บันทึก "มหาธีร์" เยือนไทย จุดเปลี่ยนไฟใต้ที่ไม่มีกรอบเวลา?
การเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ถูกจับตาจากทุกฝ่าย เพราะคาดหวังว่าความร่วมมืออย่างแนบแน่นระหว่างไทยกับมาเลย์หลังจากนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยน "ไฟใต้" ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อของไทย ให้พลิกกลับมาสันติสุขได้เสียที
ทุกย่างก้าวและทุกกิจกรรมในประเทศไทยของ ดร.มหาธีร์ จึงมีการพูดถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ไฟใต้...ปัญหาภายใน
วันแรกของภารกิจการเยือน คือวันพุธที่ 24 ต.ค.61 ผู้นำมาเลเซียได้ให้คำมั่นกับรัฐบาลไทย ภายหลังร่วมหารือแบบเต็มคณะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวระหว่างแถลงข่าวร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศมีประวัติศาสตร์ความร่วมมือในอดีต มาเลเซียเคยมีปัญหา และไทยได้ให้การสนับสนุนเพื่อยุติปัญหา ก็ขอขอบคุณไทยในด้านนี้ ปัจจุบันไทยมีปัญหาชายแดนใต้ มาเลเซียก็ยินดีที่จะช่วยไทยในทุกด้านเพื่อแก้ไขความรุนแรง และตนก็มั่นใจว่าด้วยว่าความร่วมมือของสองประเทศ จะทำให้สามารถแก้ไขและลดปัญหานี้ได้
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำว่า ปัญหาชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของไทย และเชื่อว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุขที่มีมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน จะอยู่บนพื้นฐานและกรอบของรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งจะเดินหน้าต่อไป
"ผมได้เล่าให้นายกฯมาเลเซียฟังถึงแนวทางและนโยบายของรัฐบาลไทย รวมถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา ฝ่ายไทยถือว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายใน แต่ขณะเดียวกันความร่วมมือจากต่างประเทศก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ง่ายขึ้น ผมได้พูดคุยกับนายกฯมาเลเซียเกี่ยวกับกระบวนการการพูดคุยที่มีฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความเข้าใจในข้อห่วงกังวลและข้อจำกัดของกันและกันได้เป็นอย่างดี การพูดคุยจะดำเนินการต่อไปโดยมีมาเลเซียเป็นผู้ประสานงาน อยู่บนพื้นฐานและกรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขณะเดียวกันจะขยายความร่วมมือในการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน การพัฒนาเศรษฐกิจ และประเด็นความมั่นคงในภาพใหญ่ โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่ง การป้องกันและปราบปรามอัชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติดและการค้ามนุษย์" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ตอบแทนไทยช่วยยุติปัญหา จคม.
วันที่ 2 ของการเยือน คือวันพฤหัสบดีที่ 25 ต.ค. ผู้นำมาเลย์เดินทางไปพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ที่บ้านพักสี่เสาเทเวศร์ โดย พล.อ.เปรม เดินมารอต้อนรับ ดร.มหาธีร์ ถึงหน้าบ้าน และหลังจากหารือกันประมาณ 15 นาทีแล้ว ได้มีการแลกของที่ระลึกระหว่างกัน จากนั้น พล.อ.เปรม ได้เดินมาส่ง ดร.มหาธีร์ ขึ้นรถด้วย
พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บอกว่า ทั้งสองท่านมีความใกล้ชิดกันมาก เพราะเคยเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกันประมาณ 7 ปี โดยในช่วงนั้น ดร.มหาธีร์ ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ (จคม.) ที่เป็นภัยคุกคามของมาเลย์ ขณะที่ พล.อ.เปรม ก็ขอให้ทางการมาเลเซียสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ทั้งสองท่านจะไม่ได้พบกันมานานหลายสิบปี แต่ช่วงที่ ดร.มหาธีร์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2 พล.อ.เปรม ได้ส่งจดหมายส่วนตัวผ่านช่องทางการทูตไปแสดงความยินดีด้วย
ชายแดนใต้คือปัญหาความยุติธรรม
กิจกรรมส่งท้ายคือ การไปบรรยายพิเศษในหัวข้อ "ความสัมพันธ์มาเลเซีย-ไทยในบริบทอาเซียน" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระหว่างการบรรยายและการตอบข้อซักถามอย่างเป็นกันเอง ผู้นำมาเลเซียให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือไทยแก้ปัญหาภาคใต้ผ่านการเจรจาโดยไม่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากซาบซึ้งที่ไทยเคยช่วยเหลือมาเลเซียแก้ปัญหา จคม.มาก่อน จนมาเลเซียแก้ปัญหาได้สำเร็จ
"ปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่ปัญหาศาสนา แต่เป็นปัญหาความยุติธรรม เช่น ถ้าให้คนเชียงใหม่ไปอยู่ที่อื่น เขาก็ต้องรู้สึกถึงความคับข้องใจ ไม่พอใจ" นายกฯมาเลเซียกล่าวตอนหนึ่ง และว่า การก่อการร้ายทั่วโลกก็อ้างศาสนาทั้งนั้น แต่ปัญหาลึกๆ คือความเป็นธรรม ความยุติธรรม รัฐบาลต้องดูสาเหตุที่ทำให้ประชาชนเกิดความคับข้องใจแล้วแก้ไขให้ตรงจุด
"มาเลเซียยินดีช่วยไทยแก้ปัญหา ผมหวังว่าเราจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างสันติ" ผู้นำมาเลเซียย้ำ พร้อมเสริมว่า ผู้นำไทยและมาเลเซียทุกคนรู้จักกันเป็นการส่วนตัว จึงช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ถือเป็นลักษณะพิเศษระหว่างเพื่อนบ้านสองประเทศ
การแก้ปัญหาที่ยังไม่มีกรอบเวลา
การที่ ดร.มหาธีร์ พูดถึงปัญหาภาคใต้ของไทยในทุกเวที ประกอบกับการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย โดยเลือกคนใกล้ชิดอย่างอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ มาทำหน้าที่ ทำให้หลายฝ่ายพากันคาดการณ์ว่า นี่อาจเป็น "จุดเปลี่ยน" ของสถานการณ์ไฟใต้ที่น่าจะต้องมองเห็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในอายุการเป็นนายกรัฐมนตรีครึ่งเทอม หรือ 2 ปีนับจากนี้ของ ดร.มหาธีร์
แต่จากการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียหลังสิ้นสุดภารกิจเยือนไทย ดร.มหาธีร์ กลับยอมรับว่า การจัดการปัญหาชายแดนใต้ของไทยไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาได้อย่างชัดเจน
"ไม่มีกำหนดเส้นตายเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย เนื่องจากความพยายามในการแก้ปัญหาอาจต้องใช้เวลาพอสมควร" ผู้นำมาเลเซียกล่าว พร้อมให้เหตุผลว่า เป็นเพราะความขัดแย้งนี้มีหลายกลุ่มหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง
ดร.มหาธีร์ ขยายความอีกว่า ไม่สามารถพูดเกี่ยวกับกรอบเวลาในการแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องไม่ได้มาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีหลายกลุ่ม บางครั้งกับบางกลุ่ม อาจได้รับข้อตกลงหนึ่ง แต่กลุ่มอื่นอาจไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้นำมาเลเซีย ย้ำว่า ต้องการช่วยไทยจากใจจริง เพื่อตอบแทนที่ไทยเคยช่วยมาเลเซียเกี่ยวกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต และ ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่ ก็มีประสบการณ์มากพอที่จะจัดการปัญหานี้
---------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
อ่านประกอบ :
1 ข่าวต้นฉบับจากสำนักข่าวเบอร์นามา http://bernama.com/en/general/news.php?id=1657945
2 มหาธีร์เยือนไทย จุดเปลี่ยนไฟใต้ กับทฤษฎี "แพ้พ่าย" เพื่อสันติสุข