ตรวจสุขภาวะโลก ผ่านงานวิจัยธรรมชาติ Living Planet Report2018
สำหรับประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง มีการทำงานเพื่อดูแลผืนป่า-พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่น่ายินดีที่ในรายงานล่าสุด พบว่า ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ไทยมีตัวเลขผืนป่าที่เพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางบวก หากเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง
การดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริโภค การใช้พลังงาน และปรนเปรอสังคมด้วยวัตถุนิยมที่แลกมาด้วยเงิน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัว กำลังเป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้สมดุลย์ธรรมชาติ และความยั่งยืนเดินหน้าสู่สภาวะสูญสลาย WWF-Living Planet Report2018 รายงานสุขภาวะสิ่งแวดล้อมของโลกที่จัดทำขึ้นทุกๆ 2 ปี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นวาระที่ 12 ในปีนี้ พร้อมกับฉายภาพของ ผืนป่า สรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ทั้งบนบก ใต้ทะเล หรือแหล่งน้ำจืด สภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้ทุกคนทำ “หน้าที่” ที่มีต่อโลก ปฏิวัติวิธีคิดเสียใหม่ เพื่อต่อลมหายใจให้โลกนี้และธรรมชาติได้ฟื้นคืนสู่สมดุลย์
มาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF-International กล่าวถึงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ป่าไม้กำลังถูกทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ มหาสมุทร และแม่น้ำ เสื่อมสภาพไปจากน้ำมือของมนุษย์เรานี้เอง แผ่นดินทุกตารางนิ้ว สัตว์ป่าแต่ละสายพันธุ์ ที่กำลังสูญสลายหายไป จากพื้นที่ป่าที่ลดลงเป็นดัชนีสำคัญที่สร้างแรงกระทบอย่างมหาศาลต่อสภาวะแวดล้อมของดาวเคราะห์ที่เรากำลังอยู่อาศัยนี้
การทำลายชีวิตเหล่านี้คือการทำลายสิ่งที่ค้ำจุนเราในปลายทาง นั่นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ
รายงาน Living Planet Report ซึ่งวิจัย และ วิเคราะห์แนวโน้มของสิ่งแวดล้อมของโลก ระบุว่า ประชากรปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก และสัตว์เลื้อยคลานกำลังลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่องไม่หยุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 60% นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 ถึง ค.ศ.2014 และสิ่งมีชีวิตที่หายไปจากโลกส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ อาทิ การลดลงของพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจากการรุกล้ำใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร
“จากแม่น้ำ จนถึงป่าฝนเขตร้อน และทิวเขาต่างๆ งานวิจัยพบว่า จำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา และเมื่อเราเห็นตัวเลขสถิติแล้วก็ต้องยอมรับว่า น่ากลัว แต่เราก็ยังไม่สิ้นหวัง เรายังมีโอกาสที่เราจะออกแบบเส้นทางแห่งอนาคตที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับสภาพธรรมชาตินี้อย่างยั่งยืนรายงานของ WWF ทำให้เราตรวจสอบสุขภาวะของโลกใบนี้ พร้อมกับเริ่มต้นคิดใหม่ทำใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง และทุกคนร่วมด้วยช่วยกันได้” ศาสตราจารย์ เคม นอร์ริส ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ ZSL (Zoological Society of London) กล่าว
สำหรับกลุ่มอนุประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Region เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสภาพความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก ก็มีรายงานว่า มีสัตว์เลี้ยลูกด้วยนมอาศัยอยู่กว่า 430 สายพันธุ์ มีสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกมากกว่า 800 ชนิด มีนกมากกว่า 1,200 สายพันธุ์ มีปลามากกว่า 1,100 ชนิด และพืชพรรณมากกว่า 20,000 สายพันธุ์
“แต่ปัจจุบันภูมิประเทศในเขตดังกล่าว มีสภาพพื้นที่ป่าสีเขียวลดน้อยลงไปถึงกว่า 3 ส่วน ซึ่งสร้างผลกระทบทางตรงต่อสัตว์ป่าที่ไม่มีที่อยู่อาศัย จากข้อมูลของ Living Planet Report ปีนี้พบว่า พื้นที่ป่าที่เป็นบ้านของเสือที่ลดลง ส่งผลถึงประมาณประชากรเสือในภูมิภาคนี้โดยตรง โดยในปี ค.ศ.2016 เอเชียสร้างถนนไปกว่า 11,000 กิโลเมตร แน่นอนว่า ถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ป่า ทำให้ที่อยู่ของเสือหายไป เราต้องแน่ใจว่าความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์เราไม่ได้ถูกแลกมาด้วยต้นทุนทางธรรมชาติของสิ่งอื่นๆ
ถ้าหากเราไม่เริ่มหยุด และคิดว่า ชีวิตเหล่านี้มีค่าควรแก่การดูแลรักษา เมื่อมาถึงวันหนึ่งที่เราอาจจะไม่เจอะเจอสัตว์เหล่านี้ให้ดูแลอีกต่อไป และวันนั้นก็อาจจะไม่ไกลจากวันนี้ก็เป็นได้” สจ๊วต แชปแมน ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวพร้อมกับบอกว่า ทรัพยากรในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คิดเป็นสัดส่วนถึง 5-8% ที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเดินไปข้างหน้า
“มีรายงานว่า ภายในปี ค.ศ.2050 สภาพพื้นที่กว่า 50% ของปัจจุบันของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอาจกลายสภาพเป็นเมืองใหญ่ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นพื้นที่ป่าในภูมิภาคนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตราที่รวดเร็ว ความหลากหลายของพืชพรรณก็ลดลงไม่ต่างกัน ต้นไม้ใหญ่บางสายพันธุ์เริ่มเหลือน้อยลงและตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์จากการถางทำลายป่าเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำการเกษตรของมนุษย์ พื้นที่ป่าของบริเวณลุ่มน้ำโขงจะหลงเหลืออยู่เพียง 30 ล้านเฮคเตอร์ภายในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า หากไม่เร่งดำเนินนโยบายอนุรักษ์อย่างจริงจัง”
ด้านนางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง และมีการทำงานเพื่อดูแลผืนป่า รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่น่ายินดีที่ในรายงานล่าสุด พบว่าในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวด้านตัวเลขของผืนป่าที่เพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางบวก หากเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง
ทั้งนี้ รายงานจาก WWF ในกลุ่มพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงกลับพบตัวเลขการฟื้นตัวของป่าในประเทศไทย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่มีอัตราการฟื้นตัว หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่พบเพียงอัตราการแผ้วถางทำลายที่เพิ่มขึ้น
โดยสถิติในรอบ 10 ปีจากปี ค.ศ.2005-2015 พบพื้นที่ป่าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นราว 0.19% คิดเป็นพื้นที่ป่า 31.6% ของพื้นที่ทั้งประเทศ เช่นเดียวกับประเทศเวียดนามที่มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 1.44%
“WWF อยากให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจ ภาครัฐ ช่วยกันขับเคลื่อนแนวทาง และนโยบายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ดูแลไปจนถึงป่าไม้และผืนน้ำ เราต้องเร่งเมือเพื่อดำเนินการปกป้องสภาพความหลากหลายทางชีวภพของโลกใบนี้ และธรรมชาติของเราเพื่อให้ตัวเลขความสูญเสียหยุดลงที่เท่านี้ และมีแต่จะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ขึ้นในอนาคต”
เกี่ยวกับ Living Planet Report 2018
Living Planet Report 2018 จัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 12 โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-International) ถือเป็นรายงานความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม และสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุดฉบับหนึ่งของโลกที่ถูกนำไปใช้อ้างอิง และเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพของสิ่งมีชีวิตของสายพันธุ์ต่างๆ สามารถดาวโหลดข้อมูลรายงาน Living Planet Report 2018 ได้ที่ www.panda.org/lpr/