ขสช.ภาคอีสาน คัดค้านร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนภาคอีสาน คัดค้านร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่..) พ.ศ. ระบุชัดขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ประชาธิปไตย ไม่ได้ยึดหลักการของการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี2560 มาตรา 77
วันนี้ 9 ตุลาคม 2561 ที่ห้องคอนเวนชั่น 3 โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสื่อสารร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ....เพื่อให้ผู้เข้าร่วมให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 70 คน จากภาคีเครือข่ายต่างๆ ในภาคอีสาน เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)ภาคอีสาน คัดค้านร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่..) พ.ศ. เนื่องจากโดยเนื้อหาแล้วยิ่งแก้แล้วแย่กว่าเดิม ในเวทีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
ต่อมาช่วงเวลา 10:30 น. เครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)ภาคอีสาน 43 องค์กร ซึ่งนางมีนา ดวงราศี ผู้แทน ขสช. ได้อ่านแถลงการณ์และผู้แทนเครือข่ายได้ยื่นหนังสือต่อ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ,นายไพโรจน์ แก้วมณี ผู้แทนจาก สสส.และนายณรงค์ศักดิ์ สงวนปรางค์ ผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นประธานในการจัดงาน นำข้อเสนอของเครือข่ายต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีเนื้อหาแถลงการณ์ ดังนี้
ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ดำเนินการแก้ไขกฎหมายของ สสส. เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แล้วมีมติเห็นชอบให้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเติมเพื่อให้เป็นไปตาม มาตรา 77 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็ปไซต์ ผ่านกระบวนการจัดประชุมภาคี 4 ภาค และผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข 1 ครั้ง
ในนามผู้แทนของเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ภาคอีสาน อันประกอบไปด้วย บุคคล องค์กร ภาคสังคม ที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาวะกว่า .... องค์กร มีจุดยืนร่วม ขอคัดค้าน ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพปี พ.ศ... และกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ด้วยเหตุผลดังนี้
1.การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อันเป็นที่มาของการเกิด พระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพปี พ.ศ 2544 ที่มุ่งสร้างการเป็นเจ้าของกองทุนในภาคส่วนประชาชน บริหารด้วยความเป็นอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ มิใช่อยู่ภายใต้กระทรวงใด ทั้งนี้ยังมีความขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ ที่มีการนำระบบราชการเข้ามาควบคุมบริหารจัดการ
2.การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ได้ยึดหลักการของการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2560 มาตรา 77 อย่างถูกต้อง เปิดรับฟังความเห็นทางสื่อที่ไม่เป็นสาธารณะเท่าที่ควร มีระยะเวลาจำกัด ไม่มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง การรับฟังความเห็นที่มีสัดส่วนผู้เข้าร่วมน้อย ทั้งที่เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชนทั้งประเทศ
3.พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มผู้ประกอบการ/ธุรกิจสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เพราะมีการกำหนดเงินกองทุนไว้ไม่เกิน 4,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพียงพอต่อการบริหารในแต่ละปี ซึ่งในความจริงของหลักการธรรมมาภิบาล ผู้ประกอบการที่ค้ากำไรจากสินค้าส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ต้องร่วมรับผิดชอบส่งเงินเข้ากองทุนให้สอดคล้องกับที่รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการดูแลสุขภาพประชาชนตามรายงานประจำปี ดังนั้นรัฐควรมีบทบาทพัฒนากองทุนให้เติบโต มีประสิทธิภาพเช่น กำกับการเพิ่มภาษีจากผู้ประกอบกผลิต น้ำตาล เครื่องดื่มชูกำลัง สินค้าเคมีทางเกษตร เป็นต้น
4.มีการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกองทุนต้องผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง ขัดต่อมาตรา 10 พ.ร.บ.สสส.เดิมที่กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ และไม่เอื้ออำนวยต่อข้อตกลงระหว่างประเทศในด้านการสร้างเสริมสุขภาพ คือกฎบัตรออตตาวา จากการประชุมนานาชาติครั้งที่ 1 ประเทศแคนาดา เมื่อปี 2529 ที่มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมควบคุมปรับปรุงสุขภาพของตนเอง แต่กองทุนเมื่ออยู่ภายใต้กระทรวงการคลังส่งผลต่อสภาพไม่คล่องตัว ระเบียบราชการเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน
5.ร่างพ.ร.บ.สสส.ฉบับนี้ขัดกับ พระราชบัญญัติการบริหารกองทุนหมุนเวียน พ.ศ.2558 ในมาตรา 5 ระบุว่า หากกองทุนหมุนเวียนใดที่มีกฎหมายกำหนดบัญญัติในเรื่องใดไว้เป็นการเฉพาะแล้วให้ดำเนิน. การตาม กฎหมายกำหนด ดังนั้น การพยายามปรับแก้ พ.ร.บ.สสส.ฉบับนี้ เพื่อบริหารจัดการรูปแบบใหม่จึงถือว่าเป็นการขัดแย้งกับกฎหมายฉบับเดิม
6. สัดส่วนการบริหารของกรรมการกองทุนฯมีการปรับลดลง และการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่มีความสมดุล ส่งผลต่อการถ่วงดุล การตรวจสอบ และความโปร่งใสในการบริหารจัดการ
เครือข่าย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.) ภาคอีสาน จึงขอคัดค้าน และให้ยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณา หากจะมีการปรับแก้ไขพรบ.ให้ดีขึ้นตามเจตนา ก็ให้ดำเนินการในขณะที่ประเทศไทยมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้มีส่วนร่วมในการจัดการสุขภาพของตนเองทั้งระดับพื้นที่และนโยบาย จึงจะถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และเคารพสิทธิสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง
หลังจากนี้ทางเครือข่ายขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน (ขสช.)ภาค อีสาน จะติดตามการแก้ไขกฎหมาย สสส. และเคลื่อนไหวมิให้เนื้อหาของกฎหมายล้าหลังกว่าเนื้อหาเดิม