นักการเมืองปลุกปชช.ลต.ชี้ชะตาคสช. เตือนสืบทอดอำนาจจบไม่สวย
เวทีเสวนา"42 ปี 6 ตุลาฯ" แนะถอดบทเรียนไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย "ธนาธร" ปลุกปชช.ไปเลือกตั้งเลือกวัดชะตาคสช. ด้าน"อรรถวิชช์" เปรียบ"บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" เป็น"ถนอม-ประภาส" ชี้จุดจบไม่สวย
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ จัดเสวนา "42 ปี 6 ตุลาฯ จุฬาฯมองอนาคต" โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า 14 ตุลา 2516 และ 6ตุลา 2519 ประชาชนตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิป แต่เสียดายที่เป็นเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เราก็ตกอยู่ในประชาธิปไตยครึ่งใบมาโดยตลอด ขณะเดียวกันวาทกรรมของผู้มีอำนาจที่ต้องการทำให้คนกลัวคือ ประชาธิปไตยเป็นตัวสร้างปัญหา เพื่อเป็นข้ออ้างให้ชนชั้นนำหรือทหารเข้ามายึดอำนาจ ดังนั้นเชื่อว่าหากประชาชนและพรรคการเมืองปฏิเสธอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยและประชาชน
"เราจะปรองดองด้วยอำนาจที่กดทับคนอื่น หรือเอารองเท้าบูทเหยียบคนอื่นให้ปรองดองไม่ได้ จึงต้องใช้ความเป็นธรรมอย่างเดียว รวมทั้งต้องเอาความทรงจำและความจริงกลับคืนมา พร้อมเชิดชูคนที่เคยต่อสู้มา เพื่อกลับสู่ประชาธิปไตย หยุดการสืบทอดอำนาจของคสช.ให้ได้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศว่าคนไทยจะอยู่กับเผด็จการต่อไปหรืออยู่กับเสรีภาพ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ว่าประเทศจะไปทางไหน ขณะเดียวกันเราต้องล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมดนี้ให้ได้ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนและพรรคการเมืองว่าจะพร้อมใจกันต่อสู้เพียงใด"นายธนาธร กล่าว
ด้านนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในยุคก่อนมีจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งตนเปรียบประมาณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการตั้งพรรคสหประชาไทยต่อท่ออำนาจเพื่อเดินสู่การเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเป็นเผด็จการที่ไม่คุ้นเคยกับระบบรัฐสภาก็มีการปฏิวัติ ต่อมาในการรัฐประหารหลายครั้งทั้งในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ก็มีการต่อท่ออำนาจโดยการตั้งพรรคสามัคคีธรรม ที่ดูดทุกพรรคการเมืองเข้ามา แต่เมื่อจะเลือกนายกฯ กลายเป็นพล.อ.สุจินดา คราประยูร สมาชิกรสช. ต่อท่ออำนาจอีก จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น มาจนถึงยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ที่ตอนหลังพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็มาตั้งพรรคมาตุภูมิ แต่สุดท้ายเหลือสมาชิกเพียงคนเดียว
นายอรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า มาถึงวันนี้ก็มีพรรคพลังประชารัฐ มองว่าเป็นการต่อท่อรัฐบาล เพราะมี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน แชะไม่ทราบว่าเป็นพรรคของพล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่เพราะยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่ต่อท่ออำนาจโดยการตั้งพรรค เพราะสุดท้ายแล้วหากไม่เจอการรัฐประหารตัวเองหรือกลุ่มอำนาจอื่นทำรัฐประหาร ก็จะเจอกับระบบส้นเท้าแห่งชาติ คือ เจอกับประชาชน ทั้งนี้หากพลังประชารัฐทำในลักษณะต่อท่ออำนาจ ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาถือเป็นเรื่องใหญ่ อย่าลืมว่าพล.อ.ประยุทธ์ สวมหมวก 2 ใบ แม้วันนี้ไม่รู้จะมาเป็นแคนดิเดตเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่หมวกอีกใบคือเป็นหัวหน้าคสช. ซึ่งส.ว.จำนวน 250 ตน ก็มาจากการคัดเลือกของคสช. ซึ่งสิ่งที่อันตรายที่สุดของการต่อท่ออำนาจคือหากหัวหน้าคสช. ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาที่มาจากประชาชน เกิดหักเหลี่ยมเมื่อพรรคการเมืองจับมือได้เกิดครึ่งของสภา แต่กลับไม่ให้ส.ว. ยกมือให้เป็นก็จะบรรลัยกันหมด ย้ำว่าตนเองไม่ได้รังเกียจทหาร แต่อย่าเอาสถาบันทหารมาปนกับสถาบันการเมือง.
ที่มาข่าว:https://dailynews.co.th/politics/671374