ลุยคัดกรองลดภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน ปี 60-61 เกินเป้านับล้านราย
'หมอศักดิ์ชัย' เผย google รุก “โครงการทำนายเบาหวานจากภาพดวงตา” ผลจากประเทศไทยเน้นความสำคัญดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ระบุ สปสช.ร่วมหนุนแผนยุทธศาสตร์ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี ลุยคัดกรองลดภาวะแทรกซ้อนเบาหวาน ปี 60-61 เกินเป้านับล้านราย
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกูลเกิ้ล (google) บริษัทเว็บไซต์ค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตชั้นนำของโลกเลือกประเทศไทยเป็นพื้นที่ดำเนิน “โครงการทำนายเบาหวานจากภาพดวงตา” หนึ่งในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากเป็นประเทศที่มีโครงการคัดกรองเบาหวานในระดับประเทศว่า การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังโดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง หากดูแลสุขภาพไม่ดีจะนำไปสู่การเจ็บป่วยแทรกซ้อนด้วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ ตาบอดจากเบาหวาน และภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งข้อมูลผลสำรวจสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย พบความชุกของโรคเบาหวานอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จากร้อยละ 6.9 ในปี 2547 เพิ่มเป็นร้อยละ 8.8 ในปี 2557 โดยผู้หญิงเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 9.8 ขณะที่ผู้ชายเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 7.8 และกลุ่มอายุ 60-69 ปี มีความชุกของโรคเบาหวานสูงที่สุด
ทั้งนี้ สปสช. โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ตระหนักและเห็นความจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนด้านสุขภาพเพื่อเร่งรัดดำเนินการอย่างจริงจัง ในการลดหรือชะลอการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงไม่ให้เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งผู้เจ็บป่วยแล้วสามารถเข้าถึงบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงที่มีคุณภาพ เพื่อป้องกันหรือชะลอภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น นอกจากการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาได้จัดให้มีงบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โดยเป็นงบสนับสนุนเพิ่มเติมจากงบบริการการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว
การดำเนินงานที่ผ่านมา จากที่ สปสช.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยบริการทั่วประเทศ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริการควบคุมและป้องกัน การลดภาวะความรุนแรงของโรค รวมไปถึงการคัดกรองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคเบาหวาน อาทิ ไตวายเรื้อรัง เกิดแผลรุนแรงจนต้องตัดขา อัมพฤกษ์ อัมพาต และตาบอด เป็นต้น
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า ผลการดำเนินงานในปี 2560 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง เบาหวานและความดันโลหิตสูงภายไต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 910.60 ล้านบาท เป็นค่าบริการรักษาด้วยยา ตรวจคัดกรองความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนและสนับสนุนการจัดการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วย โดยมีผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงได้รับบริการควบคุมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน จำนวน 3,811,885 คน จากเป้าหมายบริการ 2,814,300 คน คิดเป็นร้อยละ 135.45 ของเป้าหมาย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยเบาหวานและเบาหวานมีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยร้อยละ 70.56 ขณะที่ปี 2561 ข้อมูลไตรมาส 2 ระหว่างเดือนตุลาคม 2560 -มีนาคม 2561 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ได้รับการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรค ได้รับบริการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนเพื่อลดหรือชะลอการเกิดโรคแทรกซ้อนจำนวน 3,904,738 คน จากเป้าหมายที่ได้รับจำนวน 2,907,200 คน โดยเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและเบาหวานที่มีโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วยจำนวน 1,864,729 คน และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 2,040,008 คน
“การที่กูเกิลเลือกประเทศไทยในเป็นพื้นที่ดำเนินโครงการทำนายเบาหวานจากภาพดวงตา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐนั้น สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อโรคเบาหวาน โดยมีการบูรณาการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ 5 ปี (พ.ศ. 2560-2564) กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นส่วนหนึ่งเพื่อร่วมขับเคลื่อนทั้งการป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคเบาหวานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว