เมื่อกฤษฎีกา ชี้ขาดอำนาจ ก.คลัง บังคับคดียึดทรัพย์จนท.รัฐร่ำรวยผิดปกติเป็นของแผ่นดิน
"...เมื่อศาลมีคําพิพากษาให้ทรัพย์สินใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ทรัพย์สินนั้นย่อมตกเป็นของแผ่นดินทันทีโดยผลของคําพิพากษาตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง” แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หากไม่ต้องมีการบังคับคดี กระทรวงการคลังซึ่งมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินแทนรัฐ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จึงมีอํานาจหน้าที่ ดําเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ทันที โดยถือว่ากระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนรัฐ..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณีกระทรวงการคลัง ขอหารือเกี่ยวกับการบังคับคดีกับทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินกรณีร่ำรวยผิดปกติ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีความเห็นว่าเมื่อศาลมีคําพิพากษาให้ทรัพย์สินใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ทรัพย์สินนั้นย่อมตกเป็นของแผ่นดินทันทีโดยผลของคําพิพากษาตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง จึงมีอํานาจหน้าที่ ดําเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ทันที โดยถือว่ากระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนรัฐ และเพื่อให้การบังคับคดีกับทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรีเพื่อกําหนดแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์การดําเนินการบังคับคดีเพื่อให้ ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 11 (8) และวรรคสอง" แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้
ทั้งนี้ การตอบความเห็นทางกฎหมายดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่ กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็น “การบังคับคดีกับทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินกรณีร่ำรวยผิดปกติ” สรุปความได้ว่า
“ด้วยกระทรวงการคลังได้รับแจ้งผลคดีจากสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สํานักงาน ป.ป.ช.) และสํานักงานอัยการสูงสุด กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ต่อมาศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด ให้ทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดิน หน่วยงานทั้งสองจึงขอให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาดําเนินการบังคับคดีตามคําพิพากษาของศาลที่ให้ทรัพย์สินตกเป็น ของแผ่นดินตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.4/12661 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2545 เรื่อง ตอบข้อหารือเรื่องการบังคับคดี แต่โดยที่คําพิพากษาในแต่ละคดี ให้มีการยึดทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหลายประเภท ซึ่งกระทรวงการคลังยังไม่มีแนวปฏิบัติ หรือหลักเกณฑ์ในการบังคับคดีตามคําพิพากษาของศาลดังกล่าว จึงมีประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับ อํานาจของกระทรวงการคลังในการออกแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์ในการบังคับคดี ตามคําพิพากษาของศาลที่ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินและขอหารือสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 หมวด 3 กระทรวงการคลัง มาตรา 10 บัญญัติว่า กระทรวงการคลังมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน การคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอํานาจดําเนินการได้แต่ผู้เดียว ตามกฎหมายและไม่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหาร และการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกําหนด ให้เป็นอํานาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง
2. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พ.ศ. 2559ข้อ 21 (7) กําหนดให้กองละเมิดและแห่งมีอํานาจหน้าที่ดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตกเป็น ของแผ่นดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรม ซึ่งที่ผ่านมาหน้าที่ดังกล่าวจะหมายความรวมถึง การเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดําเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยจะมิได้เป็นผู้ดําเนินการในขั้นตอนการบังคับคดี เช่น การยึด การอายัดทรัพย์สิน แต่อย่างใด
3. จากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดําเนินการตามคําพิพากษาศาลที่ให้ ทรัพย์สินของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือผู้บริหารระดับสูงที่ร่ำรวยผิดปกติหรือต้องถูกยึด ทรัพย์สินในกรณีกระทําความผิดอื่น ๆ ตกเป็นของแผ่นดินปรากฏว่า มีแนวทางปฏิบัติของสํานักงาน อัยการสูงสุดสรุปความได้ว่า กรณีมีผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องไปยังสํานักงานอัยการสูงสุดเพื่อดําเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และหากศาล มีคําพิพากษาให้ทรัพย์สินตามที่ร้องขอตกเป็นของแผ่นดิน อัยการสูงสุดจะมอบอํานาจให้เจ้าหน้าที่ ของสํานักงาน ป.ป.ช. ไปดําเนินการนําเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน สําหรับวิธีปฏิบัติในการโอนทรัพย์สินที่ยึดมาได้ สํานักงาน ป.ป.ช. จะประสาน การทํางานกับกระทรวงการคลัง โดยอัยการสูงสุดได้มอบอํานาจให้เจ้าหน้าที่ของสํานักงาน ป.ป.ช. ไปดําเนินการนําเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว
4. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้ดําเนินการในฐานะผู้ประสานงานเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยยังไม่เคยดําเนินการในขั้นตอนบังคับคดี โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแต่อย่างใด แต่โดยที่กระทรวงการคลังได้เคยมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ กค 0406.4/12661 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตอบข้อหารือว่า กระทรวงการคลังมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินตามความใน มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จึงเป็นหน่วยงาน ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากค่าพิพากษาของศาลที่พิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้ว่ารวยผิดปกติ ตกเป็นของแผ่นดินและถือเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา มีหน้าที่ในการดําเนินการต่าง ๆ ในชั้นบังคับคดี เพื่อทําการยึดทรัพย์สินของผู้ต้องคําพิพากษามาเป็นของกระทรวงการคลัง และต้องเป็นหน่วยงานที่ตั้งสํานวนในการยึดอายัดและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชั้นบังคับคดี แต่กระทรวงการคลังอาจมอบหมายให้สํานักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้แทนกระทรวงการคลังเพื่อดําเนินการ บังคับคดี โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ สํานักงาน ป.ป.ช. และสํานักงานอัยการสูงสุดได้ส่งเรื่องการบังคับคดีในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สิน ของผู้ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินให้กระทรวงการคลังจํานวนมาก
5. กรณีนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของสํานักงาน ป.ป.ช. และสํานักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการดําเนินการในเรื่องดังกล่าว กรมบัญชีกลางจึงได้จัดประชุม โดยเชิญผู้แทนของทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2563 สรุปผลการประชุม ได้ว่า ในการดําเนินคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบพบว่าทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ และมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอน ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจออกคําสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ชั่วคราว โดยให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จัดให้มีการพิสูจน์เกี่ยวกับทรัพย์สินโดยเร็ว ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่า ทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดชั่วคราวมิได้เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นต่อไปจนกว่าจะมีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล ซึ่งต้องไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัด หรือจนกว่ามีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
แต่ถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคําร้องต่อศาลเพื่อขอให้สัง ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งหน้าที่ในส่วนของสํานักงาน ป.ป.ช. สิ้นสุดลงตั้งแต่ การสรุปผลการไต่สวน โดยพนักงานอัยการจะเป็นคู่ความในการดําเนินคดีในชั้นศาลต่อไป แต่เมื่อมีคําพิพากษาของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เรื่องอาจจะกลับมาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ได้ เมื่อสํานักงานอัยการสูงสุดแจ้งค้าพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดมายังสํานักงาน ป.ป.ช. เพื่อให้ ดําเนินการยึดทรัพย์ กรณีจึงเป็นการดําเนินการโดยได้รับมอบหมายจากสํานักงานอัยการสูงสุด ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สํานักงาน ป.ป.ช. ไม่มีกฎหมายรองรับ เกี่ยวกับการยึดทรัพย์สินโดยตรงภายหลังจากไต่สวนและชี้มูลความผิดแล้ว มีเพียงการปฏิบัติ ตามที่สํานักงานอัยการสูงสุดแจ้งเรื่องมา การที่สํานักงาน ป.ป.ช. ปฏิบัติในขั้นตอนดังกล่าว ถือเป็นการดําเนินการเพื่อประโยชน์ของทางราชการ แต่มีปัญหาว่าสํานักงาน ป.ป.ช. ไม่มีการตั้งงบประมาณสําหรับค่าใช้จ่ายดังกล่าว เช่น เงินวางศาลในชั้นบังคับคดี
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า หากสํานักงาน ป.ป.ช. ยังคงดําเนินการโดยไม่มีอํานาจตามกฎหมาย หรือเกินขอบอํานาจหน้าที่ หากคู่กรณีอีกฝ่ายต่อสู้เป็นประเด็นขึ้นมาจะทําให้เกิดความเสียหายได้ ซึ่งกรณีอํานาจหน้าที่และขั้นตอนในการดําเนินการต่าง ๆ ในชั้นบังคับคดีนั้น สํานักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นว่าหากไม่มีระเบียบกระทรวงการคลังหรือระเบียบอื่นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้ทรัพย์สินของผู้ถูกไต่สวนตกเป็นของแผ่นดินหรือให้ใช้ทรัพย์สินอื่นแทน กระทรวงการคลังซึ่งมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินตามความในมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 เป็นหน่วยงานที่ได้รับประโยชน์ จากคําพิพากษาโดยตรงและถือเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา จึงมีหน้าที่ในการดําเนินการต่าง ๆ ในชั้นบังคับคดีเพื่อทําการยึดทรัพย์สินของผู้ถูกไต่สวนมาเป็นของกระทรวงการคลัง
ส่วนการดําเนินการบังคับคดีของสํานักงานอัยการสูงสุดกรณีที่ศาลมีคําพิพากษา ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จะต้องมีเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา คือ กระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังต้องเป็นผู้ตั้งสํานวนในการยึดทรัพย์ โดยสามารถประสานงานและส่งเรื่องให้ สํานักงานอัยการสูงสุดซึ่งมีสํานักงานบังคับคดีดําเนินการให้ได้ แต่ในเรื่องค่าใช้จ่ายในการ ดําเนินการบังคับคดี กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ดังนั้น กรณีที่ศาล มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน กระทรวงการคลังในฐานะที่มีอํานาจหน้าที่ เกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษา จึงต้องเป็นหน่วยงานที่ตั้งสํานวน ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน และมีหน้าที่โดยตรงในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับคดีให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอย่างถูกต้องและครบถ้วน
สําหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดําเนินการในขั้นตอนบังคับคดี เห็นว่ากระทรวงการคลังควรจะต้องจัดทําแนวปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์กลางเพื่อวางหลักการ ในขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่ต้องยึดหรืออายัดตามคําพิพากษาที่ให้ทรัพย์สิน ตกเป็นของแผ่นดิน เช่น เงิน หุ้น สังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น ว่าจะต้อง ดําเนินการอย่างไร รวมทั้งกําหนดหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดําเนินการดังกล่าว แต่ทั้งนี้มีประเด็นเรื่องอํานาจของกระทรวงการคลังในการออกแนวปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์กลางว่า จะอาศัยอํานาจตามกฎหมายใด
กระทรวงการคลัง จึงพิจารณาแล้ว เห็นว่าเพื่อให้การดําเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดี ในเรื่องดังกล่าวเป็นไปด้วยความถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอหารือในประเด็น ดังต่อไปนี้
1. พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 10 กําหนดให้ กระทรวงการคลังมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน การที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุด ให้ทรัพย์สินของผู้ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน กรณีจะถือได้ว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงาน ที่ได้รับประโยชน์จากคําพิพากษาโดยตรงและถือเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งสามารถมอบอํานาจในการบังคับคดีในกรณีดังกล่าวให้กับสํานักงาน ป.ป.ช. หรือสํานักงาน อัยการสูงสุดได้หรือไม่ อย่างไร
2. หากถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ได้รับประโยชน์จากคําพิพากษา โดยตรงและถือเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาดังกล่าว กระทรวงการคลังจะสามารถดําเนินการจัดทํา แนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์เพื่อวางหลักการในขั้นตอนปฏิบัติเกี่ยวกับทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ที่ต้องยึดหรืออายัดตามคําพิพากษาที่ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่ และโดยอาศัย หลักกฎหมายใด
เบื้องต้น คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของกระทรวงการคลัง โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ และสํานักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ) ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (กรมบังคับคดี) ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และผู้แทนสํานักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด ข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1. เห็นว่า เมื่อศาลมีคําพิพากษาให้ทรัพย์สินใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดินแล้ว และทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์เฉพาะสิ่ง ทรัพย์สินนั้นย่อมตกเป็นของแผ่นดินทันทีโดยผลของคําพิพากษาตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง” แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 หากไม่ต้องมีการบังคับคดี กระทรวงการคลังซึ่งมีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของแผ่นดินแทนรัฐ ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 จึงมีอํานาจหน้าที่ ดําเนินการกับทรัพย์สินดังกล่าวได้ทันที โดยถือว่ากระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนรัฐ
ประเด็นที่ 2 เห็นว่า การดําเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน จําเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับในการดําเนินการดังกล่าวเป็นกระบวนการปฏิบัติงานภายในของรัฐ เพื่อให้การบริหาร ราชการแผ่นดินเป็นไปโดยรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) จึงเห็นว่ากรณีนี้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถออกระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรีเพื่อกําหนดแนวทางปฏิบัติหรือหลักเกณฑ์การดําเนินการบังคับคดีเพื่อให้ ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินโดยอาศัยอํานาจตามมาตรา 11 (8) และวรรคสอง" แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ได้
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดที่มาที่ไปของเรื่องนี้ และน่าจะเป็นผลทำให้การดําเนินการบังคับคดีกับทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน ที่มีปัญหาค้างคามานานเริ่มต้นเป็นทางการ ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ตามคําพิพากษาแทนรัฐ เสียที