มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติเรื่องร้องเรียนอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ พุ่ง 1,335 ราย
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยสถิติเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่เดือนมกราคม - กันยายน 2561 พบอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีผู้ร้องเรียนมากสุด 1,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 41.14 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด รองลงมาคือ บริการสาธารณะ และบริการสุขภาพและสาธารณสุข
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่เดือน มกราคม - กันยายน 2561 โดย มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน จำนวน 3,245 เรื่อง
เรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีผู้ร้องเรียน 1,335 ราย คิดเป็นร้อยละ 41.14 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด รองลงมาคือ บริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 529 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.30 และอันดับที่สาม บริการสุขภาพและสาธารณสุข มีผู้ร้องเรียน 460 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.18
เมื่อแยกย่อยลงไปในแต่ละหมวดจะพบว่า ปัญหาสามอันดับแรกของหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (1,335 ราย) คือ เรื่องเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ 258 ราย อาหารไม่บริสุทธิ์ 249 และการขายยาโดยไม่มีเภสัชกรปฏิบัติการ 177 ราย ตามลำดับ
ส่วนหมวดบริการสาธารณะ (529 ราย) ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการขนส่งทางบก โดยประเภทของรถที่ได้รับการร้องเรียนค่อนข้างมากมี 4 ประเภท คือ รถทัวร์โดยสาร 199 ราย รถรับส่งนักเรียน 109 ราย รถตู้โดยสาร 77 ราย และรถเมล์/รถโดยสารระหว่างจังหวัด 69 รายตามลำดับ โดยกรณีของรถทัวร์และรถตู้โดยสาร เป็นเรื่อง การเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายจากอุบัติเหตุ ส่วนรถรับส่งนักเรียน จะได้รับร้องเรียนเรื่องการใช้รถผิดประเภท ขณะที่รถเมล์/รถโดยสารระหว่างจังหวัด เป็นปัญหาบรรทุกเกินที่นั่ง
สำหรับ หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข (460 ราย) นั้น ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นการปรึกษา เรื่องการย้าย/ สอบถามสิทธิ สิทธิประโยชน์ต่างๆ 396 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่รู้สิทธิต่างๆ ของตัวเองเท่าที่ควร และกลุ่มผู้บริโภคที่ประสบปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข คือ ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง เพราะนอกจากปัญหาการไม่รู้สิทธิแล้ว สิทธิบัตรทองยังเป็นกลุ่มที่มีการร้องเรียนในด้านต่างๆ เข้ามามากที่สุด เช่น ไม่ได้รับความสะดวกตามสมควร/ไม่ได้รับการปฏิบัติตามสิทธิ ได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล และถูกเรียกเก็บเงินจากการใช้สิทธิกองทุนฉุกเฉิน เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้าไปให้คำแนะนำและให้ความรู้แก่ผู้บริโภคอย่างทั่วถึง รวมทั้งให้บริการแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียม