เเบรนด์สินค้ากับความรับผิดชอบขยะพลาสติก
กรีนพีซ เปิดผลการตรวจสอบเเบรนด์จากขยะพลาสติกในไทย ภายใต้เเนวร่วม 42 ประเทศ ทั่วโลก หวังรณรงค์บริษัทผู้ผลิตลดใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เรียกร้องความรับผิดชอบต่อสิ่งเเวดล้อม
42 ประเทศ จากทั่วโลก ได้เข้าร่วมกิจกรรมตรวจสอบเเบรนด์ (band audit) ในปี 2561 เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ปริมาณพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลง เเละผลักดันทางออกที่ยั่งยืนทดเเทน โดยเป็นการทำงานภายใต้ความร่วมมือของเเนวร่วม Break Free From Plastic
"ไทย" เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่เเนวร่วมดังกล่าว ผ่านกิจกรรม "ทำความสะอาดพื้นที่" (clean up) ซึ่งจะบอกได้ว่า บริษัทใดควรต้องรับผิดชอบมากที่สุดต่อขยะพลาสติก
ข้อมูลจากกรีนพีซ ประเทศไทย ที่เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ โรงเเรม Vic 3 ได้อ้างถึงการศึกษาในปี 2560 ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกับชายฝั่งทะเลหลายเเห่งทั่วโลก พบว่า ชายฝั่งทะเลของ จ.ชลบุรี มีอัตราการตกสะสมของขยะ (debris deposition rate) ที่มาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการท่องเที่ยวเเละการประมงสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เเละมากกว่าร้อยละ 45 เป็นพลาสติก
หาดวอนนภา เทศบาลตำบลเเสนสุข ต.เเสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี จึงเป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงพื้นที่ตรวจสอบเเบรนด์ ระหว่างวันที่ 15-16 ก.ย. 2561 โดยพิจารณาจากเงื่อนไข คือ ต้องมีจุดรองรับขยะที่ถูกเก็บขึ้นจากชายหาด เเละเป็นตัวอย่างของพื้นที่ชุมชนเมืองเเละเเหล่งท่องเที่ยว มีการขยายตัวของชุมชนเเละธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีเเนวโน้มปริมาณขยะเพิ่มขึ้น รวมถึงมีข้อมูลพื้นฐานการสำรวจขยะทะเล จากงานวิจัยของกรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง มีขนาดพื้นที่ในการทำกิจกรรมทำความสะอาดชายหาดเเละตรวจสอบเเบรนด์ที่สอดคล้องกับอาสาสมัครเเละผู้เข้าร่วมกิจกรรม 50 คน
ทั้งนี้ การตรวจสอบเเบรนด์ มีพื้นที่ตั้งเเต่สะพานท่าเรือประมงขนานไปตามเเนวชายหาด ระยะทาง 350 เมตร
ผลการตรวจสอบเเบรนด์ ปรากฎว่า มีขยะพลาสติกที่เก็บได้เเละเเยกออกมาตรวจสอบเเบรนด์ ทั้งสิ้น 2,781 ชิ้น จำเเนกเป็นเเบรนด์ของผู้ผลิตข้ามชาติ 817 ชิ้น ซึ่ง 10 อันดับเเรก ได้เเก่ Coca Cola 191 ชิ้น, Pepsico 119 ชิ้น, Yakult 78 ชิ้น, Unilever 67 ชิ้น, Nestle 63 ชิ้น, Kraft 34 ชิ้น, P&G 32 ชิ้น, AJE Group 24 ชิ้น, Colgate-Palmolive 22 ชิ้น เเละAjinomoto 20 ชิ้น
ขณะที่เเบรนด์ของผู้ผลิตในประเทศ 1,606 ชิ้น ซึ่ง 10 อันดับเเรก ได้เเก่ Dutch Mill Group 299 ชิ้น, CP Group 133 ชิ้น, Osotspa 93 ชิ้น, Sermsuk 66 ชิ้น, SPC/สหพัฒน์ 63 ชิ้น, Royal Friesland Campina 61 ชิ้น, Ichitan Group 55 ชิ้น, CBG Group/คาราบาว กรุ๊ป 54 ชิ้น, Food Star 54 ชิ้น เเละLactasoy 52 ชิ้น
ส่วนขยะพลาสติกที่ไม่สามารถระบุที่มาของเเบรนด์ของผู้ผลิตข้ามชาติ มี 5 ชิ้น เเละเเบรนด์ผู้ผลิตในประเทศ 358 ชิ้น
ในจำนวนพลาสติก 2,781 ชิ้น จำเเนกตามประเภทของผลิตภัณฑ์ได้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร 2,513 ชิ้น หรือร้อยละ 91 ของใช้ส่วนตัว 223 ชิ้น หรือร้อยละ 7 เเละผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน 45 ชิ้น หรือร้อยละ 1
เมื่อเเบ่งตามชนิดของพลาสติก พบว่า เป็นพลาสติกหลายชั้น (Multi Layers) มีมากที่สุด ร้อยละ 30 ( 833 ชิ้น ) ตามมาด้วย โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (PDPE) ร้อยละ 19 (539 ชิ้น), โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ร้อยละ 19 (523 ชิ้น), โพลีโพรไพลีน (PP) ร้อยละ 9 (255ชิ้น), โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ร้อยละ 9 (243 ชิ้น), โพลีสไตรีน (PS) ร้อยละ 8 (231 ชิ้น), พลาสติกชั้นเดียว (SL) ร้อยละ 5 (133ชิ้น) และพลาสติกอื่น ๆ ร้อยละ 1 ) 24 ชิ้น
กรีนพีซ จึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยความรับผิดชอบของผู้ผลิต ที่สำคัญ คือ บริษัทหรือเเบรนด์ระดับโลกต้องให้ความสำคัญกับการนำกลับมาใช้ใหม่ เเละพัฒนาระบบการจัดส่งสินค้าในประเทศที่มีเเนวโน้มของการเล็ดลอดของพลาสติก ลดละเลิกบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ร่วมมือในการสร้างการออกเเบบบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้สูงสุด ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ในลูกค้าเเละประชาชนทั่วไปถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เเละสนับสนุนกฎหมายเเละนโยบายในการลดขยะพลาสติก
เพื่อผลสำเร็จในอนาคต มิฉะนั้นในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า หรือ ปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) การผลิตพลาสติกจะเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว เป็นราว 1.5 พันล้านตัน
ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของผู้บริโภคเท่านั้น เเต่หมายรวมถึง "เจ้าของเเบรนด์สินค้า" เเละทุกคนบนโลกใบนี้ด้วย
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:กรีนพีซสุ่มเก็บขยะพลาสติกหาดวอนฯ จ.ชลบุรี พบ ‘โคคาโคล่า-ดัชมิลล์’ เยอะสุด