“ธนาคารชุมชนบ้านเหล่าดู่” ไม่กู้แบงค์พาณิชย์-ไม่รอเงินประชานิยม
บ้านเหล่าดู่ ต.หนองยวง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน เป็นชุมชนต้นแบบกลุ่มออมทรัพย์ที่พัฒนาเป็นธนาคารชุมชน เป็นฐานรากพัฒนาเศรษฐกิจพึ่งตนเองของชาวบ้านอย่างมั่นคง โดยไม่ต้องพึ่งพึงเงินภายนอก
อดออมไม่อดอยาก จะอดยากหากไม่อดออม
บ้านเหล่าดู่ หมู่ 1 ต.หนองยวง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ส่วนมากมีเชื้อสายไทยอง มี 830 คน 275 ครัวเรือน พวกเขาร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นปี 2529 จากการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชน ใช้ชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเหล่าดู่” เริ่มกำหนดให้สมาชิกออมเงินรายเดือน ตั้งแต่ 5-100 บาท มีสมาชิกเริ่มแรก 142 คน เงินออมรวมกันเดือนแรก 1,274 บาท ต่อมาขยายวงเงินออมเป็นคนละ 10-200 บาทต่อเดือน
เศก จันทร์แลง ประธานกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ กล่าวว่าเมื่อมีเงินมากขึ้นจึงให้สมาชิกกู้ยืมเงินไปหมุนเวียนดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน กู้ได้ไม่เกิน 2 เท่าของเงินออมที่ตนมีอยู่ในส่วนของจัดสรรผลกำไร และจัดสรรผลกำไรแต่ละปีเข้ากองทุน 10% ปันผลให้สมาชิกคนละ 7% กองทุนพัฒนาหมู่บ้าน 3% กองทุนการศึกษา/สวัสดิการกรรมการ 6% คืนให้สมาชิกที่เสียดอกเบี้ย 4% ค่าบริหารจัดการ/ตอบแทนกรรมการ 20 % ที่เหลือเป็นทุนสำรอง โดยปลายปี 2544 มีสมาชิก 492 ราย เงินออมรวม 2.5 ล้านบาท
หนุนช่วยร้านค้าชุมชน-ธนาคารข้าว-กลุ่มสตรี
“สัจจะก่อให้เกิดทุน ช่วยเกื้อหนุนทุนทำกิน” เมื่อกลุ่มออมทรัพย์การผลิตบ้านเหล่าดู่เติบโตขึ้น ได้มีบทบาทหนุนช่วยกลุ่มต่างๆในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เช่น ศูนย์สาธิตการตลาด กลุ่มสตรี ธนาคารข้าว ฯลฯ
ศรีวรรณ จันทราทิพย์ เลขานุการกลุ่มออมทรัพย์ฯ เล่าว่าปี 2535 หลังจากที่ศูนย์สาธิตการตลาดที่จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2527 ขาดสภาพคล่องทางการเงิน คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ฯ จึงมีมติให้นำเงินไปถือหุ้นเพื่อช่วยพยุงกิจการศูนย์สาธิตฯ 70,000 บาท ทำให้กิจการดีขึ้นเป็นลำดับ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 294 ราย มีกองทุนประมาณ 160,000 บาท มียอดขายสิ้นปี 2553 ราว 1,031,953 บาท กำไรราว 57,000 บาท
ปี 2538 กลุ่มออมทรัพย์ฯ ได้เข้าไปช่วยจัดตั้ง “ยุ้งฉาง ธนาคารข้าว บ้านเหล่าดู่” จนปัจจุบันมีข้าวเปลือกสำรองทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวประมาณ 3,530 กิโลกรัม เงินสำรอง 60,000 บาทเศษ โดยจะเปิดให้ชาวบ้านยืมข้าวในช่วงฤดูทำนา ซึ่งปี 2553 ที่ผ่านมา มีสมาชิกกู้ยืมข้าว 25 ราย และยังแจกข้าวให้คนที่ด้อยโอกาสในชุมชนมีข้าวกิน 10 รายร่วม 200 กิโลกรัม
การช่วยพัฒนา“กลุ่มพัฒนาสตรี” ซึ่งจัดตั้งในปี 2537 ส่งเสริมให้แม่บ้านมีอาชีพเสริม เช่น อบลำไย แปรรูปลำไย ทำน้ำผลไม้ ผลิตข้าวกล้อง โดยนำเงินจากกลุ่มออมทรัพย์ฯให้กลุ่มสตรีกู้ยืมประมาณ 100,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 228 ราย ทุนหมุนเวียนประมาณ 110,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มต่างๆ ในชุมชนเป็นสมาชิกเครือข่ายกลุ่มออมทรัพย์ฯ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กองทุนผู้ใช้น้ำประปา กองทุนพัฒนาบ้านเหล่าดู่ กองทุนช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในยามยาก โดยกลุ่มต่างๆเหล่านี้จะนำเงินจากกองทุนของตนมาฝากรายเดือน และหากต้องการกู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนจากกลุ่มออมทรัพย์ฯ ก็ทำได้ โดยต้องมีโครงการมานำเสนอ มีคณะกรรมการของกองทุนนั้นๆเป็นผู้กู้และค้ำประกัน
เมื่อมีอาหารกินเยอะ.. จึงแบ่งปัน ด้วยการจัดสวัสดิการให้สมาชิก
หลังจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเหล่าดู่ดำเนินมาได้ 15 ปี ในปี 2544 สมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 492 ราย เงินออมรวมกันประมาณ 2.5ล้านบาท กำไรสะสมเกือบ 900,000 บาท คณะกรรมการ จึงมีมติให้นำผลกำไรร้อยละ 8 ในแต่ละปีมาจัดเป็นสวัสดิการสมาชิก
“เหมือนเรามีอาหารกินเยอะๆ ทำไมเราจึงไม่แบ่งปันกัน” เศก จันทร์แลง เล่าว่าคณะกรรมการและสมาชิกตกลงกันจัดตั้ง “กองทุนช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในยามยาก” โดยนำผลกำไรจากกลุ่มออมทรัพย์ 8% ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มาเป็นกองทุนฯ และเริ่มจัดสวัสดิการให้สมาชิกตั้งแต่มกราคม 2546 เป็นต้นมา
1.สมาชิกหรือคนในครอบครัว ประสบอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล มีสิทธิกู้เงินกองทุนนี้ได้ไม่เกิน 3,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ยและให้ชำระคืนกองทุนภายใน 3 เดือน 2.สมาชิกประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ต้องนอนรักษาตัวในโรงพบาบาล กองทุนจะช่วยคืนละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 4 คืน ภายใน 1 ปี จะจ่ายให้สมาชิกที่เจ็บป่วยไม่เกิน 3 ครั้ง สมาชิกที่คลอดบุตรจะได้รับเงินขวัญถุง 500 บาท
3.สมาชิกคนใดถึงแก่กรรม หากมีหนี้สินกับกลุ่มออมทรัพย์ฯ กองทุนจะช่วยชำระหนี้ให้ 3,000 บาท และถ้าหากไม่มีหนี้สิน จะช่วยทำบุญ 3,000 บาท 4.กองทุนจะจ่ายเป็นทุนการศึกษาประจำทุกปีสำหรับสมาชิกที่เป็นเด็กอายุตั้งแต่ 5-15 ปี 12 ทุนๆ ละ 300 บาท อายุตั้งแต่ 16 ปี จนศึกษาถึงขั้นปริญญาตรี 5 ทุนๆละ 400 บาท จะแจกทุนโดยจับฉลากและจ่ายเป็นทุนการศึกษาให้บุตรหลานหรือสมาชิกที่กำลังเรียนอยู่ตั้งแต่ชั้นมัธยมขึ้นไปที่ตั้งใจเรียนแต่ยากจนและกำพร้าอีก 2 ทุนๆละ 500 บาท
ในปี 2553 ที่ผ่านมา กองทุนช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกในยามยาก ได้จัดสรรเงินจากกลุ่มออมทรัพย์ฯ รวมดอกเบี้ย และยอดเงินคงเหลือ 68,887 บาท ช่วยด้านทุนการศึกษา 27 ราย ชำระหนี้ให้สมาชิกที่เสียชีวิต 1 ราย ช่วยทำบุญให้สมาชิกที่เสียชีวิต 3 ราย ช่วยสมาชิกที่รักษาตัวในโรงพยาบาล 78 ราย รวมเป็นเงิน 51,800 บาท และยังมีเงินกองทุนฯ ที่สำรองเอาไว้อีกรวม 117,087 บาท
ยกระดับเป็นธนาคารออมทรัพย์ ไม่รับเงินคนรวย มกราคม 2550 กลุ่มออมทรัพย์ฯ ดำเนินการมาครบ 20 ปี ยกระดับป็น “ธนาคารออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเหล่าดู่” จากการสนับสนุนของธนาคารออมสิน สาขาอ.ป่าซาง จ.ลำพูน และกรมการพัฒนาชุมชน ทำหน้าที่รับฝากเงินและปล่อยให้สมาชิกกู้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป มีสมาชิกทั้งในหมู่บ้านและนอกหมู่บ้านมาฝากเงินเพิ่มมากขึ้น โดยธนาคารออมทรัพย์ฯบ้านเหล่าดู่ เปิดรับเงินฝากประจำ ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อปี ฝากเผื่อเรียกให้ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อปี สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ที่ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 75 สตางค์
ปัจจุบันธนาคารออมทรัพย์ฯ เปิดทำการทุกวันที่ 29 และวันที่ 1 ของแต่ละเดือน เพื่อให้สมาชิกฝากเงินออม-กู้ยืม-ชำระเงิน และเปิดรับฝากเงินทั้งฝากประจำและเผื่อเรียกทุกๆ วันศุกร์ เศก จันทร์แลง ประธานธนาคารออมทรัพย์บ้านเหล่าดู่ ระบุว่าธนาคารมีบริการเงินกู้หลายประเภทได้แก่
การกู้เงินพิเศษ คือกู้ไปค้าขายได้ตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันและอยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ กู้เพื่อชำระหนี้ ซึ่งผู้กู้ต้องแสดงใบแจ้งหนี้หรือสัญญาการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่เป็นหนี้ ระยะกู้เวลาไม่เกิน 1 เดือน หากกู้ไม่เกิน 10 วันคิดดอกเบี้ยร้อยละ 50 สตางค์ กู้เกิน 10 วันแต่ไม่เกิน 1 เดือนดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท กู้เพื่อรักษาพยาบาล ซึ่งกู้ได้ตั้งแต่ 1,000-10,000 บาท ระยะเวลากู้ไม่เกิน 1 ปี กู้เกิน 1 เดือนขึ้นไปคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาท
กู้เพื่อวิสาหกิจชุมชน จะต้องมีโครงการมานำเสนอคณะกรรมการ มีคณะกรรมการวิสาหกิจนั้นๆเป็นผู้กู้และค้ำประกัน วงเงินให้กู้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการธนาคารออมทรัพย์ ดอกเบี้ยร้อยละ 8 บาทต่อปี การซื้อสิ่งของด้วยเงินเชื่อ ซื้อปุ๋ยด้วยเงินเชื่อได้ไม่เกิน 10 ถุง ซื้อสารเร่งดอกลำไยได้ไม่เกิน 2 ถัง ชำระคืนตามระยะเวลาของอายุพืชแต่ละชนิดที่สมาชิกได้ลงทุนไป พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 1.2 %
ตุลาคม 2554 ธนาคารออมทรัพย์ฯ บ้านเหล่าดู่มีสมาชิกทั้งหมด 790 ราย ทุนหมุนเวียนประมาณ 10,800,000 บาท ผลกำไรปี 2553 จำนวน 735,175 บาท ผลกำไรได้นำมาจัดสรรเป็นเงินปันผลสมาชิก 7% ของเงินออม รวม 354,915 บาท สมทบเข้ากองทุนช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก 8% จำนวน 58,814 บาท สมทบกองทุนการศึกษาและสวัสดิการกรรมการ 6% จำนวน 44,110 บาท สมทบเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้าน 3% จำนวน 22,055 บาท ซึ่งที่ผ่านมาได้นำเงินไปซ่อมแซมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น อุดหนุนกีฬาเยาวชน การอบรมต้านยาเสพติด งานวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน
“ตอนนี้ธนาคารออมทรัพย์และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม่ต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินข้างนอกแล้ว เรามีธนาคารเป็นของตัวเอง เกิดจากการระดมทุนภายในชุมชน มีสวัสดิการของตัวเอง มีงบพัฒนาเอง เวลาจะซ่อมแซมไฟฟ้า สาธารณูปโภคในชุมชน ก็ใช้เงินเหล่านี้ ไม่ต้องรอเงินช่วยเหลือจาก อบต.หรือเทศบาล ตอนนี้คนที่มีเงินก็อยากจะเอาเงินมาฝากที่ธนาคารของเราครั้งละเป็นหมื่นๆ บาท เพราะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อปี แต่เราก็จะไม่รับฝากครั้งละมากๆ เราจะเปิดรับเงินฝากตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกินคนละ 200 บาทต่อเดือนเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือคนจน”
ประธานธนาคารออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเหล่าดู่กล่าว และทิ้งท้ายด้วยด้วยคติเตือนใจที่ตัวเองเป็นผู้ประพันธ์ว่า…
“เศรษฐกิจ พอเพียง คือเสียงตรัส
คำ ดำรัส ในหลวงรับสั่ง ฟังกันไหม
จงรวมกลุ่มฯ เก็บเงินออม พร้อมเพรียงไป
ลูกหลานไทย จะอยู่สุข ทุกครัวเรือน” .