One Belt One Road เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน โอกาส-ความท้าทาย
One Belt One Road ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วม 103 ประเทศ มูลค่าการค้าขายที่เกิดขึ้นกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ลงทุนในประเทศต่างๆกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงานไม่ต่ำกว่า 2 แสนอัตรา
One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ที่มีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่กรุงปักกิ่ง ถึงวันนี้มีความก้าวหน้าไปมาก
“หยาง หยาง” ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารสนเทศสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลไว้บนเวทีสัมมนาพิเศษก้าวเข้าสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ: "เส้นทางสายไหมของจีนกับการเดินหน้ากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT)" ณ ห้อง LA107 ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ว่า
One Belt One Road ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วม 103 ประเทศ มูลค่าการค้าขายที่เกิดขึ้นมีกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการลงทุนในประเทศต่างๆแล้วกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สร้างงานแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนอัตรา
One Belt One Road ของจีนวันนี้ได้กลายเป็นนโยบายสาธารณะไปแล้ว
ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารสนเทศสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โชว์ถึงผลสำเร็จเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน โดยอยากให้คนไทยเลิกกังวลและเข้าใจโครงการนี้ไม่มีเงื่อนไขทางการเมืองพ่วงท้ายแน่นอน
สำหรับการเติบโตของ CLMVT ประเทศจีนถือได้ว่าเป็นคู่ค้าหลัก โดยมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นจาก 1.3 แสนล้านเหรียญสหรัฐใจปี 2555 เป็น 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 70% และปี 2560 การลงทุนประเทศ CLMVT โตกว่า 20% ที่จีนสนับสนุน ทั้งเงินกู้ สินเชื่อเฉพาะทาง และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน
“หยาง หยาง” ระบุว่า รัฐบาลจีนมุ่งให้ความช่วยเหลือประเทศใน CLMVT ให้เติบโตไปพร้อมกับการเติบโตของประเทศจีน ด้วยการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการค้าและการลงทุน เช่น การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ การลงทุนขนาดใหญ่เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาธุรกิจ E-Commerce การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยการใช้ Big Data และ Cloud การผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันทางศุลกากร โดยประเทศจีนหวังว่า ประเทศในกลุ่ม CLMVT และประเทศบนเส้นทาง One Belt One Road มีความเข้าใจหลักการของ One Belt One Road แล้วจะนำไปสู่การผลักดันนโยบายนี้ร่วมกันให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง
“การพัฒนาของโลกขาดจีนไม่ได้ และอนาคตการพัฒนาของจีนก็มีผลต่อภูมิภาคและต่อโลก”ที่ปรึกษาด้านการเมืองและสารสนเทศสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองถึงความสำคัญของกลุ่มประเทศ CLVMT จากเดิมมองแค่การค้าข้ามชายแดน ปัจจุบันกลายเป็นมิติการค้าข้ามพรมแดน ยืนยันจากตัวเลขการค้าข้ามชายแดน และการค้าข้ามพรมแดน มีสัดส่วนถึง 11% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ จีน ดังนั้นความสำคัญการค้าการลงทุนกับประเทศ CLVM ไทยละเลยไม่ได้ และควรให้น้ำหนักให้มากๆ
ส่วนนโยบาย One Belt One Road ศ.ดร.สกนธ์ ระบุว่า ที่มักได้ยินเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแค่ช่วงต้นๆ แต่หากมองให้ดีจะทำให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทั้งจากประเทศจีน และจากประเทศที่ One Belt One Road พาดผ่าน ดังนั้น โครงการพื้นฐานจึงแค่จุดเริ่มต้น One Belt One Road ถือได้ว่า เข้ามาในจังหวะที่ดี เพราะ 10 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศทางยุโรป สหรัฐฯ มีการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ลดลง
“การลงทุนของจีนในกลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศ CLMV ปี 2013 อยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปี 2016 เพิ่มขึ้นมากว่า 3 เท่า ธนาคารโลกคาดว่า การลงทุนของจีนจะเติบโตเรื่อยๆ และเป็นปัจจัยผลักดันที่สำคัญให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มประเทศที่ One Belt One Road พาดผ่าน”ศ.ดร.สกนธ์ ระบุ และว่า นโยบาย One Belt One Road เป็นการเปลี่ยนวิกฤติมุมมองของการพัฒนาประเทศ เป็นการจุดประกายการพัฒนา โดยเฉพาะ กลุ่ม CLMV ที่มีข้อจำกัดในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของตัวเอง
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน กับการมองว่า จีนเข้ามาฉกฉวยหาผลประโยชน์จากกลุ่มประเทศ CLMV นั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ชี้ว่า กลุ่มประเทศ CLMV ไม่ปฏิเสธการลงทุนจากจีนในโครงการ One Belt One Road เขาเปิดต้อนรับการลงทุน แต่คำถามคือ ทำอย่างไรให้ประโยชน์นั้น Win-Win ทั้งคู่ ทำอย่างไรให้โครงการที่จีนลงทุนนั้นตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศ
“เราคงได้ยินข่าวศรีลังกา ประเทศในแอฟริกา ที่จีนเข้าไปลงทุนจนเกิดหนี้สาธารณะขึ้นมากมายนั้น ประเทศผู้รับการลงทุนจากจีนจึงจำเป็นต้องดูศักยภาพการเงินการคลังของประเทศตัวเอง พิจารณาให้รอบคอบ พิจารณาความเสี่ยง หนี้สาธารณะด้วย” ศ.ดร.สกนธ์ ให้มุมมอง และว่า การลงทุนจากจีนอย่างไรเราก็ปฏิเสธไม่ได้แน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า จะตั้งรับ เตรียมตัวอย่างไร การลงทุนต่างๆ นั้น ไม่อยากให้ประเทศในกลุ่ม CLMV มีลักษณะ Zero Sum Game ดังนั้นบทบาทของผู้นำสำคัญ โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนปีหน้า คงต้องพูดคุยกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันถึงเรื่องดังกล่าวด้วย One Belt One Road เป็นเรื่องบวกกับกลุ่มประเทศ CLMV และยังเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศไทยให้ความสำคัญ และยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้า บริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อให้สามารถค้าขายได้ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทย
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสซีจี เห็นด้วยว่า นโยบาย One Belt One Road นั้น เป็นสิ่งที่ประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนไทย จึงควรทำความเข้าใจกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ดี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่
“ไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปปฏิเสธว่า ไม่ให้จีนเข้ามายุ่ง เป็นไปไม่ได้ในสภาพความเป็นจริง ฉะนั้นเรื่องความร่วมมือจีนกับประเทศในแถบนี้จะต้องมีเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งมีทั้งโอกาสและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น เมื่อสินค้าจีนเข้ามาแข่งขันในบ้านเรา โอกาสส่งสินค้าไปขายที่จีนได้เช่นกัน แต่ต้องเน้นเรื่องคุณภาพ และสินค้าถูกใจคนจีน”
นายเชาวลิต ยังได้ยกตัวอย่าง SCG ร่วมทุนกับจีนทำเรื่องระบบโลจิสติกส์ การค้าขายในภูมิภาคนี้เพื่อเชื่อมโยงการเคลื่อนย้ายสินค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เชื่อว่า นี่จะเป็นโอกาส SMEs ไทย ทำอย่างไรให้สินค้าไทยผู้บริโภคจีนมองเห็น
ส่วนภาครัฐเชิงนโยบายต้องมีการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับรองรับนโยบาย One Belt One Road อย่างไร โดยเฉพาะระบบศุลกากรมำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันทุกประเทศ
ขณะที่นายสวี เกินโหลว กรรมการผู้จัดการใหญ่นิคมอุตสาหกรรมระยองไทยจีน กล่าวถึงเหตุผลที่นักธุรกิจจีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง และมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ดี เหมาะกับการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของ CLMVT
ในส่วนของข้อกังวลเกี่ยวกับการที่คนจีนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยนั้น นายสวี มองว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากวัฒนธรรมในการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน คนไทยช้า คนจีนทำเร็ว คนจีนใจร้อนมีเทคโนโลยีมีเงินลงทุนพร้อมมาลงทุน แต่คนไทยคิดเยอะมีการหารือเยอะ ขณะที่จีนคิดก็จะทำทันที นี่คือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจกันและกัน
พร้อมกันนี้เขาอยากให้คนไทยเปิดใจให้เห็นว่า คนจีนนำเงินลงทุน และนำเทคโนโลยีเข้ามา ขณะที่ธุรกิจจีนก็อย่างใจร้อนเกิน ควรก้าวไปคนละก้าวพร้อมๆกัน
สุดท้ายดร.หลี่ เหรินเหลียง ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ กรุงเทพฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า หลักการสำคัญที่จะช่วยให้ไทยได้ร้บประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ได้อย่างเต็มที่ คือ การแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพราะนโยบายนี้จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคนี้
การที่นักธุรกิจชาวจีนที่มาลงทุนในประเทศไทยก็เพราะมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีอยู่ นักธุรกิจจีนต้องทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทย จะได้ปรับตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมไทยได้ ซึ่งการเข้ามาลงทุนที่ไทย ถือเป็นรูปแบบความร่วมมือที่เป็นแบบอย่างที่ดีในระบบการเมืองที่แตกต่าง ให้กับประเทศต่างๆที่จีนจะไปลงทุน
แนวทางในการพัฒนากำลังคนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถได้ประโยชน์จากนโยบาย One Belt One Road ควรเริ่มจากการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมของจีนให้เข้าใจ ควบคู่ไปกับการมีหลักสูตรร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการพัฒนา เช่น สาขาวิศวกรรม สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
One Belt One Road เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/tcjapress/