ปี62 กองทุนบัตรทอง บริการวัณโรคต่อเนื่อง มุ่งลดผู้ป่วย ลดเสียชีวิต
บอร์ด สปสช.จัดสรรงบกองทุนบัตรทอง ปี 62 กว่า 611 ล้านบาท บริการผู้ป่วยวัณโรคต่อเนื่อง พร้อมปรับหลักเกณฑ์เพิ่มประสิทธิภาพ รุกคัดกรอง วินิจฉัย รักษา และกำกับติดตามผู้ป่วยกินยาจนหายขาด ทั้งครอบคลุมผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ ระบุหนุนเสริม “แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติฯ” มุ่งเป้าลดจำนวนผู้ป่วย เสียชีวิต ยุติการแพร่ระบาดวัณโรคในประเทศไทย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า วัณโรคนับเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยในปี 2558 ไทยติดอันดับ 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก จากการจัดอันดับโดยองค์การอนามัยโลก มีการคาดการณ์ว่าแต่ละปีมีอัตราผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 120,000 ราย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.3 เท่า และมีผู้เสียชีวิตถึงประมาณปีละ 12,000 ราย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของวัณโรคที่เกิดขึ้น ประเทศไทยได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564” และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน จากการสนับสนุนงบประมาณโดยรัฐบาล ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดบริการผู้ป่วยวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายนอกจากมุ่งให้การรักษาและลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคแล้ว ยังสนับสนุนดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติฯ โดยในปี 2562 บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 611.78 ล้านบาท เพื่อดำเนินการครอบคลุมทั้งการรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงในเด็ก ครอบคลุมค่ายา ค่าบริการตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามการรักษา ทั้งการชันสูตรวินิจฉัยพื้นฐานและวัณโรคดื้อยา การติดตามดูแลการรักษาต่อเนื่อง การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคและค่าบริการดูแลรักษาและติดตามผู้ป่วย
ทั้งนี้ในปี 2562 นี้ เพื่อให้การดำเนินการรักษาและติดตามผู้ป่วยวัณโรค รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บอร์ด สปสช.ได้ปรับวิธีบริหารจัดการงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2561 โดยในส่วนบริการกำกับการกินยา (DOT) จากเดิมเป็นการจ่ายตามผลงานบริการ ให้ปรับเป็นการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพตัวชี้วัด ได้แก่ อัตราผลสำเร็จการรักษา และอัตราการขาดการรักษา ขณะที่ในส่วนการบริหารงบประมาณระดับเขต ทั้งในส่วนบริการกำกับการกินยา, บริการค้นหาผู้ป่วยวัณโรค และบริการคัดกรองหาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ ให้พิจารณาเห็นชอบโดยอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) / คณะทำงานวิชาการด้านเอดส์ วัณโรคระดับเขต ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานด้านป้องกันและควบคุมวัณโรคในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันเป็นไปอย่างเหมาะสม
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการักษาที่มุ่งติดตามผู้ป่วยกินยาและรับการรักษาต่อเนื่องแล้ว การค้นหาผู้ป่วยวัณโรคยังเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันและควบคุมวัณโรคซึ่ง สปสช.ให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาได้กำหนดสิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มบุคคลที่มีอาการสงสัยวัณโรคและกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่บริการคัดกรองโดยซักประวัติและสอบถามอาการ บริการตรวจวินิจฉัยด้วยการถ่ายภาพรังสีทรวงอก (เอกซเรย์) บริการตรวจเสมหะด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการให้ความรู้เกี่ยวกับวัณโรคและกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งบริการค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยวัณโรคนี้ยังครอบคลุมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำและเพิ่มเติมโดยกำหนดให้ผู้ต้องขังรายใหม่ทุกรายควรได้รับการตรวจวินิจฉัยวัณโรคด้วยการเอกซเรย์ปอด นอกจากเพื่อนำผู้ป่วยวัณโรคเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้ว ยังป้องกันการแพร่ระบาดวัณโรคในเรือนจำ
“วัณโรคเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ นำมาซึ่งความสูญเสียนอกจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปีแล้ว ยังสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดภาวะเชื้อดื้อยา นำมาสู่ภาระงบประมาณค่ารักษาในอนาคต โดย สปสช. พร้อมร่วมมือและสนับสนุนเพื่อยุติวัณโรค สู่เป้าหมายลดตาย ลดโรค ลดล้มละลายทางการเงินของครอบครัวและประเทศไทย” เลขาธิการ สปสช.กล่าว