อดีต'บิ๊กก.อุตฯ'ชี้ร้องเรียน'บินไทย'จริง ซัดป่วนกันเอง
ออกตัวแล้ว ผู้โดยสารที่เสียสละที่นั่งให้”กัปตันบินไทย”เป็นอดีต"บิ๊กกระทรวงอุตสาหกรรม" เผยทำหนังสือร้องเรียนจริง แต่หลุดไปโลกออนไลน์ได้ยังไง ขณะที่ผู้บริหารการบินไทยเตรียมเข้าพบขอโทษ
จากกรณีที่มีผู้โดยสารร้องเรียนความล่าช้าของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ ทีจี 971 เส้นทาง ซูริค-กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 11 ต.ค.61 โดยระบุว่า เที่ยวบินดังกล่าว มีกำหนดการบินออกจาก นครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เวลา 13.30 แต่ล่าช้ากว่ากำหนด หลายชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้เชิญผู้โดยสารที่จองตั๋วมาให้เปลี่ยนที่นั่ง เนื่องจากพบว่า มีคณะนักบินที่ต้องการเดินทางกลับ 4 คน และต้องการที่นั่งดังกล่าว หากไม่เปลี่ยนก็จะไม่ยอมบิน จนทำให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วมาต้องยอมเปลี่ยนที่นั่ง เพื่อให้เที่ยวบินเดินทางต่อไปได้นั้น
ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ผู้สื่อข่าวได้ สัมภาษณ์ นายศักดิ์ดา พันธ์กล้า อดีตรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หลังทราบว่าเป็นผู้ที่ยอมเปลี่ยนที่นั่งให้กับนักบิน โดย นายศักดิ์ดา กล่าวว่า หลังเกิดเรื่องขึ้นตนได้ทำหนังสือร้องเรียน ไปตามช่องทางที่การบินไทย ให้ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ตามปรกติจริง แต่ไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวหลุดออกมาเผยแพร่ในโลกโซเชียลได้อย่างไร ทั้งนี้ทางผู้บริหารการบินไทยได้ประสานขอเข้าพบตน ในวันจันทร์ ที่ 22 ต.ค.นี้ เพื่อหารือถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องนี้ยังอยู่ในการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งตนก็ต้องรอดูท่าทีของการบินไทยว่าจะจัดการปัญหานี้ได้อย่างไร พร้อมกันนี้ทางการบินไทยยังขอร้องตน อย่างเพิ่งให้ข่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งตนก็พร้อมจะยอมทำตามคำขอร้อง
ขณะที่นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจ และขออภัยต่อผู้โดยสารทุกท่านที่ทำให้ได้รับผลกระทบต่อการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดความล่าช้า และขอโทษท่านผู้โดยสารที่ได้ผลกระทบโดยตรงจากการย้ายที่นั่ง ขอน้อมรับผิดต่อผู้โดยสารในเที่ยวบินดังกล่าว อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง กระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว มีรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย เป็นประธานฯ นอกจากนี้จะกำหนดมาตรการป้องกันเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคตด้วยขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายจำหน่ายตั๋วโดยสาร นายสถานีที่ซูริค หัวหน้านักบินได้จัดทำรายงานข้อเท็จจริงของแต่ละหน่วยงานเสนอมา เพื่อให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนจะสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จเมื่อไหร่ และบทลงโทษจะเป็นอย่างไรยังบอกไม่ได้ เพราะหากสอบเสร็จเร็วมาก ก็จะถูกต่อว่า ว่าสอบแบบลวกๆ แต่ถ้าช้ามากก็อาจจะถูกตำหนิจากคนที่คาดหวัง ดังนั้นเราต้องสอบว่าเป็นปัญหาที่คน หรือระบบการจองที่นั่ง หากพบว่าระบบเฮงซวยก็ต้องแก้ไข แต่หากเป็นปัญหาเกิดจากคนก็ต้องลงโทษคนที่ทำผิด
ด้านนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องภายในที่บริษัท การบินไทยฯ ต้องไปตรวจสอบ และมีมาตรการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก อย่างไรก็ตามในส่วนของ กพท. คงไม่ลงไปตรวจสอบอะไร และไม่ต้องรายงานมาที่ กพท. เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยที่ กพท. กำกับดูแลอยู่สำหรับการกำหนดที่นั่งให้กับนักบินนั้น ตนไม่ทราบ คงเป็นเรื่องที่ทางสายการบินเป็นผู้กำหนด แต่ตามระเบียบเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยที่ กพท. กำหนดตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักบินนั้น กำหนดไว้ว่า นักบินต้องสะสมชั่วโมงพักผ่อนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะสามารถทำการบินต่อหลังจากลงเครื่องได้ ดังนั้นหากเครื่องบินมีที่นอนสำหรับนักบิน นักบินก็จะได้นอน แต่หากไม่มีที่นอนก็ต้องให้นักบินได้นั่งในพื้นที่ที่สามารถพักผ่อนได้ดีที่สุด.