ผ่าปมร้อน! กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่ เช็คตำแหน่ง ‘บิ๊ก'หน่วยงานรัฐต้อง‘เปิดเผย’ทรัพย์สิน
ผ่าประเด็นร้อน! กฎหมาย-ประกาศ ป.ป.ช. กำหนดผู้ ‘ยื่น-เปิดเผย’ บัญชีทรัพย์สินฉบับใหม่ ตาม ม.102-106 ‘บิ๊กเหล่าทัพ-องค์กรอิสระ-หน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ-องค์การมหาชน-บอร์ดกองทุน’ พรึบ ก่อนทำ ‘สปสช.-บิ๊กมหาวิทยาลัย’ ค้านหัวชนฝา
กลายเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาในแวดวง สาธารณสุข-บิ๊กมหาวิทยาลัย ทันที!
ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกประกาศกำหนดตำแหน่งผู้ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เบื้องต้นอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากที่ดำรงตำแหน่ง นายกสภา-กรรมการสภา-อธิการบดี ค้านหัวชนฝา และเตรียมลาออกเพื่อ ‘ชิ่ง’ การยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว เช่นเดียวกับแวดวงสาธารณสุข โดยกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีอย่างน้อย 4 ราย ยื่นขอลาออกจากตำแหน่งแล้ว
อย่างไรก็ดีประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดแค่แวดวงสาธารณสุข-บิ๊กมหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ต้อง ‘ยื่น-เปิดเผย’ บัญชีทรัพย์สิน แต่ยังครอบคลุม ‘ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง’ ทั้งหมด เป็นไปตามมาตรา 102 ประกอบมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ต้อง ‘ยื่น-เปิดเผย’ บัญชีทรัพย์สิน
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุป พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ในส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินและประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการกำหนดตำแหน่งผู้ต้องยื่นและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินให้ทราบ ดังนี้
เบื้องต้นต้องเข้าใจหลักการสำคัญก่อน ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า “ผู้ดํารงตําแหน่งระดับสูง” หมายความว่า ผู้ดํารงตําแหน่งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรมหรือส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งมิใช่ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองสําหรับข้าราชการพลเรือน และปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพสําหรับข้าราชการทหาร และ ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และให้หมายความรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รวมถึงผูว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ผู้ดํารงตําแหน่งอื่น ตามที่กฎหมายกําหนด หรือผู้ซึ่งดํารงตําแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
เมื่อเข้าใจหลักการสำคัญแล้ว ค่อยเลื่อนไปอ่าน มาตรา 102 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องกำหนดตำแหน่งผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 28 (3) แบ่งเป็น 9 ข้อ ได้แก่ (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (3) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (4) ข้าราชการตุลาการตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษาขึ้นไป (5) ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นขึ้นไป (6) ข้าราชการอัยการตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง (8) ตำแหน่งอื่นที่กฎหมายอื่นกำหนดให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน (9) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
ส่วนมาตรา 106 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 102 (1) เฉพาะนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และบุคคลตามมาตรา 102 (2) (3) (7) และ (9) รวมทั้งของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป
ประเด็นสำคัญที่อยู่ระหว่างถกเถียงกันตอนนี้ อยู่ใน (2) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (3) ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และ (9) ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น
ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งผู้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉบับเดิม กำหนดแค่เพียงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. เท่านั้นที่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
แต่ในกฎหมาย-ประกาศฉบับใหม่ เพิ่มเติมตำแหน่งตาม (2) (3) (7) และ (9) เข้ามา จากเดิมแค่ยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างเดียว ไม่ต้องเปิดเผย แต่คราวนี้ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย
โดยเฉพาะใน (7) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ครอบคลุมหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ-องค์กรอิสระ เกือบทั้งประเทศ ที่จากเดิมแค่ ‘ยื่น’ แต่ตอนนี้ต้อง ‘เปิดเผย’ บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน สรุปพอสังเขปได้ ดังนี้
@ข้าราชการพลเรือน
-หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม –หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล –ผู้ว่าราชการจังหวัด -ปลัดกรุงเทพมหานคร
@ข้าราชการทหาร-ตำรวจ
-ปลัดกระทรวงกลาโหม –ผู้บัญชาการทหารสูงสุด –ผู้บัญชาการเหล่าทัพ-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
@รัฐวิสาหกิจ
-กรรมการและผู้บริหารสูสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
@หัวหน้าหน่วยงานองค์กรอิสระ
-เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง –เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน –เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ –เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
@กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานรัฐอื่น
-ประธานกรรมการ -รองประธานกรรมการ –กรรมการ –เลขาธิการ –ผู้จัดการกองทุนต่าง ๆ 10 แห่ง ได้แก่ กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กองทุนพื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนยุติธรรม กองทุนสงเคราะห์ กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
@ธนาคารแห่งประเทศไทย
-ประธานกรรมการ –รองประธานกรรมการ –กรรมการ –ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
@สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ประธานกรรมการ –กรรมการ –เลขาธิการ
@สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกอบธุรกิจประกันภัย
-ประธานกรรมการ –กรรมการ –เลขาธิการ
@สถาบันคุ้มครองเงินฝาก
-ประธานกรรมการ –กรรมการ –ผู้อำนวยการ
@สถาบันพระปกเกล้า
-ประธานสภา –รองประธานสภา –กรรมการสภา –เลขาธิการ
@สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ-สังกัดของรัฐ
-นายกสภา –กรรมการสภา –อธิการบดี รวม 40 แห่ง
@องค์การมหาชน
-ประธานกรรมการ –รองประธานกรรมการ –กรรมการ –ผู้อำนวยการ กองทุนต่าง ๆ รวม 55 แห่ง เช่น กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ คุรุสภา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
@ตำแหน่งอื่นที่กฎหายกำหนดให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง
-ประธานกรรมการ –กรรมการ –เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
-ประธานกรรมการนโยบาย –กรรมการนโยบาย –กรรมการบริหาร –ผู้อำนวยการ –รองผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
-ประธานกรรมการ –กรรมการ –เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
@ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีหรือตำแหน่งที่มีชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเป็นอธิบดี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของส่วนราชการที่ไม่มีฐานะเป็นกรม ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
@ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
-เลขาธิการ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา
(อ่านประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฉบับเต็ม คลิกที่นี่)
นี่คือตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยสังเขปที่จากเดิมแค่ ‘ยื่น’ แต่ตามกฎหมายใหม่ต้อง ‘ยื่น-เปิดเผย’ บัญชีทรัพย์สินให้สาธารณชนทราบด้วย ท่ามกลางเสียงค้านหัวชนฝาที่เริ่มดังมาจากฝ่ายสาธารณสุข-บิ๊กมหาวิทยาลัย
ความคืบหน้ากรณีนี้ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะหยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาหารือในที่ประชุมว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป นอกจากนี้เตรียมนำเสนอปัญหาดังกล่าวแก่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลด้วย
ท้ายที่สุดปัญหานี้จะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : เพื่อความโปร่งใส! ปธ.ป.ป.ช.ลั่น‘บิ๊กมหาวิทยาลัย’ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน