ก่อนถูกฟันซื้อพันธ์ุกุ้ง!ศาลฎีกาสั่งคุก 20 ปี ‘นวพล บุญญามณี’ คดีนำรถหลวงจำนำบ่อน
ก่อนกรณี ป.ป.ช.เชือดฮั้วเอกชนซื้อพันธ์ุกุ้ง 10 ล.! เปิดละเอียดคำพิพากษาศาลฎีกาคดี ‘นวพล บุญญามณี’ ถูกจำคุก 18 ปี 24 เดือน (รวม 20 ปี) ข้อหานำรถยนต์หลวงไปจำนำบ่อนพนัน-เบิกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท็จ พฤติการณ์ชี้ชัดส่อแสดงเจตาไม่สุจริต แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
ไม่ใช่แค่กรณีจัดซื้อพันธุ์กุ้ง 40 ล้านตัว วงเงินประมาณ 10 ล้านบาท ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ยุคนายนวพล บุญญามณี เป็นนายก อบจ.สงขลา ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพิ่งชี้มูลความผิดนายนวพล กับพวกรวม 5 ราย เท่านั้น (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เชือด‘นวพล บุญญามณี-พวก’ ปมซื้อพันธุ์กุ้ง 10 ล.เอื้อประโยชน์เอกชน)
แต่ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2557 นายนวพล บุญญามณี อดีตนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังใน จ.สงขลา ยังเคยถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 18 ปี 24 เดือน กรณีนำรถยนต์ราชการ ไปจำนำที่บ่อนการพนันมาแล้วด้วย !
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกคำพิพากษาศาลฎีกาคดีดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
คดีนี้พนักงานอัยการ จ.สงขลา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.สงขลา เป็นจำเลย คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
โจทก์ฟ้องว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุเมื่อปี 2545-2546 นายนวพล (จำเลย) เป็นรองนายก อบจ.สงขลา ได้ทำบันทึกขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ ของ อบจ.สงขลา ไปใช้ปฏิบัติราชการ 2 ครั้ง และขออนุญาตนำรถยนต์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านเลขที่ 503/3 ถ.นครนอก ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา นอกจากนี้จำเลย ผู้มีหน้าที่จัดการครอบครองดูแลรักษารถยนต์ดังกล่าวร่วมกับนายนรินทร์ สุขจันทร์ สมาชิกสภา อบจ.สงขลา เบียดบังรถยนต์ดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต โดยนำไปจำนำเป็นเงินกู้ 5 แสนบาท ไว้แก่นางปวีณา นวลรัตน์ และไม่ประสงค์ไถ่ถอนเพื่อส่งคืนให้แก่ อบจ.สงขลา
นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยยังนำรถยนต์คันอื่นไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นของรถยนต์ดังกล่าว รวม 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 44,500 บาท เพื่อให้ อบจ.สงขลา อนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นให้แก่บริษัทเอกชนดังกล่าว ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่นางปวีณา ไม่ได้ใช้รถ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ อบจ.สงขลา
จำเลยให้การปฏิเสธ
@ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปี 24 เดือน แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 และ 151 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต จำคุก 5 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 5 กระทง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับเมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละ 1 ใน 3 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต จำคุก 3 ปี 4 เดือน ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ จำคุกกระทงละ 7 ปี 4 เดือน รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 15 ปี 20 เดือน คงจำคุกรวม 18 ปี 24 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
@ที่แท้นำรถไปจำนำที่บ่อนการพนัน
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า ช่วงปี 2546 จำเลยดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.สงขลา ทำบันทึกขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ ของ อบจ.สงขลา และขออนุญาตนำรถยนต์ดังกล่าวไปเก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 503/3 ถ.นครนายก ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา ต่อมาจำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำเป็นประกันเงินกู้ 5 แสนบาท ไว้แก่นางปวีณา
ต่อมาช่วงเดือน ต.ค. 2546 นายวรวิทย์ ขาวทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ได้รับเรื่องร้องเรียนว่า มีผู้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำที่บ่อนการพนัน นายวรวิทย์ มอบหมายให้พนักงานขับรถไปตรวจสอบได้ความว่านายนรินทร์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำไว้แก่นางปวีณาที่บ่อนการพนัน นายวรวิทย์เจรจากับนางปวีณาและขอไถ่ถอนรถยนต์คืนในราคา 7 แสนบาท
@นายก อบจ.สงขลา ควักเงิน 7 แสนไปไถ่ถอน-ส่ง ป.ป.ช.ฟัน
ต่อมา พ.ต.อ.อิทธิ นันทพฤกษา ผู้กำกับการกองกำกับการ 5 กองปราบปราม ได้รับหนังสือร้องเรียนระบุว่าเป็น สายลับ ปปง.หาดใหญ่ จ.สงขลา แจ้งว่า นายก อบจ.สงขลา นำรถยนต์ของทางราชการหลายคันไปจำนำไว้ที่บ่อนการพนันตามหนังสือร้องเรียน หลังจากนั้น พ.ต.ท.ธราดล เหมพัฒน์ กับพวกเดินทางไปสอบปากคำนายวรวิทย์ที่ อบจ.สงขลา สอบปากคำนางปวีณา ผู้รับจำนำรถยนต์ ได้ความว่า นายนรินทร์ นำรถยนต์ดังกล่าวไปจำนำไว้กับนางปวีณา และมีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติราชการ ต่อมานายวรวิทย์ นำรถยนต์คันดังกล่าวไปมอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามยึดไว้ตรวจสอบ
ต่อมาพนักงานสอบสวนส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อไต่สวน ต่อมา ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบ แต่จำเลยให้การปฏิเสธ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 147 151 และ 157 จึงมีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย
@อ้างให้ลูกจ้างยืมรถแล้วทำหาย-กก.สอบชี้ไม่ต้องรับผิดชอบ ไร้การทุจริต
จำเลยนำสืบว่า ได้ลงนามให้ลูกจ้าง อบจ.สงขลา ไปสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง โดยระบุหมายเลขทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าว หากจำเลยนำรถคันอื่นไปเติมน้ำมัน สถานีบริการจะไม่เติมน้ำมันเชื้อเพลิงให้ จำเลยไม่เคยรู้จักกับนางปวีณา และไม่เคยนำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำ และไม่เคยใช้หรือยินยอมให้นายนรินทร์ สุขจันทร์ นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำ
โดยจำเลยให้ความยินยอมนายนรินทร์ขอยืมรถยนต์คันดังกล่าว หลังจากนั้นนายนรินทร์ไม่ได้นำรถยนต์มาคืน จำเลยพยายามติดต่อให้นายนรินทร์นำรถยนต์มาคืนหลายครั้ง แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ต่อมาได้รับแจ้งจากนายนรินทร์ว่า รถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายลักไป หลังจากจอดอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แต่นายนรินทร์ไม่กล้าแจ้งให้จำเลยทราบ เพราะกลัวถูกตำหนิ และนายนรินทร์เข้าใจว่า รถยนต์คันดังกล่าวสูญหายไป เนื่องจากมีผู้ไม่ประสงค์ดีกลั่นแกล้งทางการเมือง และพยายามติดตามรถยนต์คืนด้วยตนเอง จำเลยพานายนรินทร์ไปแจ้งความ
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทราบว่า นายวรวิทย์ได้ถอนรถยนต์คันดังกล่าวคืนมาแล้ว พนักงานสอบสวนจึงยุติการตรวจสอบ และดำเนินคดีกับจำเลยในฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน อย่างไรก็พีพนักงานอัยการ จ.สงขลา มีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยกับพวก และคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงของ อบจ.สงขลา มีความเห็นว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย และกรมบัญชีกลางพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังไม่พอรับฟังได้ว่า มีการเบิกจ่ายค่าน้ำมันโดยทุจริต จึงไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง
@สภาพรถยนต์สกปรก-ชี้ชัดจอดทิ้งไว้นาน
นางปวีณา ในฐานะพยานฝ่ายโจทก์ เบิกความว่า นายนรินทร์ นำรถกระบะมาจำนำไว้แก่พยาน จำไม่ได้แน่นอนว่าวงเงิน 2-3 แสนบาท หลังจากนั้นประมาณ 20 วัน นายนรินทร์นำรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ มาแลกเปลี่ยนและจำนำแทน และมอบกุญแจรถให้ โดยจอดรถไว้ที่โรงรถข้างร้านคาราโอเกะ ต่อมานายนรินทร์เพิ่มวงเงินจำนำอีก 3 แสนบาท และจำนำไว้นานประมาณ 6 เดือน โดยจอดทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งาน
จากการตรวจสอบรูปถ่ายรถยนต์ พบว่า สภาพรถภายในสกปรก มีฝุ่นละออง มีคราบขาวเชื้อราบริเวณเบาะที่นั่ง ประตูรถด้านใน บริเวณคอนโซล และพวงมาลัย ลักษณะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ตามสภาพอากาศและกาลเวลา ประกอบชี้ชัดให้เห็นว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ใช้งานและถูกจอดทิ้งไว้นานเป็นความจริง
@พฤติการณ์ส่อแสดงเจตนาไม่สุจริต-ศาลฎีกาพิพากษากลับตามศาลชั้นต้น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายนรินทร์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำไว้แก่นางปวีณา ตั้งแต่ มี.ค. 2546 แต่จำเลยยังทำบันทึกขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2546-4 ก.พ. 2547 โดยจำเลยเป็นผู้อนุญาตเองตามสำเนาบันทึกข้อความทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยมิได้ครอบครองรถยนต์ส่วนกลาง เพราะรถยนต์คันดังกล่าวถูกนำไปจำนำไว้แก่นางปวีณา เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามได้ยึดรถยนต์ไว้ตรวจสอบ จำเลยกับนรินทร์กลับไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า รถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายลักไปซึ่งไม่เป็นความจริง ส่อแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยตั้งแต่แรกว่า จำเลยรู้เห็นและยินยอมให้นายนรินทร์นำรถยนต์ส่วนกลางไปจำนำ
พฤติการณ์ของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ส่วนกลางที่ใช้ในราชการร่วมกับพวกนำรถยนต์ไปจำนำไว้เป็นเวลานาน 6 เดือนเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการเบียดบังทรัพย์เป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า จำเลยนำใบสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ส่วนกลางไปใช้กับรถยนต์คันอื่น แต่กลับทำรายงานการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ส่วนกลางดังกล่าวอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยทราบอยู่แล้วว่า รถยนต์ส่วนกลางไม่ได้นำไปใช้งานในการปฏิบัติราชการ ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาไม่สุจริต มุ่งหมายเพื่อได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐอีกฐานหนึ่ง เมื่อจำเลยเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 5 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดอีก 5 กระทง
พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น