ความจริงเรื่องเยียวยากับ"ขา"ที่ขาดหาย...ความจริงจากใจตำรวจชั้นผู้น้อย
"บึ้ม" เสียงระเบิดดังก้องปลุกความเงียบสงัดบริเวณศาลาที่พักริมทางให้กลายเป็นความโกลาหล เสียงตะโกนโหวกเหวกและเสียงร้องโอดโอยด้วยความเจ็บปวดดังแทรกขึ้นท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวาย มีตำรวจโดนสะเก็ดระเบิดหลายนาย และหนึ่งในนั้นคือ ส.ต.ท.วุฒินันท์ จันทร์อ่อน จากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) สภ.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา
ชุด นปพ.ที่มี ส.ต.ท.วุฒินันท์ เป็นหนึ่งในทีม ถูกเรียกให้ไปตรวจสอบเหตุระเบิดในพื้นที่รอยต่อระหว่าง ต.โกตาบารู อ.รามัน กับ อ.เมือง จ.ยะลา แม้ "ศาลาที่พักริมทาง" จะเป็นจุดเสี่ยงอันตรายที่สุดจุดหนึ่งที่ผู้บังคับบัญชาเคยเตือนเอาไว้ แต่สถานการณ์จริงบางครั้งมันก็เลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าไปเอ็กซเรย์ความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชน
แล้วพวกเขาก็พลาดให้กับคนร้ายที่ซุกระเบิดอีกลูกหนึ่งเอาไว้...
เหตุการณ์ร้ายเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2554 เป็นเพียงข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ และถูกอ่านทางหน้าจอโทรทัศน์เพียงไม่กี่วินาที เพราะความรุนแรงในดินแดนแห่งนี้กลายเป็นเรื่องปกติและชินชาในความรู้สึกของผู้คนไปเสียแล้ว
และแม้เหตุการณ์ในวันนั้นจะเปลี่ยนชีวิตของ ส.ต.ท.วุฒินันท์ ตำรวจหนุ่มจากแดนอีสานวัยเพียง 26 ปีไปตลอดกาล เพราะเขาต้องเสียขาข้างหนึ่งไป แต่เชื่อได้เลยว่าไม่มีใครจำชื่อของเขาได้ แม้การปฏิบัติหน้าที่ของเขาจะเรียกว่า "วีรกรรม" ก็ตาม
หนึ่งปีผ่านไป ส.ต.ท.วุฒินันท์ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนเตียงคนไข้ที่โรงพยาบาลตำรวจ เรื่องราวของเขากลายเป็นอดีตไปแล้ว ไม่มีใครพูดถึงตำรวจพิการจากสถานการณ์ความไม่สงบ มีเพียงผู้ใหญ่ในรัฐบาลที่ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาไฟใต้กันรายวัน โดยที่บางคนแทบไม่เคยลงไปในพื้นที่ด้วยซ้ำ
ยังดีอยู่บ้างที่ข้าราชการเหยื่อความรุนแรงอย่างพวกเขาถูกเอ่ยถึงผ่านสื่ออีกครั้ง เมื่อรัฐบาลชุดปัจจุบันเตรียมจ่ายเงินเยียวยาเป็นกรณีพิเศษให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เริ่มทะยอยจ่ายให้ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง
หลายคนมองว่าพวกเขาโชคดีที่จะได้รับเงินเยียวยาอีกก้อน และการเป็นข้าราชการก็ได้รับความช่วยเหลือมากกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่พวกเขาเผชิญเป็นเช่นไร...
O หนึ่งปีที่ผ่านมาได้รับการเยียวยาอย่างไรบ้าง?
ก็มีสวัสดิการของตำรวจซึ่งเป็นระเบียบตามปกติอยู่แล้ว ส่วนการเยียวยาในพื้นที่พิเศษสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีอยู่เหมือนกัน เขาก็ดูแลเราระดับหนึ่ง ส่วนมากชาวบ้านหรือคนนอกพื้นที่จะมองว่าผู้ที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดนใต้ได้สวัสดิการดี เงินดี ได้สตางค์เยอะ แต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรแตกต่างกันมาก
อย่าง นปพ.ที่ผมสังกัดอยู่ เบี้ยงเลี้ยงเดือนละ 6,140 บาท ถ้าเป็นสาย ป. (ป้องกันและปราบปราม) ก็ 5 พันกว่าบาท เบี้ยเสี่ยงภัยอีก 2,500 บาท มันก็รับได้สำหรับเราที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ แต่มันก็ไม่ได้เยอะ สรุปแล้วที่แตกต่างจากตำรวจที่ไม่ได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ชายแดนใต้ก็คือเบี้ยเสี่ยงภัย 2,500 บาท กับเบี้ยเลี้ยงอีก 6,140 บาท ไม่มีมากกว่านั้น
O หลังจากได้รับบาดเจ็บ ต้องออกจากพื้นที่ ต้องนอนโรงพยาบาล มีผลกระทบกับเบี้ยเลี้ยงหรือเบี้ยเสี่ยงภัยที่เคยได้รับหรือไม่?
เมื่อไม่ได้ทำงาน เงินประจำตำแหน่งสำหรับชั้นประทวน 3,000 บาทก็ถูกตัด โดยตามระเบียบแล้วเมื่อพ้น 180 วันก็จะตัดเงินประจำตำแหน่ง ถึงแม้ว่าการไม่สามารถปฏิบัติงานได้จะสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ก็ตาม จุดนี้ผมคิดว่าควรแก้ไข เพราะไม่ได้ขาดงานเนื่องจากลาป่วย แต่เป็นการบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่น่าตัดเงินประจำตำแหน่ง
ส่วนเบี้ยเสี่ยงภัยกับเบี้ยเลี้ยง พอไม่ได้ทำงานในพื้นที่ก็ถูกตัดโดยอัตโนมัติ แต่อันนี้เราไม่ว่า เพราะเราไม่ได้ทำงานในพื้นที่แล้ว แต่เงินประจำตำแหน่งนี่ผมคิดว่าต้องแก้ไขระเบียบใหม่ และไม่ใช่เพียงแค่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่น่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วประเทศ เพราะเป็นการบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนั้นๆ ยิ่งอยู่ในพื้นที่การรบก็ถือเป็นขวัญกำลังใจ
บางคนอาจจะมองว่าจะอะไรกันนักหนากับเงินแค่ 3 พันบาท มันก็ใช่...บางคนอาจจะมองว่าเงินแค่ 3 พัน แต่สำหรับตำรวจชั้นประทวนหรือตำรวจชั้นผู้น้อยที่ได้รับบาดเจ็บ มันเป็นเงินตั้ง 3 พัน
ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมได้รับเบี้ยเลี้ยง บวกเงินเสี่ยงภัย บวกเงินประจำตำแหน่ง และเงินเดือน รวมทั้งหมดประมาณ 15,000 บาท ถึง 16,000 บาท แต่ตอนนี้ถูกหักเบี้ยเลี้ยง เงินเสี่ยงภัย และเงินประจำตำแหน่ง รวมถูกหักไปประมาณหมื่นกว่าบาท ทำให้เหลือต่อเดือนไม่กี่พันบาท ก็ค่อนข้างลำบาก เพราะถึงแม้จะอยู่โรงพยาบาลก็ยังต้องใช้จ่ายเหมือนกัน
O ถูกระเบิดจนขาขาด ทางราชการช่วยเหลือเรื่องขาเทียมด้วยหรือไม่?
ตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปกติการเบิกจ่ายจะเบิกได้ทั้งขาดใต้เข่าและเหนือเข่า คือเบิกได้ 3 หมื่นบาท แต่เป็นระเบียบเก่าที่ใช้มานานแล้ว ผมเป็นคนไข้ก็อยากได้ขาเทียมที่มันสมัยใหม่ มีวิวัฒนาการ ปัจจุบันเป็นระบบสุญญากาศแล้ว คือสวมไปแล้วมีจุกปิด สามารถพับได้ นั่งขัดสมาธิได้ แม้จะดีไม่เท่าขาจริง แต่ก็ถือว่าดีมาก ส่วนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เบิกยังเป็นขาเทียมแบบเดิมที่มีสายรัดเอว
นอกจากนั้นการเบิกจ่ายผ่านกรมบัญชีกลางก็เบิกได้แค่ 3 หมื่นบาท แต่ขาเทียมรุ่นใหม่ๆ ปัจจุบันราคาแพงกว่านั้น แม้แต่ขาของโรงพยาบาลก็ราคา 48,000 บาทเข้าไปแล้ว คิดดูว่าเบิกได้ 30,000 บาท ถ้าหากเราจะเอาขาเทียมของโรงพยาบาลก็ต้องออกเงินเองอีก 18,000 บาท ผมคิดว่าจุดนี้ควรแก้ไขเหมือนกัน เพราะขาเทียมก็มีอายุการใช้งาน ไม่ใช่ว่าจะใส่ครั้งเดียวแล้วจะเหมือนกับขาของเราที่ขาดไป ฉะนั้นน่าจะแก้ไขระเบียบเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่
O อนาคตจะทำอะไรต่อไป โดยเฉพาะเมื่อได้ขาเทียมแล้ว?
ผมจะยังเป็นตำรวจต่อไป คิดว่าจะลงไปใต้สักพักหนึ่งด้วย แต่เรื่องขาเทียมตอนนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ คือน่าจะช่วยเหลือตามสภาพที่เป็นจริง ไม่ใช่เยียวยาแบบรวมๆ ให้มันแล้วๆ ไป ที่ผมพูดนี้ก็เพื่อประโยชน์สำหรับคนที่บาดเจ็บและพิการหลังจากผม เพราะผมมั่นใจว่าผมไม่ใช่รายสุดท้ายแน่นอน ถ้าไม่ได้สิ่งที่ดีก็จะต้องทนรับสภาพแบบนั้นไปตลอด
อย่างขาเทียมนั้นสำคัญมาก ในโรงพยาบาลเรามีเกรดเดียว แต่บางคนขาดสั้นบางคนขาดยาว ขาเทียมจริงๆ มีสเป็คให้เลือก ไม่ใช่ว่าให้พอใส่ๆ ไป เพราะแต่ละคนขาขาดในลักษณะที่แตกต่างกัน ถ้าหากเป็นไปได้อยากให้หน่วยงานตำรวจหรือรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณให้คนที่ได้รับบาดเจ็บได้เลือกขาเทียมอันที่ดีและเหมาะสมกับเขา เพราะมันเกี่ยวกับสภาพจิตใจด้วย ส่วนมากคนที่มาเยี่ยมก็บอกว่าเข้าใจเรา เข้าใจนะ...แต่เขาไม่รับรู้ความรู้สึกหรอกว่ามันเป็นอย่างไร เข้าใจแต่ไม่รู้สึก มันบอกยาก ถ้าแก้ไขเรื่องขาเทียมได้ก็จะดี
O แล้วเรื่องเงินเยียวยามีปัญหาอะไรหรือไม่?
เราก็ต้องประสานกับต้นสังกัดให้เขาทำให้ ซึ่งตรงนี้คิดว่าน่าจะมีหน่วยงานเฉพาะเข้ามาดูแล อย่าไปทำให้คนไข้เครียดเลย มิฉะนั้นเราก็ต้องมาคิดมากว่าเงินเยียวยาส่วนนั้นส่วนนี้ได้หรือยัง เราก็ต้องโทร.ประสานติดตามเอง ตรงนี้ผมคิดว่าหน่วยตำรวจเรายังบกพร่องอยู่ แตกต่างกับทหาร เขาจะมีหน่วยงานทำหน้าที่ประสานให้ คนไข้ไม่ต้องยุ่งเลย แต่ของเราให้ต้นสังกัดทำส่วนหนึ่ง ถ้าเราไม่โทร.ไม่ตามก็หายไปเลย ผมอยู่โรงพยาบาลมาปีกว่ายังต้องโทร.ตามเองเลย
O ได้ติดตามข่าวเยียวยาของรัฐบาลแล้วคิดอย่างไร?
ผมไม่มั่นใจเรื่องการเยียวยาสักเท่าไหร่ ขนาดของเรายังตามยาก แต่ก็ต้องรอดู
O ขอถามเรื่องส่วนตัวบ้าง จุดเริ่มต้นของการมาเป็นตำรวจคืออะไร?
ผมชอบตำรวจอยู่แล้วตั้งแต่ตอนเป็นเด็กๆ ก็ตั้งเข็มมุ่งว่าจะต้องเป็นตำรวจให้ได้ พอสอบบรรจุเรียบร้อยก็ได้รับคำสั่งให้ลงใต้ ก็ไปได้ไม่มีปัญหา เพราะเราคิดว่าเป็นงานเป็นหน้าที่ของเรา
O คิดมาก่อนหรือเปล่าว่าจะเจอเหตุการณ์ร้ายกับตัวเองแบบนี้?
ก็คิดนะ แต่มันเป็นงานในหน้าที่ของเราที่ต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ถ้าต่างคนต่างคิดจะหลีกเลี่ยง ชาวบ้านจะอยู่อย่างไร อย่างเวลาชาวบ้านมาถามตำรวจทหารว่าสถานการณ์จะสงบไหม แล้วเราไปตอบว่าไม่สงบหรอกลุง ไม่สงบหรอกป้า อย่างนี้ชาวบ้านเขาจะเชื่อใจได้อย่างไร ก็ขนาดเจ้าหน้าที่รัฐยังตอบว่าไม่สงบ
ปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่เวลานักวิชาการหรือบุคคลสำคัญบินไปประชุมที่ ศชต. (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา) ก็ดี ที่หาดใหญ่ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) ก็ดี หรือที่ปัตตานีก็ดี ไปประชุม 2 ชั่วโมงออกมาบอกรู้แล้วปัญหาภาคใต้คืออะไร ผมก็งงว่าเขาจะรู้ได้อย่างไร คนอื่นหรือแม้แต่ชาวบ้านเขาอยู่มาตั้งนานยังแก้ไม่ได้ แล้วไปประชุมแค่ 2 ชั่วโมงคุณจะรู้หรือ ที่ผ่านมาเขาแก้กันมาทั้งชีวิตแล้ว มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ต้องเริ่มปลูกฝัง เริ่มสอนกันใหม่หมด เพราะที่ผ่านมามีการบิดเบือนเยอะ
O จากที่ลงไปสัมผัส มีมุมมองต่อปัญหาภาคใต้อย่างไรบ้าง?
ในพื้นที่มีปัญหาหลายอย่าง ไหนจะเรื่องโจรจริงๆ ที่มีพฤติการณ์ก่อการร้าย ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มที่เรียกว่าอาร์เคเค กลุ่มนี้ก็มีอยู่จริง นอกนั้นก็เป็นเรื่องยาเสพติดและความขัดแย้งอื่นๆ สรุปคือมันประกอบขึ้นด้วยเงื่อนไขหลายอย่างซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว หากจะมองในมุมประวัติศาสตร์มันก็เกี่ยวด้วย
ส่วนความเป็นอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านระหว่างไทยพุทธกับมุสลิม ผมคิดว่าไม่มีปัญหา แต่จะมีแนวร่วมของกลุ่มขบวนการพยายามยุแยงและบิดเบือนคำสอนทางศาสนาให้ผิดเพี้ยนไป
จากข้อมูลที่สอบสวนจากผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวกับตำรวจ เขาบอกว่าคนที่จะเป็นอาร์เคเคได้ต้องเรียนเก่ง เคร่งศาสนา เพราะเวลาเจ้าหน้าที่ไปจับจะทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อ และต่อต้านเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบาก
ในมุมมองของผมเอง ผมจำแนกชาวบ้านเป็น 3 ฝ่าย คือ 1.ฝ่ายที่อยู่กับผู้ก่อความไม่สงบ เรียกว่าแนวร่วม 2.ฝ่ายที่อยู่กับรัฐ และ 3.ฝ่ายที่เป็นกลาง การแก้ปัญหาคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องให้ความเชื่อมั่น ต้องเป็นที่พึ่งให้ชาวบ้านได้ แล้วชาวบ้านก็จะเอนมาหาเราเอง โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง ต้องดึงมาเป็นฝ่ายเราให้ได้ ถ้าชาวบ้านร่วมกับเราเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราชนะ
แต่การจะทำอย่างนั้นได้ไม่ใช่เรือ่งง่าย เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วยต้องร่วมมือกัน แต่คนมักจะมุ่งเน้นไปที่ทหารกับตำรวจ จริงๆ แล้วทุกหน่วยงานทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจต้องร่วมมือกัน ข้าราชการพลเรือนต้องดูแลประชาชนให้ดี ถ้าดูแลไม่ดีแล้วจะมาให้ตำรวจ ทหารแก้ไข มันไม่ได้ เพราะไม่ใช่ว่าส่งทหารตำรวจลงไปแล้วมันจะสงบ มันเป็นแค่ยาดำเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงข้าราชการทุกส่วนต้องร่วมมือกัน และมีความสำคัญไม่แพ้ทหารหรือตำรวจ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ส.ต.ท.วุฒินันท์ จันทร์อ่อน ในวันที่สูญเสียขาข้างซ้าย
2 ส.ต.ท.วุฒินันท์ กับเพื่อนๆ และผู้บังคับบัญชา
3 สมัยที่ร่างกายยังสมบูรณ์พร้อมรับใช้ชาติ
หมายเหตุ : วรานนท์ ปัจจัยโค เป็นผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจทีวี