“สำรวม”สร้างหมู่บ้านต้นแบบเมล็ดพันธุ์ ชาวนาเงินล้านเมืองชัยนาท
หลายคนเป็นห่วงชาวนาใกล้ล่มสลาย ราคาข้าวไทยเหมือนวัวพันหลัก ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง คนปลูกยังจ่อมจมอยู่ในภาวะหนี้สินล้นตัว แต่ที่หมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวนางลือ-ท่าชัยโดย “สำรวม ปานหลุมข้าว” ถูกเรียกว่าชาวนาเงินล้าน เขาทำได้อย่างไร?
“กินข้าวทุกคำ จำให้ขึ้นใจ กว่าชาวนาจะปลูกได้ เหงื่อไหลท่วมแผ่นดิน”
คำขวัญติดอยู่ใต้ตึกอาคารกรมการข้าว นำมาเปิดเรื่องเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนที่ชอบกินทิ้งกินขว้าง เพื่อให้เข้าบรรยากาศที่ถนนชนบททุกสายมุ่งสู่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนกับงานใหญ่เกษตรแฟร์(30พ.ค.-7มิ.ย.55)และ”วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”ที่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4-7 มิ.ย.นี้ที่บริเวณกรมการข้าว เกษตรกลางบางเขนหนึ่งในเหตุผลการจัดงานคนเพื่อเชิดชูเกียรติชาวนาไทยกว่า 16 ล้านคนที่ปลูกข้าวเลี้ยงคนทั้งประเทศแลผู้คนทั่วโลก
การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทยโดยนักวิจัย นักพัฒนา นักวิชาการมีมาอย่างต่อเนื่องจนขึ้นชื่อลือชาดังกระฉ่อนไปทั่วโลก เกษตรกรชาวนาธรรมดาๆอย่าง สำรวม ปานหลุมข้าว ประธานกลุ่มผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท เป็นอีกผู้หนึ่งที่ทำให้สายพันธุ์ข้าวไทยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นชาวนาด้วยใจรัก สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นปู่ย่าตายาย ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวขายกลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน ไม่มากก็น้อยต่อคุณูปการเกษตรไทย “ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา”พาไปทำความรู้จักก่อนเที่ยวชมวันข้าวและชาวนาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
“สำรวม” เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของกลุ่มฯ เมื่อประมาณปี2522 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวที่4 ชัยนาทเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเกษตรทำนา ช่วงนั้นมีเกษตรกร 9รายเข้าร่วมโดยการนำข้าวพันธุ์ กข.7เข้ามาปลูกในพื้นที่ 200 ไร่ เมื่อเห็นผลที่ได้จึงมีการสืบทอดขยายผล ต่อมาเมื่อประมาณปี 2546 มีสมาชิกเพิ่มเป็น 91 ราย ขยายไปยังพื้นที่ 2 ตำบลผลิตพันธุ์ข้าวชัยนาท 2 และสุพรรณบุรี 1 รวมพื้นที่ 1,957 ไร่โดยดำเนินงานในรูปแบบของกลุ่มธุรกิจด้วยการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือฯ
“กลุ่มจดทะเบียนกับสำนักขยายเมล็ดพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร กว่าจะมาถึงวันนี้ล้มลุกคลุกคลานพอสมควร ซึ่งรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ 2 นับจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ช่วงนั้นถ้าไม่ได้งบผู้ว่าราชการจังหวัดมาสนับสนุนก็คงแย่แต่หลังจากปี2548 ทุกอย่างก็ดีขึ้น ถึงขนาดผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่ทันต่อความต้องการของตลาด”
ประธานชาวนาเงินล้านแห่งนางลือ-ท่าชัย เล่าถึงกรรมวิธีทำพันธุ์ข้าวไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเป็นหลัก โดยให้เลือกแปลงนาที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ กำจัดข้าวเรื้อในนาออกให้หมด ไถพรวนแล้วไถคราด หว่านเมล็ดพันธุ์ หลังจากข้าวงอกให้ทำการกำจัดข้าวปนที่ทำให้พันธุ์ข้าวไม่บริสุทธิ์ออก ติดตามการเจริญเติบโตอย่างใกล้ชิด นับแต่ระยะต้นอ่อน ดูสีของต้นว่าจะมีสีตรงตามลักษณะพันธุ์หรือไม่และผิดแปลกไปจากต้นอื่น ๆหรือไม่ สิ่งที่สังเกตง่ายๆ คือ ลักษณะการเจริญเติบโตของต้นได้แก่ทรงกอ ความสูงใบ
ระยะต่อมาคือดูระยะเจริญเติบโตหรือระยะแตกกอ ดูลักษณะทรงกอ การแตกกอ ความสูงสีต้นกาบใบและใบระยะที่สามคือระยะออกดอก กำจัดต้นที่ออกดอกไม่พร้อมกับต้นข้าวส่วนใหญ่ และระยะที่สี่คือดูระยะข้าวแก่ ดูลักษณะเมล็ด สีของเปลือกให้ตรงตามพันธุ์ ข้าวพันธุ์เดียวกันควรเจริญเติบโตสม่ำเสมอกันออกดอกพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าต้นข้าวสุกแก่เสมอกันดีจะทำการเกี่ยวนวดทันที ด้วยเครื่องนวดที่ทำความสะอาดอย่างดีไม่มีเมล็ดข้าวอื่นตกค้างอยู่นำไปตากและเข้าเครื่องแยกสิ่งเจือปนนำมาตากแดด 1-2 แดดฝัดให้สะอาด บรรจุกระสอบเก็บไว้ในที่แห้งอากาศถ่ายเทเตรียมขายต่อไป
“ข้าวที่ผมทำแน่นอนต้องมีคุณภาพ มาตรฐานต้องมาอันดับหนึ่งชาวนาที่อื่นๆก็สามารถทำได้ แต่ต้องเน้นตั้งแต่ทำแปลง จุดเด่นเมล็ดพันธุ์คุณภาพเน้นมากที่สุด ตรงนี้ถ้าเราทำได้มีคุณภาพตามหลักวิชาการ ผลผลิตที่ได้ก็ตกแก่ผู้บริโภค ฉะนั้นข้าวนางลือท่าชัยคุณภาพต้องมาก่อน”
เขาย้ำคำหนักแน่นก่อนจะเล่าให้ฟังอีกว่าวิธีการจำหน่ายคือใช้ระบบวิสาหกิจ รวมกลุ่มกันขายในราคาเมล็ดพันธุ์กิโลกรัมละ 22 บาทหรือเกวียนละ 22,000 บาทโดยวางระเบียบให้สมาชิกถือหุ้นๆละ 100 บาทถือได้ไม่เกิน 200 หุ้นต่อคน รายได้เฉลี่ยในกลุ่มมีประมาณ 27 ล้านบาทในปี 2551 นับเป็นความโชคดีของกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริม ชาวบ้านมีรายได้ เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพใช้ ภายหลังได้รับการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ และมีการพูดกันปากต่อปากของกลุ่มเกษตรกร ที่นาชาวบ้าน 2ตำบลยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้พื้นที่อื่นเข้ามาศึกษาดูงาน
สำรวม บอกว่าการทำตรงนี้ไม่ใช่ทำแค่รุ่นนี้รุ่นเดียวแล้วจบกันไป แต่ทุกคนยังคิดถึงรุ่นลูกรุ่นหลานหรือเรียกได้ว่าเป็นผู้สืบทอดรุ่นที่สามหากนับจากตัวเขาเข้ามาสานต่อ ซึ่งเชื่อว่ารุ่นที่สามจะสานต่อที่ดีขึ้น มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพราะลูกหลาน เรียนจบออกมามีการศึกษาที่สูงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ เขายังเชื่อมั่นว่าชาวนาไม่มีวันล่มสลายตราบใดที่ทุกคนยังต้องกินข้าว หากมองเห็นอนาคต ใครก็อยากมาทำเพราะเป็นงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง แม้แต่ผู้ช่วยของเขายังเรียนจบปริญญาตรีด้านนิติศาสตร์ เจ้าหน้าที่หรือคนทำงานในท้องนาหลายคนล้วนเรียนจบไม่น้อยกว่าระดับปริญญาตรี.
นั่นคือบางบทบางตอนจากคำบอกเล่าของเกษตรกรชาวนาเงินล้านเมืองชัยนาท ที่เขาเชื่อมั่นเสมอมาชาวนาไม่มีวันตายหากคนยังต้องประทังความหิวด้วยอาหาร แต่ชาวนาต้องรู้จักปรับตัว พึ่งพาการบริหารจัดการที่ดีเพื่อความอยู่รอด และผู้บริโภคควรกินอย่างรู้คุณค่าหยาดเหงื่อชาวนา แค่นี้คนปลูกก็สุขใจ.
................................................
คำบอกเล่าพัฒนาการพันธุ์ข้าวนางลือ-ท่าชัยจากผอ.ศูนย์ข้าวชัยนาท
นางวิไล กล้ากลางสมร ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท กล่าวถึงเส้นทางการเป็นหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือกับท่าชัยว่า เกษตรกรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ให้กับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท มาตั้งแต่ปี 2522 เพิ่มจำนวนมากขึ้นจึงได้รับการส่งเสริมให้รวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการจัดทำแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ปี 2547 จังหวัดชัยนาท ได้เห็นศักยภาพของกลุ่มฯ จึงเข้ามาส่งเสริมโครงการการผลิตและบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายโดยชุมชน ก่อสร้างโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ขนาดกำลังผลิต 2.5-4 ตันต่อชั่วโมงโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นได้สนับสนุนสถานที่ก่อสร้างและวัสดุ
การผลิต ปี 2548 กลุ่มฯได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่อ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตำบลนางลือ – ท่าชัย รหัสทะเบียน 1 – 18 -01 – 03/1 – 0001 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 ปี 2549 กรมการข้าวมีนโยบายให้กลุ่มเกษตรกรผู้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทุกศูนย์ จดทะเบียนใหม่เป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว กลุ่มฯจึงได้จดทะเบียนใหม่เป็นกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตำบลนางลือ-ท่าชัย ทะเบียนเลขที่ ชน 49063 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2549
ปัจจุบันพื้นที่นาร้อยละ 85 ของทั้ง 2 ตำบล หรือประมาณ 39,000 ไร่ เป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ให้กับภาคราชการและเอกชนรวมกันไม่ต่ำกว่า 50,000 ตันต่อปี เกษตรกรยึดอาชีพผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นหลักจนกลายเป็นหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว