วัดปรอทมาเลย์เยือนไทย กับสมมติฐานศักยภาพกลุ่มป่วนใต้ลดระดับ?
การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกฯมาเลเซีย ไม่ได้ปลุกความคึกคักให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมไทยเหลียวกลับมาให้ความสนใจกับปัญหาชายแดนใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 15 ปีมากขึ้นเท่านั้น
แต่ยังทำให้ "กลุ่มป่วนใต้" ในพื้นที่สร้างกิจกรรม สร้างข่าว ด้วยปฏิบัติการพ่นสีเป็นภาษามาเลย์ แปลความว่า "เอกราชปาตานี" หวังโชว์ผู้นำเสือเหลืองด้วย
แต่จุดที่น่าสังเกตก็คือ ครั้งนี้มีการพ่นสีแค่ 2 จุด คือที่ อ.ธารโต จ.ยะลา กับ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กลายเป็นคำถามว่า นี่คือภาพสะท้อน "กลุ่มป่วนใต้" มีศักยภาพในการก่อเหตุลดลง...หรือไม่?
เพราะหากย้อนกลับไปวันที่ 9 ธ.ค.52 หรือ 9 ปีก่อน ช่วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงพื้นที่ครั้งประวัติศาสตร์พร้อมกับ นาจิบ ราซัค ซึ่งช่วงนั้นยังรั้งตำแหน่งผู้นำมาเลเซีย ก็จะพบว่ามีเหตุรุนแรงมากถึง 9 จุด ส่วนใหญ่เป็นระเบิด ทำให้กำลังพลทั้งทหาร ตำรวจ และ อส. รวมทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน ซ้ำยังมีป้ายผ้าเขียนข้อความเป็นภาษามลายู แปลเป็นไทยว่า "ฟาตอนีเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย" ด้วย
ต่อมาวันที่ 31 ส.ค.ปี 55 ซึ่งตรงกับวันชาติมาเลเซีย มีปฏิบัติการแขวนธงมาเลเซีย และวางวัตถุต้องสงสัยทั้งระเบิดจริงและระเบิดปลอม กระจายในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลาถึง 102 จุด ฉะนั้นหากเทียบกับปี 61 ช่วงที่ ดร.มหาธีร์ เยือนไทย ต้องบอกว่าครั้งนี้เด็กๆ เพราะพ่นสีก่อกวนแค่ 2 จุดเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญบางฝ่ายมองว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอาจไม่เกี่ยวกับศักยภาพของผู้ก่อความไม่สงบ เพราะแกนนำอาจไม่มีนโยบายสั่งให้ก่อเหตุในช่วงนี้ หรือไม่ก็กำลังรอดูความชัดเจนของโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขอยู่
แต่ในมุมมองของฝ่ายความมั่นคงกลับเห็นแย้ง เพราะมองว่าหากผู้ก่อการยังมีศักยภาพมากจริง ต้องยิ่งก่อเหตุรุนแรง เนื่องจากตรงกับวาระ 14 ปีเหตุการณ์ตากใบด้วยพอดี ฉะนั้นจึงฟันธงว่านี่ภาพสะท้อน "พละกำลัง" ที่ลดต่ำลงของกลุ่มป่วนใต้อย่างชัดเจน
เหตุผลที่ฝ่ายความมั่นคงยกมารองรับ ก็คือ...
หนึ่ง กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงปฏิบัติการมาเกือบ 15 ปี แต่ไม่สามารถยกระดับสถานการณ์เพื่อกดดันรัฐไทยให้มากขึ้นได้
สอง ฝ่ายกองกำลังสูญเสียไปเยอะ ทั้งถูกจับเป็นและวิสามัญฯ การหานักรบมาทดแทนทำได้ยากขึ้น
สาม พื้นที่ที่ฝ่ายรัฐเข้าไม่ได้ เมื่อก่อนมีหลายพื้นที่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
สี่ สถานะความเป็น "องค์กรลับ" ของกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยเฉพาะ "บีอาร์เอ็น" ถึงวันนี้ต้องบอกว่า "เสียลับ" ไปเกือบหมดแล้ว การไม่ยอมเปิดตัวผู้นำ ในบางมุมอาจมองได้ว่ามีความขัดแย้งภายในอยู่ก็เป็นได้
และห้า กลุ่มผู้ก่อการกำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาใช้งานการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากโต๊ะพูดคุยเจรจา แต่นั่นไม่ใช่เพราะปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มป่วนใต้ได้ผล ทว่าหมายถึงความอ่อนล้าของขบวนการที่สู้ด้วยปืนมานานกว่า 1 ทศวรรษ แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จเสียทีมากกว่า
ฉะนั้นการเดินทางเยือนไทยของผู้นำมาเลเซียหนนี้ ในทัศนะของฝ่ายความมั่นคงจึงเป็นความหวังที่จะสร้าง "จุดเปลี่ยนไฟใต้" เพราะมีการปรับโฉมกระบวนการพูดคุยใหม่ทั้งหมด และมาเลเซียก็แสดงท่าทีจริงจัง อยากให้ปัญหานี้จบโดยเร็ว
หากเพื่อนบ้านอย่างมาเลย์ร่วมมือ "บล็อคชายแดน" ไม่ให้มีการขนคนและอาวุธข้ามไปมา ช่วยกดดันให้กลุ่มป่วนใต้ที่กบดานอยู่ฝั่งมาเลย์เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยให้มากที่สุด และผ่องถ่ายคนที่อยาก "วางปืน" เข้าโครงการพาคนกลับบ้าน ซึ่งฝ่ายไทยก็ตั้ง พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพเจ้าของโครงการนี้มารอรับ ก็น่าเชื่อว่าไฟใต้ที่ยืดเยื้อมานานถึง 15 ปีจะเข้าสู่จุดเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ
แต่การจะเริ่มนับหนึ่งสถาปนาสันติสุขอย่างแท้จริงได้หรือไม่นั้น ยังมีโจทย์ท้าทายอีกหลายข้อที่รออยู่!
-----------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากทีมล่าความจริง เนชั่นทีวี 22
อ่านประกอบ :
บันทึก "มหาธีร์" เยือนไทย จุดเปลี่ยนไฟใต้ที่ไม่มีกรอบเวลา?
มหาธีร์เยือนไทย จุดเปลี่ยนไฟใต้ กับทฤษฎี "แพ้พ่าย" เพื่อสันติสุข