เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ปักธงค้าน แก้ พ.ร.บ. สสส. ชี้ไม่มีความชอบธรรม -ถอยหลังลงคลอง
เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ปักธงค้าน แก้ พ.ร.บ. สสส. ชี้ไม่มีความชอบธรรมใดๆที่จะแก้ให้ถอยหลังลงคลอง ปลายทางแย่กว่าเดิม ติงตัดแข้งตัดขาหน่วยงานที่ช่วยทำงานด้านสุขภาพ เตรียมบุกกระทรวงคลัง-สธ.
วันที 7ตุลาค ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายที่ทำงานด้านสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ ได้เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ กฎหมาย สสส.
โดยเครือข่ายฯ มีข้อเสนอเดียวคือ ยับยั้งการแก้ไขกฎหมายสสส.และหากไม่ยุติ ก็เตรียมเคลื่อนไหวเรียกร้องที่หน้ากระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกระทรวงการคลัง
นายเจกะพันธ์ พรหมมงคล เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ภาคใต้ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด การแก้กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้แย่กว่าเดิม ทั้งความยุ่งยากในการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่เดิมใช้กลไกของกรรมการบอร์ดซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและมีผู้แทนแทบทุกกระทรวงอยู่ในบอร์ด สสส.อยู่แล้ว รวมถึงกระทรวงการคลัง แต่กลับมีความพยายามให้นำกรอบการใช้จ่ายงบประมาณที่บอร์ดอนุมัติแล้ว กลับไปขอความเห็นชอบกับกระทรวงการคลังอีก ซึ่งตลกมาก
"น่ากังวลถ้าล้วงลูกกันได้ขนาดนี้ ต่อไปขั้นตอนการจัดซื้อ ค่าตอบแทน การเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ก็คงต้องกลับไปเป็นระบบราชการที่ไม่คล่องตัว ซึ่งขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง สสส. ขึ้นมา ที่มุ่งเน้นความเป็นอิสระ ปิดช่องว่างการบริหารจัดการที่เยิ่นเย้อในระบบราชการ เพื่อลดปัญหาล่าช้า รวมไปถึงการจำกัดเพดานวงเงินไว้ที่4พันล้านซึ่งไม่สมควรอย่างยิ่ง"
นายเจกะพันธ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรัฐต้องใช้งบประมาณเพื่อการรักษาโรค มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นๆ จนหางบไม่ทันแล้ว ขณะที่ทั่วโลกหันไปป้องกันโรค เพราะตระหนักว่า การสร้างสุขภาพ สำคัญกว่าการซ่อมหรือรักษา แต่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการคลัง กลับมาตัดงบสร้างสุขภาพ ที่มีน้อยอยู่แล้ว ไม่ถึง3 % ของงบประมาณในการรักษา (กองทุนบัตรทองปี 62= 1.67แสนล้านบาท) ซึ่งสวนทางกับแนวทางWHO ที่ให้ความสำคัญการสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อม การปัองกันและส่งเสริมต้องเท่าทันกับปัญหา เป็นหน้าที่หลักของ สสส.อยู่แล้ว ไม่มีใครอธิบายได้เลยว่าทำไมต้องจำกัดวงเงินไว้แบบนี้ มีฐานทางวิชาการอะไรมาอธิบายตรงนี้ได้
"ไม่เข้าใจว่า กระทรวงสาธารณสุขเหตุใดถึงตัดแข้งตัดขา หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลืองานตนเอง ทั้งที่เป็นการช่วยกันทำงานอุดช่องว่างที่ สธ.ไม่สามารถไปถึงได้ ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมไปในเชิงคุณภาพ ซึ่งนี้คือเจตนารมที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพดี สร้างนำซ่อม แทนที่จะปล่อยให้ระบบราชการแบกรับ ซึ่งขณะนี้ผู้ป่วยก็ล้นโรงพยาบาลอยู่แล้ว และหากแก้ กฎหมายให้การทำงานของ สสส. เข้าใกล้ระบบราชการมากขึ้นทุกทีๆ ไม่เป็นผลดีอะไรเลย มีแต่จะล้าหลังลงคลอง สถานการณ์การรักษาพยาบาลก็จะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม และรัฐจะต้องจ่ายงบประมาณเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคต และเร็วๆนี้จะส่งตัวแทนไปเยือนกระทรวงการคลัง และสาธารณสุขเพื่อแสดงจุดยืนและตามหาไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังการบอนไซภาคประชาชน" นาย เจกะพันธ์ ระบุ
ด้าน นางพิชยา แก้วขาว เครือข่ายชุมชนสงขลา กล่าวว่า สิ่งที่ผ่านมาในการผลิตงานของสสส.คือ มีอาสาสมัครมากมาย ที่เข้ามาส่งเสริมหลักการสร้างนำซ่อม ซึ่งรัฐบาลต้องพิจารณาว่า หากวงเงินจำกัด 4 พันล้าน จะเพียงพอที่จะขับเคลื่อนไปสู่การทำให้สังคมเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างแทนซ่อมได้จริงหรือ ฐานคิดนี้มาจากไหน แต่เมื่อจะแก้กฎหมายมันควรต้องแก้ให้ดีกว่าเดิมไม่ใช่แย่ลงๆ ขัดกับหลักการก่อเกิด สสส. การพยายามขับเคลื่อนสิบกว่าปีที่ผ่านมากลับไปสู่ระบบราชการขาดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง ซึ่งมันมีข้อสรุปแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขเอง ไม่สามารถทำงานป้องกันได้เพียงพอ แต่ขณะนี้สังคมเดินมาไกลเราแทบจะก้าวหน้าที่สุดในโลกในการดูแลสุขภาพทั้งป้องกันและรักษา ฉะนั้นยิ่งต้องเดินหน้าทำงานส่งเสริมก้าวหน้าให้ยิ่งไปกว่าเดิม
"การอ้างเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่มาแก้กฎหมายแม่ เพราะทราบว่า สสส. เองก็ แก้ไขกฎหมายลูกไปหลายสิบฉบับแล้วเพื่อปิดช่องว่างตรงนั้น ปัญหาบางอย่างต้องมาแก้ที่การบริหารจัดการ ซึ่งต้องดูภาพรวม ไม่ใช่ข้ออ้างมายึดการจัดการการเงิน และตีกรอบเพดานไว้แค่ 4 พันล้าน บอนไซไม่ให้ประชาชนเติบโต ทั้งที่ประชาชนลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพ เป็นการสร้างความเข้มแข้งของประเทศอย่างหนึ่ง ข้อสำคัญองค์กรแบบ สสส. สช. พอช. คือการใช้หลักการพิเศษ เพื่อทำให้เกิดการบริหารจัดการสังคมที่มีประสิทธิภาพ อิสระ คล่องตัว หลักการนี้ต้องไม้ผิดเพี้ยน ต้องมีอยู่ การที่มาตั้งธงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เฉพาะสสส. แต่ภายใต้องค์กรรัฐทุกระบบ ทุกกระทรวง ขณะนี้เหตุใดยังมีคอร์รัปชั่นมโหฬาร ซึ่งต้องแก้ล้างกันทุกระบบไม่ใช่มาทุบเอาแต่ สสส." ตัวแทน เครือข่ายชุมชนสงขลา กล่าว