รวมพลัง 'ทีมเผือก' ฝึกป้องกันตัวเอง-ช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามทางเพศ
รวมพลังทีมเผือกกว่า 100 ชีวิต ฝึกป้องกันตัวเอง-ช่วยเหลือผู้อื่นหากถูกคุกคามทางเพศ ด้าน “ซินดี้” วอน ทุกฝ่ายในสังคมเข้าร่วมเป็นหูเป็นตา
วันที่ 21 ตุลาคม 2561 ที่ Crossover Gym ภาคีเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประกอบด้วย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย, แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ภายใต้สมาคมเพศวิถี , มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาคร่วมกับโครงการ “Don’t tell me how to dress” จัดกิจกรรมทีมเผือก “Self Defense Lab ปฏิบัติการเผือก เพื่อเพื่อนรอด เราปลอดภัย” เพื่อร่วมเรียนรู้แนวทางในการช่วยเหลือตนเอง ช่วยเหลือบุคคลอื่นจากการถูกคุกคามทางเพศ และการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นการแสดงพลังของทีมเผือก ที่จะไม่เงียบ ไม่นิ่งเฉย เพราะการถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องไกลตัว นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวทีมเผือกจากประชาชนทั่วประเทศกว่า 100 คนด้วย
น.ส.รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์และความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศบนรถโดยสารสาธารณะ ว่า ที่ผ่านมาเรามักจะเห็นว่าสถานการณ์การถูกคุกคามทางเพศบนรถสาธารณะ คนที่ถูกคุกคามไม่กล้าที่จะตอบโต้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งในหลายเหตุการณ์คนที่อยู่รอบข้างสามารถช่วยเหลือการคุกคามเหล่านั้นได้ จึงตั้งทีมเผือกขึ้นมา เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้โดยสารรถขนส่งสาธารณะ ให้มีความตื่นตัวกับการถูกคุกคามทางเพศ และยังสามารถหยุดการคุกคามทางเพศ หรือ ช่วยเหลือ คนที่ถูกคุกคามทางเพศได้ รวมถึงการสอดล่องดูแลพฤติกรรมการคุกคามทางเพศในระบบสาธารณะ โดยหลังจากมีการจัดตั้งทีมเผือกเห็นได้ชัดว่าประเด็นเหล่านี้มีการนำเสนอผ่านสื่อมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่ถูกคุกคามก็กล้าพูดมากขึ้น กล้าตอบโต้ และไม่นิ่งเฉยอย่างน้อยทำให้ผู้คนเห็นว่าเรื่องการถูกคุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย
“ยังมีตัวชี้วัดที่ดี หรือเป็นสัญญาณบวก เพราะเพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงของเราเปิดมาได้หนึ่งปีมีผู้ติดตามมากกว่า 5,000 คน และในจำนวนนี้มีคนเข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกกรุ๊ปทีมเผือกเพื่อร่วมกิจกรรมต่างๆ ในการป้องกันการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า 500 คนเลยทีเดียว รวมไปถึงเรายังได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ อย่างแคมเปญ “Don’t tell me how to dress” ของคุณซินดี้ สิรินยา บิชอพ ซึ่งการได้ร่วมทำงานกับกลุ่มอื่นๆที่ประเด็นคล้ายๆกัน ทำให้เสียงของทีมเผือกของพวกเราดังขึ้น และสามารถที่จะขยายผลเพื่อสร้างความตระหนักของคนในสังคม ชักชวนสังคมให้เป็นหูเป็นตาไม่นิ่งดูดาย”
น.ส.รุ่งทิพย์ กล่าวว่า กิจกรรมต่อจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าไปขยายต่อที่โรงเรียน เพราะต้องการให้เด็กนักเรียนโดยเฉพาะระดับมัธยมที่ถือว่าตกเป็นเป้าของการคุกคามมากได้เข้าใจว่าการคุกคามทางเพศคืออะไร เพราะเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศในแฟนเพจเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงของเราที่สมาชิกส่งเข้ามาจำนวนหนึ่งจะเกิดกับเด็กวัยรุ่นเด็กนักเรียนที่ต้องใช้การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ โดยเด็กๆหลายคนที่ถูกคุกคามไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นคือการคุกคามทางเพศ เราจึงอยากให้คนรุ่นใหม่ในสังคมมีความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องนี้ หรือถ้าเจอเหตุการณ์สามารถเข้าไปแทรกแซงได้อย่างไรและในระดับไหนที่เราสามารถทำได้ป้องกันตนเองได้หรือช่วยเหลือคนอื่นที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นได้
ด้านน.ส.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้มุ่งจัดขึ้นสำหรับผู้ติดตามเพจ “เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง” และเป็นสมาชิก “ทีมเผือก” ของเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ โดยสมาชิกทีมเผือกคือกลุ่มคนสมัครเข้ามาเป็นจิตอาสา ที่จะช่วยกันสอดส่องป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ เราจึงชักชวนคนเหล่านี้มาเรียนรู้วิธีเผือก หรือการเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามที่ได้ผล ไฮไลท์ของกิจกรรม คือ การเรียนรู้เทคนิคและวิธีการสังเกตสถานการณ์รอบตัวว่ามีภัยคุกคามทางเพศหรือไม่ ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับคนอื่น เราจะเข้าไปแทรกแซงได้อย่างไร และถ้าเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เราจะจัดการอย่างไร
ที่สำคัญ นอกจากเผยแพร่วิธีการป้องกันตัวเองหรือช่วยเหลือผู้อื่นแล้ว เป้าหมายในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ คือ กระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักว่าการคุกคามทางเพศเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายและสังคมไม่ยอมรับ ผู้ที่ถูกคุกคามไม่ต้องจำยอม มันมีวิธีการที่เราจะปกป้องตัวเองหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้างได้ ขณะที่คนรอบข้างก็ต้องไม่นิ่งเฉย ต้องช่วยกันสอดส่องและเข้าแทรกแซงถ้าทำได้ ที่สำคัญ ผู้ที่คิดจะฉวยโอกาสคุกคามทางเพศคนอื่น คนเหล่านี้ต้องรับรู้ว่าสังคมไม่ยอมรับพฤติกรรมของเขา และสังคมจะไม่นิ่งเฉย เราจะทำให้คนที่คิดจะคุกคามผู้อื่นต้องยั้งคิดและเลิกพฤติกรรมดังกล่าว
น.ส.วราภรณ์ กล่าวต่อว่า นอกจากการรณรงค์กับผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะแล้ว เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงยังผลักดันให้หน่วยงานที่กำกับดูแลและจัดบริการขนส่งสาธารณะมีนโยบายและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศด้วย โดยมีหลายหน่วยงานตอบรับว่าจะร่วมมือกันแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่จะเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายฯ เข้าไปอบรมพนักงานประจำรถทัวร์เรื่องการสอดส่องดูแลและช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคาม โดยเครือข่ายฯ กำลังจัดทำคู่มือหยุดการคุกคามทางเพศ ทั้งที่เป็นเล่มและแบบออนไลน์ เพื่อให้พนักงานสามารถเรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ กำลังผลิตสื่อรณรงค์สำหรับผู้โดยสาร ในรูปแบบวิดีโอสำหรับฉายบนรถโดยสารของ บขส. โดยวิดีโอชุดนี้มุ่งสร้างความเข้าใจปัญหาการคุกคามทางเพศรูปแบบต่าง ๆ และสื่อว่าผู้ประสบเหตุไม่ควรนิ่งเฉย สามารถป้องกันตนเอง ตลอดจนแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจากพนักงาน และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้
ส่วนกฎหมายที่เอาผิดกับผู้คุกคามทางเพศนั้น ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายดำเนินการกับผู้คุกคามทางเพศอย่างชัดเจน แต่ขณะนี้เรามีตัวอย่างของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งมีความก้าวหน้า มีการออกกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศโดยเฉพาะ ที่ระบุถึงพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การผิวปากแซว การพูดแซว การแต๊ะอั๋ง การสะกดรอยตาหรือตามตื้อ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าการคุกคามรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งกฎหมายของฟิลิปปินส์มีบทลงโทษที่ชัดเจน จากตัวอย่างนี้ เครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ จึงจะผลักดันเรื่องกฎหมายเรื่องการคุกคามทางเพศในประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน
ขณะที่น.ส.สิรินยา บิชอพ หรือ ซินดี้ นักแสดงและนางแบบชื่อดัง กล่าวถึงการทำงานร่วมกันทีมเผือกว่า ได้รับเชิญให้เข้ามาเป็นส่วนร่วมหนึ่งของทีมเผือกและเป็นอีกหนึ่งส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ เชื่อว่ากิจกรรมการสอนวิธีป้องกันตัวเองให้กับผู้หญิงหากถูกคุกคามทางเพศจะทำให้ผู้หญิงอยู่ในสังคมไทยได้ปลอดภัยมากขึ้น และการนำทีมเผือกกว่า 100 คนมาร่วมฝึกด้วยในวันนี้ก็จะยิ่งเป็นการติดอาวุธให้ทีมเผือกกลายเป็นทีมสนับสนุนในการเข้าไปช่วยเหลือผู้คนที่ถูกคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเข้มเข็งมากยิ่งขึ้น
“เราจะต้องทำให้คนตระหนักถึงเรื่องนี้มากขึ้น ทำให้คนที่จะทำพฤติกรรมคุกคามทางเพศหยุดความคิดและการกระทำของเขาให้ได้ และทำให้ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ที่ตัวเองรู้สึกอึดอัด หรือกลัวสามารถมั่นใจที่จะขอความช่วยเหลือได้ และชอบมีคำกล่าวที่ซินดี้ได้ยินมาตลอดคือ ก็แต่งตัวแบบนั้นจึงทำให้เขาคุกคามทางเพศ ซึ่งซินดี้มองว่าปัญหาของการคุกคามทางเพศมันไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้หญิงจะแต่งตัวอย่างไร แต่ปัญหาเกิดจากผู้ชายที่คิดว่าจะฉวยโอกาสคุกคามทางเพศในรถสาธารณะอย่างไรมากกว่า นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของมายาคติ ในเรื่องอำนาจที่ผู้ชายที่คิดว่ามีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ดังนั้นจึงต้องแก้ไขที่ความคิดด้วย ทำอย่างไรให้เกิดเท่าเทียมกันในสังคม ” นักแสดงและนางแบบชื่อดังกล่าว
น.ส.สิรินยายังกล่าวถึงทางออกของปัญหาการคุกคามทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ว่า จะต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วมในการที่จะแก้ไข และต้องคิด หรือ วางแผน ไว้ล่วงหน้าว่าถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นกับเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร พนักงานในระบบขนส่งก็เช่นกันที่จะต้องให้ความร่วมมือตรงนี้แต่ที่ง่ายที่สุดตอนนี้อยากชวนให้ทุกคนร่วมเป็นทีมเผือกกันเยอะๆ มาช่วยกันสอดส่องและส่งเสียงและแสดงพลังในการแก้ปัญหานี้ร่วมกันให้เยอะๆ