เปิดปม 'หัวคิว' จ้างครูต่างชาติสอนอังกฤษ-ก.ศึกษาฯ ไร้อำนาจสอบจริงหรือ?
"...ครูต่างชาติที่เข้ามาสอนหนังสือได้รับผ่านบริษัทตัวแทนจัดหา พบว่า จะอยู่ที่ 3.8 หมื่นบาทต่อเดือน แต่บริษัทเอกชนรายนี้ จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามสัญญากับทางโรงเรียน ในราคาหัวละ 4.5 หมื่นบาทต่อเดือน มีส่วนต่างเกิดขึ้นจำนวนมาก ขณะที่เงินค่าจ้างสอนเหล่านี้ ทางโรงเรียนจะเรียกเก็บเป็นรายหัวกับนักเรียน ห้องเรียนพิเศษ จะเรียกเก็บเป็นหมื่น ส่วนห้องเรียนธรรมดา ก็เก็บน้อยลงมา โดยค่าจ้างห้องเรียนธรรมดา ค่าสอนครูจะอยู่ที่ 1.8 หมื่นบาท แต่บริษัทตัวแทนจัดหา เรียกเก็บเงินจากโรงเรียน 2.5 หมื่นบาท ในแต่ละปี โรงเรียนจะเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง ปีละ 6-7 ล้านบาท แต่มาจ่ายจริงให้ครูต่างชาติแค่ 3 ล้านบาท จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เงินส่วนที่เหลือไปอยู่ไหน..."
โรงเรียนอนุบาลนครปฐม มิใช่โรงเรียนแห่งเดียว ที่เกิดปัญหาผู้ปกครอง ร้องเรียน เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโครงการ EP (English Program) ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินงานโรงเรียน ที่เปิดให้บริษัทเอกชน เข้ามารับหน้าที่จัดหาครูชาวต่างประเทศที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาตัวจริง เข้ามาสอน ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องประสิทธิภาพในการสอนที่เด็กจะได้รับ ขณะที่ค่าจ้างสอนที่ครูชาวต่างชาติเหล่านี้ ได้รับจากบริษัทเอกชน ก็มีราคาต่ำกว่าที่ทางโรงเรียนจ่ายให้เป็นอย่างมาก
เมื่อล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้ปกครองโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่งว่า ปัจจุบันโรงเรียนของรัฐหลายแห่ง ที่ต้องการหาครูต่างชาติเข้ามาสอนภาษาอังกฤษ จะต้องดำเนินการติดต่อจากบริษัทตัวแทนคนไทย เพื่อจัดหาครูมาสอนให้ และมีบริษัทเอกชนอยู่แห่งหนึ่ง ที่รับการติดต่อว่าจ้างจากโรงเรียนจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามค่าตอบแทนที่ ครูต่างชาติที่เข้ามาสอนหนังสือได้รับผ่านบริษัทตัวแทนจัดหา พบว่า จะอยู่ที่ 3.8 หมื่นบาทต่อเดือน แต่บริษัทเอกชนรายนี้ จะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามสัญญากับทางโรงเรียน ในราคาหัวละ 4.5 หมื่นบาทต่อเดือน มีส่วนต่างเกิดขึ้นจำนวนมาก
ขณะที่เงินค่าจ้างสอนเหล่านี้ ทางโรงเรียนจะเรียกเก็บเป็นรายหัวกับนักเรียน ห้องเรียนพิเศษ จะเรียกเก็บเป็นหมื่น ส่วนห้องเรียนธรรมดา ก็เก็บน้อยลงมา
โดยค่าจ้างห้องเรียนธรรมดา ค่าสอนครูจะอยู่ที่ 1.8 หมื่นบาท แต่บริษัทตัวแทนจัดหา เรียกเก็บเงินจากโรงเรียน 2.5 หมื่นบาท ในแต่ละปี โรงเรียนจะเรียกเก็บเงินจากผู้ปกครอง ปีละ 6-7 ล้านบาท แต่มาจ่ายจริงให้ครูต่างชาติแค่ 3 ล้านบาท จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เงินส่วนที่เหลือไปอยู่ไหน
ผู้ปกครองรายนี้ ยังระบุด้วยว่า จุดที่น่าสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง คือ สัญชาติของครูต่างชาติที่จัดหาเข้ามาสอนภาษา ส่วนใหญ่จะเป็นชาวฟิลิปปินส์ ไม่ใช่เจ้าของภาษาอังกฤษตัวจริงแต่อย่างใด ครูบางรายก็สอนหนังสือดี แต่ครูบางราย ก็สอนไม่ดี ซึ่งอาจมีผลต่อการเรียนการสอนของเด็กในระยะยาว
ผู้ปกครองรายนี้ ยังให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมา ได้พยายามแจ้งเรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาตรวจสอบเรื่องนี้ ได้รับแจ้งว่า การที่โรงเรียนจ้างครูผ่านบริษัทตัวแทน ไม่ผิด และการที่โรงเรียนจ้างแพงก็เป็นเรื่องทางโรงเรียนตกลงกับบริษัทเอง งบประมาณที่ใช้จ่ายในเรื่องนี้ก็เป็นงบจากผู้ปกครองไม่เกี่ยวกับทางกระทรวง จึงเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบปัญหาการทุจริตสำคัญหลายเรื่องในกระทรวงศึกษาฯ เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ส่วนนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับแจ้งข้อมูลว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เดินทางไปปฎิบัติภารกิจในต่างประเทศ
อ่านประกอบ :
4 ปี 44.8 ล้าน! ข้อมูลจัดซื้อจ้าง รร.อนุบาลนครปฐม -คุ้ยไม่เจอรายละเอียดสร้างตึกใหม่
เจาะถุงเงิน 3 เอกชน รับจ้างจัดหาครูต่างชาติ สอนภาษารร.อนุบาลนครปฐม
เปิดตัวบ.เอกชน รับเหมาจัดหาครูสอนภาษาอังกฤษอนุบาลนครปฐม-ได้ค่าจ้าง 14 ล.ต่อปี
ร้องสื่อสอบงบสร้างตึกด้วย! ผู้ปกครองยัน 'ไชยา' โทรเคลียร์ข้อพิพากอนุบาลนครปฐมจริง
เอ็กซ์คลูซีฟ: เปิดตัว อดีตผอ.รร.อนุบาลนครปฐม "ผมทำงานโปรงใส ไม่มีเรื่องทุจริต"
ผ่าปมร้อน รร.อนุบาลนครปฐม รายรับไม่พอจ่าย เหตุจ้างครูต่างชาติสอนแพงจริงหรือ?
ยกเลิกเก็บค่าเทอม3หมื่นแล้ว! ผอ.สพป.นครปฐม ยันสอบสวนอดีตผอ.รร.อนุบาลต่อแม้ลาออกราชการ
ร้องป.ป.ช.สอบอดีตผอ.อนุบาลรัฐในจว.นครปฐม ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบขึ้นค่าเทอมเป็น 3 หมื่น
ปมขึ้นค่าเทอมรร.อนุบาลนครปฐมลาม! อดีตผู้บริหารฯโดนยื่นเรื่องสอบทรัพย์สินด้วย