กสทช.ชี้ 2-3 ปีเร่งศึกษา-ทำไทม์ไลน์ใช้คลื่น 5G ในไทย
กสทช.ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับองค์กร 5GMF ร่วมศึกษา พัฒนาคลื่น 5G รองเลขาธิการฯ ย้ำชัดอนาคตโลกเล็กลงด้วยเทคโนโลยี ยันกฎระเบียบต่างๆจะเกิด-ใช้เท่าที่จำเป็น ไม่เยอะ ไม่แทรกแซงมาก
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 ณ จังหวัด ชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) นำโดยรองศาสตราจารย์ประเสริฐศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงร่วมกัน หรือ (Letter of Intent: Lol) ระหว่างสำนักงาน กสทช. และองค์กร The Fifth Generation Mobile Communication Promotion Forum (5GMF) แห่งประเทศญี่ปุ่น
สำหรับการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเจตจำนงครั้งนี้ รศ.ประเสริฐ กล่าวว่า เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีสื่อสาร 5G ในทั้งสองประเทศ รูปแบบการประยุกต์ใช้งานรูปแบบใหม่ การวิจัยและพัฒนา รวมถึงประสบการณ์ในการทดสอบภาคสนามเพื่อวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคก่อนการลงโครงข่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะสามารถนำมาพิจารณาปรับใช้กับประเทศไทยได้
"ทำอย่างไรเอาระบบ 5G มาใช้ประโยชน์กับภาคธุรกิจและประชาชนมากที่สุด เกาหลี อิตาลี ประมูลไปแล้ว ญี่ปุ่นใช้วิธีการให้เลย ส่วนของไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องมีการเปิดประมูล ฉะนั้นหน้าที่กสทช.ไปศึกษา และกำหนดระยะเวลาการดำเนินการออกมาให้เสร็จ"
รศ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยี 5G จะถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ปี 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกม ซึ่งใช้เวลาในการเตรียมตัวถึง 7 ปี ไทยตั้งเป้าเริ่มประมูลคลื่นสำหรับ 5G ภายในปี 2563 ดังนั้นกสทช.ต้องเร่งภายใน 2-3 ปี ทั้งการเลือกคลื่นความถี่ เลือกย่านความถี่ รวมถึงดูเทคโนโลยีของผู้ผลิตอุปกรณ์ต่างๆเลือกใช้
ด้านนายก่อกิจ กล่าวถึงการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ในไทย กสทช.ต้องดูทุกมิติ ทั้งเรื่องคลื่น มาตรฐานอุปกรณ์ และการนำไปใช้ อีกทั้งความทับซ้อนกับ IoT ซึ่งจากนี้ไปกสทช.จะไปทำความร่วมมือกับจีนและยุโรปด้วย
"เรื่องนี้ใหญ่กว่าที่กสทช.เคยทำมา ต้องทำงานร่วมกับหลายประเทศ เป็นเทรนด์ใหม่ทั้งคลื่น อุปกรณ์ และต้องมีมาตรฐานกลางออกมา"นายก่อกิจ กล่าว และว่า อนาคตโลกจะเล็กลงด้วยเทคโนโลยี 5G กฎระเบียบต่างๆจะเกิดและใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ออกเยอะ ไม่แทรกแซงมาก เพื่อให้ทำทันและขัดขวางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ช่วงท้าย รองเลขาธิการกสทช. กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคลด้วยว่า รอมา 3 ปี วันนี้อยู่ที่กฤษฎีกา ซึ่งกสทช.ก็ยังรอประกาศข้อมูลส่วนบุคคลในธุรกิจโทรคมนาคมอยู่