยู่ในสภาพที่จำต้องได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามที่กำหนดในกฎกระทรวง