ธนาคารโลกชี้สุขภาพ-การศึกษาเด็กไทยยังต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
รายงานดัชนีทุนมนุษย์ของธนาคารโลกเผย การดูแลสุขภาพและคุณภาพการศึกษาเด็กไทย ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาค เข้าเรียนเฉลี่ย 12.4 ปี แต่คุณภาพที่ได้เทียบเท่าแค่ 8.6 ปี
รายงานฉบับนี้ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา เป็นการวัดผลรวมของทุนมนุษย์ตั้งแต่เกิด จนถึงอายุ 18 ปี โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและคุณภาพทางการศึกษาในประเทศ ที่เด็กอาศัยอยู่ โดยพิจารณา 3 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ การอยู่รอด คือเด็กที่เกิดวันนี้และมีชีวิตรอดจนถึง วัยเรียน โรงเรียน คือเด็ก ๆ ได้รับการศึกษากี่ปีและได้เรียนรู้อะไรบ้าง และสุขภาพ คือเด็กๆ มีสุขภาพดี ในวันที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และพร้อมจะเรียนต่อหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะผู้ใหญ่ เต็มตัวหรือไม่
ดัชนีนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้เด็กไทยโดยเฉลี่ยจะสามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาเป็นเวลารวม 12.4 ปี จนถึงอายุ 18 ปี แต่เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพการเรียนรู้แล้ว เท่ากับเด็กได้รับการศึกษาเพียง 8.6 ปีเท่านั้น โดย 3.8 ปี ที่หายไปเป็นเพราะคุณภาพการศึกษาที่ยังไม่ได้มาตรฐาน
"ประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากในการขยายการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และมีอัตราของ เด็กเตี้ยแคระแกร็นอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของรัฐบาลตลอดเวลาที่ผ่านมา" นางมารา เค วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศบรูไนดารูซาราม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทยกล่าว "อย่างไรก็ดีรัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของคุณภาพการศึกษา เพื่อให้เด็กที่เกิดในวันนี้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาเป็นพลเมืองที่มีผลิตภาพ ในอนาคต"
เธอยังได้บอกต่ออีกว่า รัฐบาลไทยตระหนักดีถึงเรื่องนี้และได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐทางด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ด้านการศึกษาและความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา
รายงานดัชนีทุนมนุษย์นี้ระบุว่า เด็กที่เกิดใหม่ทั่วโลกร้อยละ 56 สูญเสียศักยภาพในการสร้างรายไ ด้ตลอดชีวิตเกินกว่าครึ่ง เนื่องจากรัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสุขภาพ การศึกษา รวมถึงการเตรียม ประชาชนให้พร้อมกับงานในอนาคตอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยนั้น เด็กที่เกิดในวันนี้ จะมีผลิตภาพเพียงร้อยละ 60 ของศักยภาพที่พวกเขาควรจะมี
โดยรวมแล้ว ประเทศไทยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ระดับเดียวกัน (กลุ่มประเทศ รายได้ปานกลางค่อนข้างสูง) แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก