กษ.รับมือภัยพิบัติตั้งกก.-เชื่อมโยงแหล่งผลิตป้องกันอาหารขาดแคลน
กระทรวงเกษตรฯ ตั้งกก.รับมืออาหารขาดแคลนช่วงภัยพิบัติ เร่งทำฐานข้อมูลปริมาณแหล่งผลิตสำคัญ นำร่องข้าว-ไข่ไก่-เนื้อสัตว์ ก่อนเสนอรัฐบาลเชื่อมโยงระบบกระจายสินค้าทั้งประเทศ
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านการเกษตร(กผฟ.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำฐานข้อมูลสินค้าเกษตรและอาหารที่ครบถ้วนและชัดเจน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการเตรียมความพร้อมด้านอาหารในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยนำประสบการณ์จากปัญหาสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมาพิจารณาหามาตรการป้องกันปัญหาการขาดแคลนสินค้าเพื่อการบริโภค เนื่องจากพบว่ายังขาดแหล่งข้อมูลของสินค้าเกษตรและอาหารที่ชัดเจนว่ามีปริมาณที่แท้จริงอยู่เท่าไหร่ และอยู่ที่ใดได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง จึงเป็นสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถกระจายสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง
กระทรวงเกษตรฯ จึงเห็นว่าควรมีการเตรียมการป้องกันปัญหาผลกระทบในการขาดแคลนอาหารที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ โดยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ซึ่งมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เช่น กรมชลประทาน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเลขานุการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีการประชุมกรอบแนวทางการเตรียมความพร้อมในการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรเรียบร้อยแล้ว โดยในเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางดำเนินการกับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ 3 ชนิดสินค้า ได้แก่ ข้าว ไข่ไก่ และเนื้อสัตว์แช่แข็ง รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ แหล่งผลิตสินค้า และผู้รับผิดชอบในแต่ละชนิดสินค้า โดยจัดทำเป็นผลผลิตรวมรายปีเพื่อเป็นฐานข้อมูลหลัก และหากเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นจะมีการจัดทำข้อมูลเป็นรายเดือน รายสัปดาห์ และรายวัน หากสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ เพื่อจะเป็นข้อมูลสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการกระจายสินค้าไปยังผู้ประสบภัยได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ภาคเอกชน หรืออาสาสมัครต่างๆ โดยขอบเขตการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว จะครอบคลุมงาน 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร 2. การจัดการฐานข้อมูล 3. การบริหารจัดการศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า เช่น สหกรณ์ อตก. เป็นต้น 4. การบริหารจัดการระบบขนส่ง
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่ายังมีอีกหลายชนิดสินค้าที่มีความจำเป็นในสถานการณ์ฉุกเฉินและอาจกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น น้ำมันพืช สินค้าปรุงสำเร็จ น้ำ รวมถึงเส้นทางการขนส่งสินค้าอาหารไปยังพื้นที่ประสบภัยเป้าหมาย และพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบได้ จึงจะรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมในการขนส่งและกระจายสินค้าเกษตรที่เป็นอาหารเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัตินำเสนอต่อรัฐบาลรับทราบโดยเร่งด่วนต่อไป