แพทย์เตือนสังคมไทยเผชิญหน้ากับสึนามิสังคมสูงวัย
คณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทางเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ร่วมกับเครือข่ายและจิตอาสา เปลี่ยนทัศนคติสังคม-สานพลัง 4 ประเด็นหลัก ขณะที่แพทย์เตือนประเทศไทยเผชิญหน้าสึนามิลูกใหญ่ในระบบสุขภาพ เสนอออกกฎหมายเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการทำงาน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานสร้างสุขที่ปลายทาง เป็นความร่วมมือขององค์กรด้านสุขภาพ 11 แห่ง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา, กลุ่ม Peaceful Death, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กระทรวงสาธารณสุข, สภาการพยาบาล, หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) และสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย และภาคีเครือข่าย จัดงาน “สร้างสุขที่ปลายทาง ปีที่ 2” ระหว่างวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมเซ็นทารา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซนเตอร์ แจ้งวัฒนะ มีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง เพื่อเรียนรู้ความตายอย่างแท้จริง
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ปาฐกถา “ก้าวต่อไป: สร้างสุขที่ปลายทาง” ว่า ปัจจุบันความตายในสังคมยุค 4.0 มีความซับซ้อนจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ และมิติความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ครอบครัวและบุคลากรทางการแพทย์ นำมาซึ่งความยากลำบากในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ดังนั้น การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ความตายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขณะนี้องค์กรภาคีเครือข่ายได้ขับเคลื่อนสิทธิการตายตามธรรมชาติ หรือ ‘การตายดี’ ภายใต้มาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มากขึ้นเรื่อยๆ โดย มุ่งสานพลังสร้างสุขที่ปลายทาง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.การสร้างความรู้ความเข้าใจจนนำไปสู่ทัศนคติที่ดีและการปฏิบัติให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมร่วมมือกับองค์กรทางศาสนา ทั้งมหาเถรสมาคม สภาคริสจักรในประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรี ฯลฯ
2.ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องตายดีทั้งภาครัฐ สถาบันวิชาการ ตลอดจนจิตอาสาพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและญาติ
3.พัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทย ระบบการเข้าถึงยาแก้ปวดกลุ่ม opioids การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพและระบบสนับสนุน อาทิ ระบบการเงินการคลัง การส่งต่อผู้ป่วย และการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขของผู้ป่วยหรือ Living Will
และ 4.การพัฒนาวิชาการและการจัดการความรู้ สำหรับการส่งเสริมการใช้สิทธิการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะสุดท้ายของชีวิต รวมถึงจัดทำคำนิยามปฏิบัติการ (Operational definition) การดูแลแบบประคับประคองให้ชัดเจนในทางปฏิบัติต่อไป
ด้าน รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนา “Living Will คือการุณยฆาต จริงหรือ?” ว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อให้เกิดการตายดีไม่ใช่การหยุดรักษา แต่เปลี่ยนวิธีการรักษาที่ยื้อชีวิตมาเป็นการรักษาตามธรรมชาติและดูแลแบบประคับประคอง ให้ผู้ป่วยทรมานน้อยที่สุด ต่างจากการุณยฆาตคือการทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
“ประเด็นปัญหานี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เนื่องจากสังคมไทยจะเผชิญหน้ากับสึนามิของสังคมสูงวัย การรักษาโดยไม่เกิดประโยชน์จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ยังมีโอกาสรอด ญาติ โรงพยาบาล และทรัพยากรของประเทศชาติโดยรวม ดังนั้น รัฐบาลต้องมีกฎหมายที่เอื้อให้บุคลากรด้านสุขภาพและโรงพยาบาลทำงานให้เกิดการตายดี”
ขณะที่นพ. ชนินทร์ ลิ่มวงศ์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ทุกคนสนใจเรื่องการทำ Living Will หรือ สมุดเบาใจ เอาไว้ล่วงหน้า เพราะถือเป็นการวางแผนการรักษา หรือ Advance care plan อย่างหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการตายดี ไม่มีปัญหาในช่วงสุดท้ายของชีวิต
“สิ่งที่เราพบคือผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีแผนการรักษาที่ตนเองต้องการในช่วงวาระท้ายของชีวิต ดังนั้น Advance care plan จึงจำเป็นสำหรับคนไข้ที่จะระบุความต้องการเรื่องการรักษาพยาบาล หรือเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นในช่วงวาระท้ายของชีวิตที่ชัดเจนไว้ หรือบางคนอาจมอบให้ญาติที่ไว้วางใจเป็นผู้ตัดสินใจแทนในช่วงนั้นก็ได้”
ด้่านดร.ประมวล เพ็งจันทร์ นักปรัชญา ผู้ใช้การเดินค้นหาความหมายของชีวิต กล่าวถึงการเตรียมชีวิตอย่างเป็นสุขว่า ทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะอยู่บนโลกด้วยศรัทธาและมีความหมาย ซึ่งจะทำให้จิตใจไม่ถูกเบียดเบียนจากความกลัวตาย การแก่ เจ็บ ตาย ไม่ใช่สิ่งที่มากดทับจนเราสูญเสียความเบิกบาน แช่มชื่นของการมีชีวิตอยู่ ตรงนี้จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่สังคมไทยควรมาเรียนรู้ร่วมกันถึงปรากฎการณ์ในชีวิต และอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้