ทบ.ชี้ไม่ควรเทียบราคา ฮ. AW 139 กับ ฮ. พลเรือน ระบุขีดความสามารถ-อุปกรณ์ต่างกัน
ทบ.ชี้ไม่ควรเทียบราคา ฮ. AW 139 ที่ใช้ในราชการทหารกับ ฮ. พลเรือน ระบุขีดความสามารถ และอุปกรณ์แตกต่างกัน ยันจัดหาด้วยราคาที่เหมาะสม
กรณีที่มีบุคคลออกมากล่าวถึงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ตระกูล AW ของกองทัพบก โดยนำไปเปรียบเทียบกับเฮลิคอปเตอร์ที่ประสบอุบัติเหตุ ในประเด็นราคาของอากาศยาน นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟชบุค Army PR Center ระบุว่า พันเอกหญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก ทบ. ชี้แจงข่าวดังกล่าว โดยระบุว่า เป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจมองได้ว่าเป็นการกล่าวหากองทัพบก อีกทั้งดูเป็นการไม่น่าจะเหมาะสม ที่นำเอาเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต มาเชื่อมโยงกับการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ในข้อเท็จจริง กองทัพบกได้ดำเนินการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ AW139 และเฮลิคอปเตอร์ AW149 ตามความจำเป็นของภารกิจ ผ่านขั้นตอนและกระบวนการจัดซื้อจัดหา ตามระเบียบของทางราชการ และอากาศยานยังคงสามารถปฏิบัติภารกิจได้ตามปกติ
ขอเรียนว่า เฮลิคอปเตอร์ AW139 และ เฮลิคอปเตอร์ AW149 ของกองทัพบก ไม่สามารถนำอากาศยานทั้ง 2 ประเภท ไปเปรียบเทียบกับเฮลิคอปเตอร์ AW169 ที่ประสบอุบัติเหตุตามที่เป็นข่าวได้ โดยเฉพาะในเรื่องราคา เพราะมีองค์ประกอบของเฮลิคอปเตอร์แตกต่างกัน ทั้งด้านขนาดของอากาศยาน ขนาดเครื่องยนต์ เพดานบิน น้ำหนักบรรทุก ความเร็วในการบิน ระบบนำทาง ระบบรักษาความปลอดภัย ที่นั่งนักบิน จำนวนนักบินและผู้โดยสาร ระยะเวลาและระยะทางการบินสูงสุด อุปกรณ์เสริมอื่นๆ เป็นต้น
อีกทั้ง คุณลักษณะในการนำไปใช้งานก็แตกต่างกันเฮลิคอปเตอร์ AW139 และ AW149 ของกองทัพบก ที่กองทัพบกนำมาประจำการนั้น เพื่อใช้ในปฏิบัติการทางการทหาร (Military Type) ซึ่งมีความแตกต่างกับ AW169 ที่เป็นเฮลิคอปเตอร์ที่มีขนาดเล็กกว่ามาก และบริษัทผู้ผลิต ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคพลเรือน (Civilian Type)
ทั้งนี้ ด้วยขนาดขีดความสามารถ และอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นต่อการใช้ปฏิบัติภารกิจทางทหารแตกต่างกัน ตามที่ได้ชี้แจงในขั้นต้น ทำให้เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในภารกิจทางทหารมีราคาแตกต่างกับเฮลิคอปเตอร์ทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ในปี 2557 กองทัพบกได้จัดหาเฮลิคอปเตอร์ AW139 สำหรับภารกิจบุคคลสำคัญ โดยมีการจัดซื้อชิ้นส่วนซ่อมอุปกรณ์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นแบบ Total Package ประกอบด้วยการปรับปรุงแผนที่เดินอากาศ เครื่องมือพิเศษสำหรับซ่อมระบบใบพัด การเพิ่มระบบการบินอัตโนมัติ และหลักสูตรการอบรมนักบินและช่างเพิ่มเติม เป็นต้น
การจัดซื้อแบบ Total Package ในครั้งนี้ได้เพิ่มระยะเวลาของการสนับสนุนชิ้นส่วนซ่อมและการบำรุงรักษาจาก 2 ปี เป็น 4 ปี อีกด้วย ทำให้ราคาในการจัดซื้อในครั้งนี้แตกต่างกับการจัดซื้อที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามในการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกทุกครั้งจะรวมถึงการฝึกนักบินและช่าง ชิ้นส่วนซ่อมควบคู่ เครื่องมือซ่อมบำรุง บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์เพิ่มเติมด้วย เพื่อให้สามารถคงสภาพของอากาศยาน พร้อมปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้มีราคาการจัดซื้อแตกต่างกับการจัดซื้อเฉพาะเครื่องเปล่า
รองโฆษก ทบ. ยังระบุด้วยว่า กรณีการเปรียบเทียบราคา ด้วยการนำเอาวงเงิน งบประมาณของโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ แล้วมาหารแบ่งเป็นจำนวนลำ แล้วระบุว่าเป็นราคาของเฮลิคอปเตอร์นั้น ดูจะเป็นลักษณะข้อมูลที่หยาบเกินไป ทำให้ข้อเท็จจริงผิดจากความจริงไปมาก อีกทั้ง การนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบนั้น หากเป็นช่องทางที่เป็นไปตามกลไกการตรวจสอบของภาครัฐ กองทัพบกก็พร้อมที่จะให้ข้อเท็จจริงและขอยืนยันในกระบวนการจัดซื้อจัดหาอากาศยานที่ได้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ตามระเบียบและกฎหมาย ยึดประโยชน์สูงสุดในเรื่องความคุ้มค่าของการใช้งานเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เฟชบุค กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ให้ข้อมูล เฮลิคอปเตอร์แบบอเนกประสงค์ AW-139 ว่า ผลิตจากบริษัท ออกัสด้าเวสต์แลนด์ ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี (Agusta Westland) พัฒนาขึ้นมาถึง 4 รูปแบบการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการในการบินปฏิบัติภารกิจที่หลากหลาย ครอบคลุมการบินแบบขึ้นลงทางดิ่งที่กว้างขวาง เครื่องต้นแบบขึ้นบินทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2001 กว่า 4,000 ชั่วโมงบิน หลังจากนั้นจึงผ่านการรับรองของสมาพันธ์การบินนานาชาติ (FAA) พร้อมใบอนุญาตทำการบินในปี ค.ศ.2004 ปัจจุบันมียอดสั่งซื้อจำนวน 170 ลำ จาก 23 ประเทศ โดยที AW-139 ทั้ง 4 แบบที่ผลิตออกจำหน่ายคือ
1.รุ่นใช้งานทางกิจการของตำรวจหรือ Law Enforcement
2.รุ่นใช้งานในการบินปฏิบัติภารกิจของทหารหรือ Military Operation
3.รุ่นใช้งานส่งกลับสายการแพทย์หรือ Emergency Medical Services
4.รุ่นกู้ภัยทั้งทางบกและทางทะเลหรือบินปฏิบัติการไป-กลับแท่นขุดเจาะน้ำมัน Offshore Oil Operation ซึ่งเฮลิคอปเตอร์ AW-139 ในแต่ละแบบนั้นจะมีประสิทธิภาพ และสมรรถนะทางการบินใช้งานแตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ สมรรถนะ AW-139 มีเครื่องยนต์/กังหันใบพัด PT6C-67C จำนวน 2 เครื่องยนต์/2 คูน 1531 แรงม้า, มีพิสัยบิน 450 ไมล์ทะเล (810 กม.) และบินได้นาน 3 ชม., เพดานบิน 20,000 ฟุต, ความเร็วเดินทางสูงสุด 167 ไมล์ทะเล/ชม., ความเร็วเดินทางใช้งาน 150 ไมล์ทะเล/ชม., ชนิดเชื้อเพลิง/ความจุ JP-8/ 2,088 ลิตร, อัตราสิ้นเปลือง 650 ลิตร/ชม., น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด 6,800 กก., น้ำหนักบรรทุกสูงสุด 3,070 กก. และใช้เจ้าหน้าที่นักบิน 2 คน ช่างเครื่อง 2 คน, สามารถโดยสารสูงสุด 15 ที่นั่ง