ร่ำไห้กลางศาล!ละเอียดคำพิพากษาคุกจริง 10 เดือน ‘สุพจน์’ ปกปิดทรัพย์สิน
ร่ำไห้กลางศาล-ปลอบครอบครัวว่า “แปบเดียว” พลิกพฤติการณ์ละเอียด อดีตปลัดคมนาคม ‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’ ปมจงใจปกปิดทรัพย์สิน เงินสด 17.5 ล้าน-รถโฟล์ค 3 ล้าน หลังองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืนคุก 10 เดือนไม่รอลงอาญา
นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นับเป็นข้าราชการระดับสูงรายล่าสุดที่ ‘ติดคุกจริง’ ข้อหาจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ โดยพิพากษายืนจำคุก 10 เดือน ไม่รอลงอาญา นายสุพจน์ กรณีจงใจปกปิดทรัพย์สินช่วงดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม (ปี 2552-2554) และกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 ตำแหน่ง เป็นเงินสด 17,553,000 บาท (เงินที่ได้จากการถูกปล้นบ้าน) และรถโฟล์คสวาเกน 1 คัน มูลค่า 3 ล้านบาท หลังจากช่วงปี 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 10 เดือนคดีดังกล่าวไปแล้ว แต่นายสุพจน์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา (อ่านประกอบ : อุทธรณ์พิพากษายืนคุก 10 เดือน ไม่รอลงอาญา อดีตปลัด‘สุพจน์’จงใจปกปิดทรัพย์สิน)
สำหรับรายละเอียดคำพิพากษา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปได้ ดังนี้
กรณีนี้สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ร้องให้ศาลวินิจฉัย หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูความผิดนายสุพจน์ คดีจงใจปกปิดทรัพย์สิน เป็นเงินสด 17,553,000 บาท และรถโฟล์คสวาเกน 1 คัน มูลค่า 3 ล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 20 ล้านบาท
กรณีนี้สืบเนื่องจากที่มีคนร้ายบุกปล้นบ้านนายสุพจน์ ในซอยลาดพร้าว 64 เมื่อค่ำวันที่ 12 พ.ย. 2554 โดยผู้ร่วมทำผิดทางอาญาได้ให้การว่า พบเงินสดในบ้านของนายสุพจน์ประมาณ 500 ล้านบาท โดยนายสุพจน์ไม่สามารถชี้แจงที่มาที่ไปของเงินประมาณ 17 ล้านบาทเศษ และรถโฟล์คสวาเกนคันดังกล่าวได้
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ 9 ราย พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสุพจน์ไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้ง 2 รายการ ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่ควรต้องเป็นตัวอย่างที่ดี แต่กระทำผิดเสียเอง จึงนับว่าเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง แม้นายสุพจน์ไม่เคยกระทำผิดมาก่อน และเคยประกอบคุณงามความดีปฏิบัติหน้าที่ราชการจนได้ตำแหน่งระดับสูง ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้รอการลงโทษ อุทธรณ์ของนายสุพจน์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนจำคุก 10 เดือน และห้ามดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐ 5 ปี และให้คืนหลักประกัน 2 ล้านบาท
หลังอ่านคำพิพากษา ครอบครัวและญาติของนายสุพจน์ที่เดินทางมาให้กำลังใจ ได้ร่ำไห้เข้าไปสวมกอดกับนายสุพจน์พร้อมพูดคุย ส่วนนายสุพจน์มีสีหน้าเศร้าหมองน้ำตานองหน้า พูดปลอบใจคนในครอบครัวว่า “แปบเดียว” ก่อนถอดสิ่งของมีค่าฝากไว้กับครอบครัว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์นำตัวไปคุมขังรับโทษตามคำพิพากษา
ในชั้นการพิจารณาคดี นายสุพจน์ ได้ต่อสู้ว่า เงิน 17 ล้านบาทเศษ และรถโฟล์คสวาเกนดังกล่าว ไม่ใช่ของตัวเอง แต่รถเป็นของนายเอนก จงเสถียร นักธุรกิจฟิล์มถนอมอาหาร และได้คืนให้กับนายเอนกไปแล้ว ต่อมาภายหลังนายเอนกได้มอบรถคันดังกล่าวให้กับวัดแห่งหนึ่งเพื่อใช้ประกอบกิจของสงฆ์ ส่วนเงิน 17 ล้านบาทเศษ ที่เป็นของกลางที่คนร้ายอ้างว่าได้มาจากการปล้นบ้านนายสุพจน์นั้น หลังเกิดเหตุได้แจ้งความว่าเงินหาย 5,068,000 บาท โดยเป็นเงินสินสอดในงานแต่งบุตรสาว และภายหลังเสร็จสิ้นพิธี ได้คืนให้กับบุตรสาวและบุตรเขย จึงไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน 2 รายการนี้ นอกจากนี้การไต่สวนของ ป.ป.ช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้ชี้มูลความผิดให้ได้แก้ข้อกล่าวหา แต่มาดำเนินการภายหลัง
ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาแล้วเห็นว่า เงินที่เกิดเหตุปล้นเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2554 ตามคำให้การของคนร้าย รับฟังได้ว่า นำไปแต่เงินสดจำนวนมากที่นายสุพจน์เก็บไว้เท่านั้น ไม่ได้นำเงินสินสอดไปด้วย จึงเชื่อว่า เงินที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินจำนวน 17 ล้านบาทเศษ เป็นเงินก้อนเดียวกับที่ถูกปล้นบ้าน ไม่ใช่เงินสินสอด ซึ่งนายสุพจน์ต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินส่วนนี้
ส่วนรถโฟล์คสวาเกน มูลค่า 3 ล้านบาท ที่นางนฤมล ทรัพย์ล้อม ภรรยานายสุพจน์ อ้างว่า เป็นรถที่นายเอนก จงเสถียร มอบให้เป็นค่าตอบแทนที่ช่วยเหลืองานสอนเด็กและเผยแพร่ศาสนานั้น เห็นว่า ระยะเวลาการไปช่วยงานเพียง 2 เดือน และเป็นการช่วยงานเพียงครั้งคราว แต่กลับได้รถมูลค่าถึง 3 ล้านบาท แตกต่างจากพนักงานบริษัทที่ทำงานประจำได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน 30,000-50,000 บาท และยังมีหลักฐานว่า ในการชำระเงินซื้อรถ นายเอนกได้มอบเงินให้กับนางนฤมลหลายครั้ง ถือว่ามีพิรุธ และเสี่ยงต่อการสูญหาย อีกทั้งการจดทะเบียนเลขทะเบียน ก็เป็นเลขกลลุ่มเดียวกับเลขทะเบียนรถของบุตรสาวนายสุพจน์ ไม่ได้ใกล้เคียงกับกลุ่มรถของนายเอนกที่มีอยู่หลายคัน
ขณะที่ความสัมพันธ์ของนายเอนกกับนายสุพจน์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ระหว่างที่นายสุพจน์เป็นกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายเอนกได้ทำสัญญาทางธุรกิจกับเอกชนกลุ่มหนึ่งที่ทำธุรกิจอยู่ในท่าอากาศยาน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า รถคันดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของนายสุพจน์ในชื่อผู้อื่น โดยมีวัดเป็นผู้ครอบครองชั่วคราว และเป็นทรัพย์สินที่ต้องแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาว่า แม้จะมีทรัพย์สินเพียง 2 รายการ แต่พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า นายสุพจน์ไม่ประสงค์ที่จะให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน หลังจากพ้นตำแหน่งประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บอร์ดการบินไทย ประธานบอร์ดรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม และพ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมครบ 1 ปี รวมจงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน 5 ครั้ง ในทรัพย์สินชุดเดียวกัน พิพากษาจำคุกกระทงละ 2 เดือน รวม 10 เดือน ไม่รอลงอาญา
อ่านประกอบ :
คุก10เดือนไม่รอลงอาญา!‘สุพจน์’ซุกทรัพย์สิน5ครั้งช่วงนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ-ปลัดคมนาคม
โดนอีกคดี‘สุพจน์ ทรัพย์ล้อม’! ป.ป.ช.ชงศาลฎีกาฯซุกบัญชีทรัพย์สิน
มาเอาเงินของนาย! คนร้ายเล่า วันปล้นบ้าน ปลัดคมนาคม มี 500 ล. ขนได้ 200 ล.