กสทช.ชี้เน็ตชายขอบส่งมอบไม่ครบ 100% ขาด3จาก10สัญญา
กสทช. ตรวจสอบผลการส่งมอบเน็ตชายขอบ พบ 7 จาก 10 สัญญาส่งมอบงานครบถ้วน 100% พบอุปสรรคไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ติดตั้งได้
เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2561 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจรับการจ้างโครงการเน็ตชายขอบของสำนักงาน กสทช. ทั้งในส่วนของสัญญาการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) 5 สัญญา และสัญญาการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) 5 สัญญา ได้รวบรวมตรวจสอบผลการส่งมอบงานของบริษัทคู่สัญญาที่ได้ดำเนินการส่งมอบงานแล้วทั้ง 10 สัญญา ในวันครบกำหนดส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด พบ 7 จาก 10 สัญญาส่งมอบงานครบถ้วน 100%
ทั้งนี้ ไม่นับรวมพื้นที่ที่มีข้อจำกัดได้รับผลกระทบจากปัจจัย ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม มีพายุ ถนนขาด เกิดความไม่สงบในพื้นที่ พื้นที่ที่ติดตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน เขตอนุรักษ์ ฯลฯ ทำให้บริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปติดตั้งอุปกรณ์ได้ สำหรับโครงการเน็ตชายขอบของสำนักงาน กสทช. แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) และส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service)
นายฐากร กล่าวว่า โครงการส่วนที่ 1 การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แบ่งเป็น 5 สัญญาตามพื้นที่ที่จะให้บริการ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 พื้นที่ภาคเหนือ 1 ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน มีบริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น 100% กลุ่มที่ 2 พื้นที่ภาคเหนือ 2 ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี มีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น ผลงานคิดเป็น 12% กลุ่มที่ 3 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี มีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น ผลงานคิดเป็น 9%
กลุ่มที่ 4 พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี มีบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดครบถ้วน ผลงานคิดเป็น 100% กลุ่มที่ 5 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา (ในพื้นที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดครบถ้วน ผลงานคิดเป็น 100%
สำหรับ โครงการส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) แบ่งเป็นอีก 5 สัญญา กลุ่มที่ 1 พื้นที่ภาคเหนือ 1 ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน มีบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ไม่ได้มีการส่งมอบงานในสัญญานี้ กลุ่มที่ 2 พื้นที่ภาคเหนือ 2 ได้แก่ กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี มีบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดครบถ้วน ผลงานคิดเป็น 100% กลุ่มที่ 3 พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี มีบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นคู่สัญญา ผู้ให้บริการ ได้ส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดครบถ้วน ผลงานคิดเป็น 100%
กลุ่มที่ 4 พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี และอุบลราชธานี มีบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดครบถ้วน ผลงานคิดเป็น 100% และกลุ่มที่ 5 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา (ในพื้นที่อำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) มีบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมดครบถ้วน ผลงานคิดเป็น 100%
ทั้งนี้ ตัวเลขผลงานคิดเปอร์เซ็นต์ข้างต้นไม่นับรวมรวมพื้นที่ที่มีข้อจำกัดได้รับผลกระทบจากปัจจัย ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปติดตั้งอุปกรณ์ได้
ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจรับการจ้างฯ รวบรวมตรวจสอบผลการส่งมอบงานของบริษัทคู่สัญญาที่ได้ดำเนินการส่งมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ทั้งหมด พบว่า โครงการฯ ส่วนที่ 1 การจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ปัญหาอุปสรรคอันดับแรกเกิดจากปัญหาด้านสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ หรือความไม่สงบในพื้นที่ทำให้เข้าไปในพื้นที่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ไม่ได้ รองลงมาเป็นปัญหาที่ต้องเปลี่ยนจุดติตั้งบริการ หรือต้องเปลี่ยนประเภทบริการให้เหมาะสมกับพื้นที่ และสุดท้ายพื้นที่ติดตั้งจุดบริการต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับโครงการฯ ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัญหาอุปสรรคอันดับแรกเกิดจากพื้นที่ติดตั้งจุดบริการต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รองลงมาคือปัญหาด้านสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ หรือความไม่สงบในพื้นที่ทำให้เข้าไปในพื้นที่เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ไม่ได้ และสุดท้ายเกิดจากปัญหาที่ต้องเปลี่ยนจุดติตั้งบริการ หรือต้องเปลี่ยนประเภทบริการให้เหมาะสมกับพื้นที่ ในส่วนของพื้นที่ที่มีข้อจำกัดได้รับผลกระทบจากปัจจัย ภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม มีพายุ ถนนขาด เกิดความไม่สงบในพื้นที่ พื้นที่ที่ติดตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน เขตอนุรักษ์ ฯลฯ ทำให้บริษัทผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าพื้นที่ไปติดตั้งอุปกรณ์ได้ อย่างกรณีพื้นที่ประสบอุทกภัยทางขาด เมื่อน้ำลด สามารถเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ให้บริการ สำนักงาน กสทช. ก็จะเร่งให้ผู้ให้บริการดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้ครบถ้วนเพื่อพร้อมสำหรับเปิดให้บริการแก่ประชาชน
จากนั้นเมื่อสำนักงาน กสทช. ตรวจรับมอบงานติดตั้งอุปกรณ์ครบถ้วน ก็จะให้ผู้บริการเปิดให้บริการจุดกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงจุดกระจายสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอื่นที่เกี่ยวของ อาทิ บริการ WiFi ฟรีในโรงเรียน โรงพยายาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) ศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ศูนย์บริการ USO NET) ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ โดยจะให้บริการอย่างต่อเนื่องพร้อมการบำรุงรักษาฟรี 5 ปี
“เมื่อโครงการเน็ตชายขอบ เปิดให้บริการ ประชาชนประมาณ 607,966 ครัวเรือน ที่มีจำนวนประชากรอยู่ประมาณ 1,823,898 คน สามารถใช้บริการดังกล่าวได้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยจะมีบริการแพ็คเกจอินเทอร์เน็ตความเร็ว 30/10 Mbps ให้บริการในราคาไม่เกิน 200 บาทต่อเดือน และเมื่อเปิดบริการแล้วสำนักงาน กสทช. จะมีการสำรวจประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดำเนินโครงการที่มีรายได้น้อยตามคำนิยามของกระทรวงการคลัง"
ทั้งนี้ กสทช. กำลังดำเนินการประสานเพื่อขอฐานข้อมูลดังกล่าวจากสำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มนี้สามารถเข้ามาใช้บริการโดยกสทช. จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายตามมติ กสทช. กสทช. เป็นระยะเวลา 3 ปี ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 4,683.73 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากวงเงินเหลือจ่ายภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2555-2559) อันจะทำให้ประชาชนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สามารถนำไปใช้ในการต่อยอดการประกอบอาชีพ การดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังเป็นการลดความเลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมระหว่างคนเมืองกับคนในพื้นที่ชายขอบ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เช่น การรักษาแพทย์ทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การสร้างองค์ความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงเกิดการสร้างงาน สร้างสรรค์ธุรกิจ-บริการใหม่ๆ เกิด START UP ซึ่งการดำเนินงานโครงการเน็ตชายขอบของสำนักงาน กสทช. เป็นโครงการที่สนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของของประเทศไทยให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน