โรคหัดระบาดลามนราธิวาส กับข้อมูล"หัด"ที่หลายคนยังไม่รู้
"ลูกเริ่มจากอาการหืดหอบ ก็พาไปโรงพยาบาลยะรัง ให้หมอตรวจต่อเนื่อง หลังจากนั้นก็กลับมารักษาที่บ้าน และไป-กลับโรงพยาบาลทุกวัน ประมาณ 8 วัน ปรากฏว่าลูกตัวร้อน ไม่สบาย และมีผื่น พอไปโรงพยาบาลอีกก็พบว่า เป็นโรคหัด"
"หลังจากนั้นก็มีอาการแทรกซ้อนด้วยโรคปอดบวมและหอบ ทางโรงพยาบาลยะรังจึงได้กักตัวไว้และทำการรักษา หมอวินิจฉัยว่าเป็นหัด ให้พักอยู่ในโรงพยาบาล หมอจะทำการรักษาด้วยการสวนสายยาง พร้อมจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลปัตตานี แต่เราขอรักษาที่นี่ เพราะคิดว่าไม่น่ามีอะไร แต่สุดท้ายลูกเสียชีวิตที่โรงพยาบาลยะรัง"
นี่คือคำบอกเล่าที่เต็มไปด้วยความเสียใจของ ฟาอีซะห์ มะเละ ชาวบ้าน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี แม่ของ ด.ช.มูฮำหมัดตอฮา มะโระ อายุเพียง 1 ขวบ ที่ต้องเสียชีวิตด้วยโรคหัดเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา
ฟาอีซะห์ เป็นเพียง 1 ใน 12 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียบุตรหลานไปจากโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้ โดยเมื่อช่วงเดือน ก.ย.ต่อเนื่องถึงต้นเดือน ต.ค. โรคหัดระบาดหนักเฉพาะใน จ.ยะลา ก่อนจะเริ่มลามมาปัตตานี มีเด็กเสียชีวิตที่ยะลา 10 คน ปัตตานีอีก 2 คน
ล่าสุดปลายเดือน ต.ค.ต่อเนื่องถึงเดือน พ.ย. โรคหัดกำลังระบาดเข้านราธิวาส พื้นที่การระบาดรวมแล้ว 7 อำเภอจาก 13 อำเภอ คือ อ.รือเสาะ อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.สุคิริน อ.เมือง อ.จะแนะ และ อ.เจาะไอร้อง โดย อ.รือเสาะ วิกฤติที่สุด รองลงมาคือ อ.เมือง ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ย.มีผู้ป่วยแล้ว 79 ราย เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยกำลังระดมกันฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ ในพื้นที่เสี่ยง
อัตราการรับวัคซีนที่ต่ำมากของเด็กๆ ที่ชายแดนใต้ กลายเป็นสาเหตุให้เด็กๆ ไม่มีภูมิคุ้มกัน ปัญหามีทั้งความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่าวัคซีนโรคหัดมีส่วนประกอบของหมู ซึ่งประเด็นนี้ทั้งแพทย์และผู้นำศาสนาออกมายืนยันแล้วว่าไม่จริง แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือฐานะและสภาพครอบครัวของพี่น้องที่ปลายด้ามขวาน บางคนยากจน มีลูกมาก และอยู่ห่างไกลศูนย์บริการสาธารณสุข จึงละเลยที่จะพาบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามที่แพทย์สั่งตั้งแต่ลืมตาดูโลก
นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ให้ข้อมูลว่า จากการตรวจสอบประวัติสาธารณสุขของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัดทั้ง 10 รายของยะลา พบว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่เคยได้รับวัคซีนโรคหัดเลย และบางรายก็ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน บางรายอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ก็เป็นโรคหัดจนต้องเสียชีวิตในที่สุด
นี่คือข้อมูลสำคัญทางการแพทย์ที่สะท้อนถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริง...
ขณะที่ นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ทำความเข้าใจเพิ่มเติมว่า การฉีดวัคซีนนั้น หรือเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ต้องรอ 2 สัปดาห์จึงจะได้ผล หมายถึงมีภูมิต้านทาน ฉะนั้นหากใครหรือผู้ป่วยรายใดที่เพิ่งรับวัคซีนไป ช่วงสัปดาห์แรกจะยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ แต่ นพ.สงกรานต์ ยืนยันว่า อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อใหม่ละจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง หากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้
พื้นที่ 8 อำเภอของยะลา กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องปูพรมฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ ที่ อ.เบตง เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) ลงทุนแต่งชุดตัวการ์ตูนและซุปเปอร์ฮีโร่ เพื่อดึงดูดให้เด็กๆ ไม่กลัวการฉีดวัคซีน โดยเป็นหนึ่งในกิจกรรมรณรงค์ "ประชารัฐร่วมใจ ขจัดภัยโรคหัด เคาะประตูสู้หัด เร่งรัดฉีดวัคซีน 100%"
สถานการณ์การระบาดล่าสุดของยะลา พบผู้ป่วย 859 ราย สูงสุดที่ อ.ยะหา 204 ราย รองลงมาคือ อ.บันนังสตา 150 ราย อ.กาบัง 129 ราย อ.ธารโต 99 ราย อ.เมืองยะลา 96 ราย อ.กรงปินัง 92 ราย อ.รามัน 71 ราย และ อ.เบตง 18 ราย มีผู้เสียชีวิต 10 ราย แยกเป็น อ.กรงปีนัง 5 ราย อ.บันนังสตา 2 ราย อ.ธารโต 2 ราย อ.กาบัง 1 ราย
ส่วนที่ปัตตานี มีผู้ติดเชื้อ 314 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 2 ราย น.พ.ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี ใช้วิธีการคล้ายๆ กับที่เบตง คือปฏิบัติการเชิงรุก เคาะประตูบ้านให้เด็กๆ ได้รับวัคซีน
"เราใช้วิธีควบคุมการระบาด ด้วยมาตรการ 3 : 2 : 3 คือ เมื่อพบผู้ป่วย ให้รายงานทีมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง จากนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคลงไปสอบสวนโรคเพื่อหาผู้สัมผัสโรคภายใน 2 วัน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ติดตามฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน"
ข้อมูลสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้รับผิดชอบในสายงานสาธารณสุขกำลังสื่อสารทำความเข้าใจ ก็คือ เชื้อหัดจะติดต่อสู่บุคคลอื่น ช่วงก่อนปรากฏอาการ 5 วัน และหลังปรากฏอาการแล้วอีก 5 วัน จุดนี้ทำให้สังเกตยากมาก โรงพยาบาลต่างๆ จึงต้องวางมาตรการตั้งแต่รับผู้ป่วยนอกเข้ามา หากใครที่เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อหวัด ต้องแยกจุดตรวจให้ชัดเจน ไม่ให้ปะปนกับคนอื่น หลายโรงพยาบาลต้องแยกไปอยู่ในห้องคัดกรอง โดยให้นั่งรถยนต์ที่ปิดมิดชิด ไปส่งถึงหน้าห้องคดัดแยก เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น เนื่่องจากผู้ป่วยโรคหัด 1 คน สามารถแพร่เชื้อได้ 18 คน
ขณะที่ ไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ออกมาสยบข่าวลือที่ว่าวัคซีนโรคหัดไม่เพียงพอ
"โรคหัดมีวัคซีนป้องกันได้ 100% และจริงๆ แล้วเป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิต ส่วนผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากมีอาการอื่นแทรกซ้อน ทางจังหวัดได้จัดเตรียมวัคซีนเอาไว้เพียงพอต่อเป้าหมาย แต่อายุเวลาการใช้งานของวัคซีนต้องมีการสำรวจเป็นระยะ เนื่องจากอายุการใช้งานมีจำกัด ฉะนั้นการเตรียมผู้ป่วยหรือเตรียมคนที่จะซีดวัคซีนเพื่อป้องกัน จะต้องสอดคล้องกับการเบิกจ่ายวัคซีนเพื่อไม่ให้หมดอายุ" ผู้ว่าฯปัตตานี กล่าว
นิมุ มะกาเจ ราษฎรอาวุโส จ.ยะลา และผู้นำศาสนาชื่อดัง กล่าวว่า การฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ไม่ใช่แค่สิทธิ์ส่วนบุคคล แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องทำเพื่อส่วนรวม
"เพราะถ้าคุณเป็นโรคขึ้นมา โรคจากตัวคุณอาจติดต่อลุกลามไปยังคนอื่นในสังคม ทำให้เดือดร้อนกันไปทั่วได้ การอ้างสิทธิ์ส่วนตัวแต่อาจทำให้สังคมเดือดร้อนถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม" นิมุ ย้ำ และว่า "หากสิทธิ์ส่วนตัวเป็นใหญ่เหนือสิทธิ์ส่วนรวม นบีคงไม่ห้ามบุคคลเข้าไปในเขตที่เกิดโรคระบาด และห้ามคนในเขตโรคระบาดออกนอกพื้นที่ด้วย เพราะการเข้าออกพื้นที่ใดเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลอยู่แล้ว แต่การห้ามก็เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของโรค และยังเป็นการป้องกันตัวของปัจเจกบุคคลเองด้วย ฉะนั้นจึงไม่ควรอ้างสิทธิ์ส่วนบุคคลไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน และไม่ควรอ้างศาสนาจนทำให้ร่างกายตนเองเผชิญโรคภัย"
สถานการณ์การระบาดของโรคหัดที่ยังไม่ยุติ เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้เดินหน้าขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาโรคหัดระบาดอย่างเป็นระบบ พร้อมสนับสนุนและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อให้ช่วยกันสกัดกันระบาดของโรคให้ได้โดยเร็ว
---------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"โรดหัด"ระบาดลามปัตตานี ยอดตายพุ่ง 11 ชีวิต!
รัฐติวเข้มปัญหาสุขภาวะชายแดนใต้ หลังโรดหัดระบาดใหญ่ตาย 5