รู้กันยัง? กทม.มีระเบียบขึ้นทะเบียนสุนัข 16 ปีมีคนมาทำแค่ 1 ใน 3 จากยอด 6 แสน
“ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนเลี้ยงสัตว์ว่า บางคนเขาก็เลี้ยงดูแลดี มีความรับผิดชอบ แต่บางคนก็เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ไร้ความรับผิดชอบ ทำให้คนที่ไม่เลี้ยงสัตว์หลายคนชี้เป้าว่า คนเลี้ยงสัตว์ไม่รับผิดชอบ จึงชี้เป้ามาให้เกิดการบังคับการขึ้นทะเบียนสัตว์อย่างจริงจัง”
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนาหู !
กรณีกำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. จากไอเดียของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เบื้องต้นถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่า มีการจัดเก็บค่าขึ้นทะเบียนสัตว์ ไม่เกิน 450 บาท/ตัว
อย่างไรก็ดีนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันแล้วว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว การบังคับใช้จะออกเป็นกฎกระทรวง โดยแบ่งการขึ้นทะเบียนเป็น 3 กลุ่ม คือ ประชาชนทั่วไปกำหนดการเลี้ยงสุนัข-แมวกี่ตัว สถานสงเคราะห์ และกลุ่มเลี้ยงเพื่อการค้า โดย 3 กลุ่มนี้กำหนดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 450 บาท/ตัว และให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นไปเก็บ ต้องออกเป็นข้อบัญญัติของท้องถิ่นโดยต้องผ่านความเห็นชอบของสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน แต่เบื้องต้นในการขึ้นทะเบียนรอบแรก ดำเนินการฟรีภายใน 1 ปี
แต่รู้กันหรือไม่ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2545 กรุงเทพมหานคร (กทม.) เคยออกระเบียบ กทม. ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2545 มาแล้ว ?
จนถึงปัจจุบัน ผ่านมากว่า 16 ปี มีคนเอาสุนัขมาขึ้นทะเบียนกับ กทม. เพียงแค่ประมาณ 1 ใน 3 ของยอดทั้งหมดเท่านั้น !
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับคำยืนยันจาก นายสัตวแพทย์ ศิวะ ไม้สนธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการรับขึ้นทะเบียนสัตว์และสุนัขว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า นับตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน มีสุนัขที่อยู่ในการครอบครองของประชาชนประมาณ 6 แสนตัว แต่ที่ผ่านมามีการนำมาขึ้นทะเบียนแค่ประมาณ 220,000 ตัวเท่านั้น โดยช่วงแรกมีคนมาขึ้นทะเบียนจำนวนมาก หลังจากนั้นเริ่มซาลงไป
สำหรับขั้นตอนขึ้นทะเบียนสุนัขตามระเบียบของ กทม. โดยเป็นการฝังไมโครชิปใส่ตัวสุนัข หลังจากนั้นให้เจ้าของนำสุนัขที่ฝังไมโครชิป พร้อมกับหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของมาขึ้นทะเบียน โดยขั้นตอนทั้งหมดดำเนินการ ‘ฟรี’
แต่ทำไมประชาชนถึงนำมาขึ้นทะเบียนน้อย ปัญหาและอุปสรรคอยู่ตรงไหน ?
นายสัตวแพทย์ศิวะ ระบุว่า มี 3 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 1.ระเบียบที่ออกมาทำให้เจ้าของสุนัขกังวล ถ้าเกิดมีการนำสุนัขมาขึ้นทะเบียน เวลานำไปทิ้ง หรือไม่อยากเลี้ยง อาจทำให้ต้องมาเสียค่าใช้จ่ายได้ 2.การประชาสัมพันธ์ของ กทม. อาจเข้าถึงประชาชนได้น้อย มีหลายคนยังไม่ทราบว่า กทม. เปิดให้ขึ้นทะเบียนสุนัข และ 3.เจ้าของสุนัขไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือมองไม่เห็นความสำคัญ คิดว่าไม่สะดวก
“ปัจจุบัน ความคิดเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป มีเจ้าของสุนัข หรือสัตว์อื่น ๆ เล็งเห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว และเริ่มมีการนำสุนัข หรือสัตว์อื่น ๆ ที่ต้องขึ้นทะเบียนมาขึ้นทะเบียนมากขึ้น เพราะเขามองว่า เจ้าของสัตว์จำเป็นต้องรับผิดชอบกับการเลี้ยงดู”
“ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนเลี้ยงสัตว์ว่า บางคนเขาก็เลี้ยงดูแลดี มีความรับผิดชอบ แต่บางคนก็เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ไร้ความรับผิดชอบ ทำให้คนที่ไม่เลี้ยงสัตว์หลายคนชี้เป้าว่า คนเลี้ยงสัตว์ไม่รับผิดชอบ จึงชี้เป้ามาให้เกิดการบังคับการขึ้นทะเบียนสัตว์อย่างจริงจัง” เป็นคำยืนยันของ ผอ.สำนักสัตวแพทย์และสาธารณสุข
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น นายสัตวแพทย์ศิวะ ระบุว่า ต้องรอดูก่อนว่าหน้าตากฎหมายฉบับจริงจะออกมาแบบไหน เพราะถือเป็นกฎหมายหลัก ส่วนระเบียบของ กทม. เป็นกฎหมายรอง ถ้าขัดหรือแย้งกับกฎหมายหลัก ต้องปรับแก้ไขให้สอดคล้องกัน
สำหรับระเบียบ กทม. ว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสุนัข พ.ศ.2545 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
แบ่งสุนัขออกเป็น 2 สาย คือ สุนัขธรรมดา และสุนัขควบคุมพิเศษ ได้แก่ สุนัขสายพันธ์พิทบูลเทอเรีย บูลเทอเรีย สเตฟฟอร์ดเชอร์บูลเทอเรีย และสายพันธุ์อื่นที่ กทม. กำหนด รวมถึงสุนัขที่มีประวัติทำร้ายคน หรือพยายามทำร้ายคน โดยมีหลักฐานการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสุนัขที่มีพฤติกรรมไล่ทำร้ายคนหรือสัตว์ โดยปราศจากการยั่วยุ
ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
ข้อ 5 กำหนดให้สุนัขเป็นสัตว์ที่ต้องทำทะเบียน และให้เจ้าของสุนัขมีหน้าที่นำสุนัขไปทำทะเบียน
ข้อ 6 ให้เจ้าของสุนัขนำสุนัขมาจดทะเบียนได้ที่กองสัตวแพทย์สาธารณสุข หรือหน่วยงานเอกชนที่ได้รับมอบหมายจาก กทม.
ข้อ 7 เจ้าของสุนัขต้องนำเอกสารเกี่ยวกับสุนัขที่จดทะเบียนไว้แล้ว มาขึ้นทะเบียนได้ที่กองสัตวแพทย์สาธารณสุข หรือสำนักงานเขตท้องที่
ข้อ 8 เจ้าของสุนัขต้องทำทะเบียนสุนัขภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ กทม. ออกประกาศ กรณีสุนัขเกิดก่อนวันครบกำหนด 1 ปี และมีอายุไม่ครบ 60 วัน ให้ผ่อนผันจนถึงสุนัขอายุครบ 60 วัน
ข้อ 9 สุนัขที่เกิดหลังวันครบกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ กทม. ประกาศ เจ้าของสุนัขต้องทำทะเบียนเมื่อสุนัขอายุไม่เกิน 60 วัน
ข้อ 11 การขึ้นทะเบียนสุนัขต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันจดทะเบียน
ข้อ 13 บัตรประจำตัวสุนัขมีอายุ 2 ปี เว้นแต่บัตรประจำตัวสุนัขที่ทำหมันแล้วให้มีอายุ 4 ปี และเจ้าของสุนัขต้องต่อบัตรประจำตัวสุนัขภายใน 30 วันนับตั้งแต่บัตรหมดอายุ
ข้อ 18 เจ้าของสุนัขมีหน้าที่กำจัดสิ่งปฏิกูลอันเกิดจากสุนัขในที่สาธารณะโดยทันที
ข้อ 22 เจ้าของสุนัขมีหน้าที่ระวังและรับผิดชอบมลภาวะทางด้านเสียงและกลิ่นที่รบกวนผู้อื่น รวมตลอดถึงอันตรายต่อสุขภาพของผู้อื่น
ข้อ 23 สุนัขที่เจ้าของไม่พึงประสงค์จะเลี้ยงดูอีกต่อไป เจ้าของสุนัขต้องมอบสุนัข พร้อมบัตรประจำตัวสุนัข ให้กับบุคคลอื่นที่ยินยอมด้วยความเต็มใจ และเจ้าของใหม่ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 30 วัน หากไม่สามารถหาผู้อุปการะได้ และประสงค์มอบให้ กทม. ดูแล ให้เสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูให้ กทม. กำหนด
ข้อ 24 กรณีเจ้าหน้าที่ดำเนินการจับและควบคุมสุนัขที่มีเจ้าของในที่สาธารณะ และเจ้าของใหม่ไม่ติดต่อรับคืนใน 30 วัน ให้สุนัขตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. ที่ดำเนินการต่อไปตามความเหมาะสม เจ้าของเดิมจะถูกปรับตามอัตราสูงสุด
ข้อ 30 ผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบนี้มีโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535
สำหรับ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 บัญญัติเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ไว้ใน หมวด 6 การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ สรุปได้ว่า หากพบสัตว์ที่ถูกปล่อยไว้โดยไม่ปรากฏเจ้าของ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น กักสัตว์ไว้ได้อย่างน้อย 30 วัน หากไม่มีใครมาแสดงหลักฐานรับคืน ให้สัตว์ตกเป็นของส่วนราชการท้องถิ่น แต่กรณีมีเจ้าของสัตว์มาขอรับคืนใน 30 วัน เจ้าของจะต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูสัตว์ให้แก่ส่วนราชการท้องถิ่นตามจำนวนที่จ่ายจริง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก HonestDocs