ถอดบทเรียน ‘สื่อ’ กับการนำเสนอข่าวไม่ให้ ‘ละเมิด’ สิทธิ LGBT
ถอดบทเรียนสื่อกับการนำเสนอไม่ให้ละเมิดสิทธิ LGBT ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ วอนเลิกใช้คำนำหน้า นาย นาง น.ส. -น้ำเสียง ท่าทีเเสดงความเเปลกประหลาดในข่าว ชี้ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สื่อกับการนำเสนอข่าวที่เคารพสิทธิของกลุ่ม LGBT (lesbian, gay, bisexual, and transgender) แน่นอนว่า เป็นประเด็นอ่อนไหว จึงต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการนำเสนอข่าว
โดยในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน ครั้งที่ 1/61 จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ณ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล จ.สมุทรสาคร เมื่อเร็ว ๆ นี้
ได้จัดกิจกรรมถอดบทเรียนเรื่องสื่อกับการนำเสนอข่าวที่ละเมิดสิทธิ หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ มี “โน้ต” เจษฎา แต้สมบัติ ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมพูดคุย
เบื้องต้นเธอมีข้อเสนอแนะ สื่อไม่ควรใช้คำนำหน้านามว่า “นาย” ควรไม่ระบุคำนำหน้า หรือหากต้องการระบุให้ใช้คำว่า “คุณ” ไม่ควรนำเสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงร่างกาย การทำศัลยกรรมเป็นเนื้อหาสาระหลัก โดยการนำเสนอหรือตั้งคำถาม เช่น “แปลงเพศแล้วหรือยัง” หรือ “ทำไมเหมือนผู้หญิงจัง”
นอกจากนี้ไม่ควรนำเสนอด้วยน้ำเสียงและท่าทีที่แสดงความแปลกประหลาด เช่น “ผู้ชายสวย” หรือ “ไม่น่าเชื่อว่าผู้ชายจะสวยกว่าผู้หญิง” และผู้สื่อข่าวไม่ควรเอารสนิยมทางเพศของตัวเองมาตัดสินหรือให้คุณค่าต่อคนข้ามเพศ เช่น “ผมชายแท้ไม่มีอารมณ์กับผู้ชายที่สวยหรือกะเทยหรอก”
โน้ต ขยายความให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้นว่า ยุคหนึ่งประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อห้ามไม่ให้สื่อนำเสนอข่าว เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เนื่องด้วยมีวิธีคิดและความเชื่อที่ว่า จะทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จนกระทั่งได้มีการเคลื่อนไหวทำให้ LGBT มีพื้นที่ในสื่อมากขึ้น
“สื่อมีบทบาทสำคัญทำให้สังคมไทยมองพวกเราเป็นคนปกติ แต่ขณะเดียวกันสื่อกลับยังคงสร้างมายาคติแบบเหมารวมในเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่” เธอระบุเช่นนั้น และยอมรับที่ผ่านมาสื่อส่วนใหญ่นำเสนอข่าวได้ดี มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ละเมิด สร้างให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจ และรู้สึกว่า รุนแรง
โน้ต หยิบยกตัวอย่างการนำเสนอข่าว บอกว่าช่วงเวลาที่สื่อนึกถึงความหลากหลายทางเพศมีไม่กี่เทศกาล เด่นชัดที่สุด คือ “การเกณฑ์ทหาร” ซึ่งที่ผ่านมาใช้พาดหัวข่าวด้วยคำว่า “ฮือฮา” ตั้งคำถามว่า ทำไมต้องฮือฮา ไม่เคยเห็นกะเทยหรือ? หรือ “หุ่นแซ่บ” ทำไมต้องนำเสนอเรื่องร่างกาย นอกจากนี้ยังมีคำว่า “แค่ 2 ปี”
หรือปีล่าสุด พาดหัวข่าวว่า “สาวประเภทสองใส่ซีทรูเกณฑ์ทหาร” แล้วนำเสนอภาพข่าวซูมเห็นเรือนร่าง
ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ อธิบายถึงเหตุผลต้องใส่ซีทรู เพราะพวกเธอกลัวจะถูกเกณฑ์ทหาร ดังนั้นการเผยให้เห็นเนื้อหนังมังสา การทำให้ตัวเองมีความเหมือนผู้หญิงมากที่สุด จะทำให้รู้สึกว่า พ้นจากการเป็นทหารได้ ดังนั้นจำเป็นมากที่กะเทยหลายคนไม่ได้ใบรับรองทางการแพทย์ต้องใช้วิธีนี้ แต่สิ่งที่ สื่อนำเสนอ ปรากฎใช้พาดหัวข่าวว่า สาวประเภทสองใส่ซีทรูเกณฑ์ทหาร
ที่สำคัญ ใช้คำนำหน้าว่า “นาย” ซึ่งการระบุคำนำหน้า นาย นาง และ น.ส. กับกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ต้องบอกว่า เป็นความรุนแรง เนื่องจากกำลังนำเสนอถึงเพศสภาพที่ไม่ตรงกับปัจจุบันของพวกเขา
การใช้พาดหัวข่าวเช่นนั้น “โน้ต” กล่าวว่าความจริง เรายังไม่รู้เลยว่า คนในภาพข่าวมีเพศสภาพหรือเพศวิถีอย่างไร ทว่า กลับถูกตัดสินไปแล้วว่า คนนี้ไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิง เธอจึงตัดพ้อว่า การพาดหัวข่าวเช่นนั้นถือเป็นการลดคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“สื่อสามารถเลือกทำหน้าที่นำเสนอข่าวในแง่มุมอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า ยกตัวอย่าง ปัจจุบันมีกฎหมายระบุให้ผู้มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดสามารถได้รับการยกเว้นเกณฑ์ทหารได้ ซึ่งหากสื่อเลือกนำเสนอเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ที่เป็นเพศสภาพทำเรื่องนำปลดจากการเกณฑ์ทหารได้”
ทั้งนี้ ปัจจุบันผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ระบุกำลังจับมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำแนวปฏิบัติกับสื่อมวลชนนำเสนอเรื่องราวของ LGBT อย่างไรให้เคารพสิทธิซึ่งกันและกันแล้ว และได้เคยขอความร่วมมือไปยังสื่อต่าง ๆ พร้อมแถลงการณ์ขอร้องไม่ให้ระบุคำนำหน้าชื่อได้หรือไม่ หากจำเป็นให้ใช้คำว่า “คุณ”
ด้วยเธอมองว่า หากระบุชื่อ “นายเจษฎา แต้สมบัติ” เท่ากับตบหน้ากัน เพราะคำนั้นรู้สึกไม่ใช่เรา รวมถึงไม่สนับสนุนให้ใช้คำว่า “สาวประเภทสอง” โดยตั้งคำถามว่า แล้วใครเป็นประเภทหนึ่ง และทำไมกลุ่มความหลากหลายทางเพศต้องเป็นรองด้วย!!!
ท้ายที่สุด หากสื่อมีการนำเสนอเรื่องกลุ่มคนความหลากหลายทางเพศอย่างเคารพและเข้าใจในมนุษย์คนหนึ่งจะสร้างให้เกิดการยอมรับและการเปลี่ยนแปลงสังคมให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังแสดงให้เห็นความเป็นมืออาชีพในการทำข่าวอีกด้วย .
ภาพประกอบ:https://www.bangkokbanksme.com/article/8226