เก็บตกยุวมุสลิมะห์ชายแดนใต้เยือนอินโดฯ และเลาะรั้วการเมืองท้องถิ่นแดนอิเหนา
สื่อออนไลน์อินโดนีเซีย (hidayatullah.com) รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ฝ่ายกิจการสตรี พรรคกอาดิลลัน สยะห์ตรา (ยุติธรรมสวัสดิการ) หรือเปกาเอส (PKS) ของอินโดนีเซีย ได้เป็นเจ้าบ้านต้อนรับคณะยุวมุสลิมสตรี (ยุวมุสลิมะห์) จากประเทศเพื่อนบ้านของอินโดนีเซีย 2 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งเดินทางไปศึกษาดูงานด้านกิจการสตรีและความมั่นคงของครอบครัวของอินโดนีเซีย
คณะจากมาเลเซียมาจาก "มูลนิธิอิกรอม" (Ikram Foundation) ซึ่งเป็นองค์กรทางสังคมและการเผยแผ่ศาสนา องค์กรนี้มีบทบาทด้านการต่อสู้เพื่อสตรีในแนวทางอัล-อิสลามภายใต้กฎชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) ซึ่งมีบทบาทการทำงานทั้งในเวทีระดับชาติและสากล สิ่งที่กลุ่มนี้พยายามต่อสู้ก็คือ การปกป้องสิทธิสตรีภายในขอบเขตของอิสลาม และการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงและการเป็นผู้นำเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุมมะห์ (ประชาชาติมุสลิม) โดยองค์รวม
ส่วนคณะยุวมุสลิมะห์จากประเทศไทยมาจาก "มูลนิธิอัส-สลาม" ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทเคลื่อนไหวด้านสังคมและการเผยแผ่ศาสนา มูลนิธิอัส-สลามทำงานใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.โสร่ง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
คณะยุวชนสตรีมุสลิมทั้งสองคณะรวม 40 คนเดินทางไปดูงานและศึกษาอบรมด้านความมั่นคงของครอบครัว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ฝ่ายกิจการสตรีของพรรคเปกาเอสได้ดำเนินการมาตลอดในทุกจังหวัดของอินโดนีเซีย
"การเยือนของคณะจากมูลนิธิอัส-สลามประเทศไทย และมูลนิธิอิกรอมจากมาเลเซีย ถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูงยิ่งต่อพรรคของเรา ในฐานะที่เรามีบทบาทในการต่อสู้เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับสถาบันครอบครัวมาโดยตลอด" อานิส บิยารฺวาตี หัวหน้าฝ่ายกิจการสตรีของพรรคเปกาเอสกล่าว
"เวลานี้ฝ่ายกิจการสตรีของพรรคเปกาเอส ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะเรียกร้องเชิญชวนชนทุกกลุ่มในอินโดนีเซียในการรณรงค์เพื่อยกระดับคุณภาพของครอบครัว โดยเราได้เคลื่อนไหวผ่านองค์กรเพื่อการบริหารจัดการครอบครัวของพรรคที่เรียกอย่างย่อๆ ว่า ปุก (PUK)" เธอขยายความ
โดยอาศัยองค์กรนี้ พรรคเปกาเอสมุ่งหวังประการหนึ่งว่า ประเด็นปัญหาเรื่องครอบครัวจะถูกหยิบยกเป็นหัวข้อสำคัญในโครงการพัฒนาของประเทศ รวมทั้งจะเป็นส่วนสำคัญยิ่งในโครงสร้างการปกครองของประเทศ
"อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพูดถึงปัญหาของชาติ ไม่ว่าปัญหาการคอร์รัปชั่น ความยากจน และปัญหาสุขภาพที่มีมาตรฐานต่ำ รวมทั้งความด้อยคุณภาพของครอบครัว อาจกล่าวได้ว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่เข้าตาจนทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาแล้วที่จะให้มีการผลักดันอย่างเป็นระบบและอย่างเป็นบูรณาการเพื่อให้ครอบครัวเป็นพื้นฐานทางสังคมของชาติ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่เราสามารถตักตวงความเป็นเลิศได้"
ตลอดห้วงเวลาที่ไปเยือน คณะจากประเทศไทยและมาเลเซียได้ถือโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และร่วมกันถกประเด็นปัญหาต่างๆ กับฝ่ายกิจการสตรีของเปกาเอส โดยเฉพาะในเรื่องสื่อลามก การค้าเด็กและผู้หญิง การเพิ่มรายได้ของครัวเรือน และความมั่นคงของครอบครัว
นอกจากนี้ พวกเขาได้ถือโอกาสเชื่อมสัมพันธ์อันอบอุ่นในฐานะพี่น้องมุสลิมด้วยกันที่เรียกว่า "ซีลาตุรฺรอฮีม" รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนสังสรรค์และสานเสวนาในเรื่องสังคมทั่วๆ ไปกับนักเรียนระดับมัธยมของอินโดนีเซียบางโรงเรียน และกับองค์กรทางสังคม บุคลากรด้านกฎหมายระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง ตลอดจนได้รู้จักและเชื่อมสายใยสัมพันธ์กับท่าน ผอ.ออร์มัส ซาลีมาห์ ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยเกี่ยวกับความมั่นคงของครอบครัวของอินโดนีเซีย (LK3I), ท่านลุฎฟี ฮัสซัน อิสฮาก อ.ม. (51 ปี) ซึ่งเป็นอดีตประธานนักศึกษาอิสลามแห่งอินโดนีเซีย และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายการต่างประเทศของพรรคเปกาเอส
ปัจจุบันท่านลุฎฟี ฮัสซัน อิสฮาก เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) และประธานพรรคเปกาเอส และยังมี ดร.นูร มาห์มูดี อิสมาแอล นายกเทศมนตรีเมืองเดป็อก, ฯพณฯ ตีฟาตุล เซิมบีริง วิศวกร (51 ปี) ประธานพรรคเปกาเอสคนก่อน ซึ่งมีชื่อเสียงทางว่ากลอนสด "ปันตุนมลายู" ตัวยง ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและสารสนเทศ ซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นรัฐมนตรีที่ต่อต้านสื่อลามกในอินโดนีเซียอย่างเข้มแข็ง ด้วยการหนุนชนิดสุดตัวจากผู้นำรัฐบาล ฯพณฯ ดร.สุศีโล ยุทธโยโน บัมบัง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
เลาะรั้วการเมืองอินโดฯ และพรรคเปกาเอส
อนึ่ง พรรคเปกาเอสหรือพรรคกอาดิลลัน สยะห์ตรา ปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองอิสลามที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย แนวนโยบายของพรรคเน้นการสร้างสรรค์การเมืองและสังคมคุณธรรม ส่งเสริมบทบาทสตรี และยึดมั่นแนวทางศาสนาอิสลามสายกลาง โดยอดีตประธานพรรคคนที่ 2 ดร.ฮีดายัต นูรวาฮิด (52 ปี) เคยดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ หรือประธานสภา (ที่ปรึกษา) ผู้แทนราษฎรระหว่าง พ.ศ.2547- พ.ศ.2552 เขาเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเป็นนักวิชาการด้านศาสนาและนักการเมืองมือสะอาด อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งสำเร็จปริญญาโท (พ.ศ.2530) และเอก (พ.ศ.2535) จากมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย แผนกอะกีดะห์ (หลักการศาสนาอิสลาม) ถือเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ ผศ.ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ชาวมุสลิมกรุงเทพฯ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากสถาบันเดียวกันและแผนกเดียวกัน โดยได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (พ.ศ.2527) ปริญญาโทเกียรตินิยม (พ.ศ.2531) และปริญญาเอกเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (พ.ศ. 2535)
ภายหลังสำเร็จการศึกษา ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข ได้กลับเมืองไทยและเดินทางลงไปปัตตานี (พ.ศ.2536) เพื่อสอนหนังสือที่แผนกอิสลามศึกษา วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หลายปีต่อมาจึงกลับมาสอนภาษาอาหรับ ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แม้ว่าจะไม่ได้ลงเล่นการเมืองเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นชาวอินโดนีเซีย แต่ก็มีบทบาทสำคัญในฐานะคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านศาสนา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย นายอรุณ บุญชม ประธานที่ปรึกษา รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี นายสรกิจ หะซัน ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข และ ดร.อณัส อมาตยกุล เป็นที่ปรึกษา
ในขณะที่ ดร.ฮีดายัต นูรวาฮิด หันมาเล่นการเมืองท้องถิ่น โดยเพิ่งเข้าสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการและรองผู้ว่าการนครจาการ์ตา คู่กับ ศ.ดร.ดีดิก รัคบีนี ในนามพรรคเปกาเอส ถ้าประสบความสำเร็จก็จะได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในห้วงเวลาตั้งแต่ปีนี้ถึงปี พ.ศ.2560 แต่ก็คงต้องเจอคู่แข่งที่น่ากลัวอย่าง นายจาโก วิโดโด (51 ปี) ซึ่งรู้จักกันด้วยสมญา "จาโกวี" (Jakowi) นายกเทศมนตรีเมืองสุระการ์ตา (Surakarta) หรือโซโล (Solo) แห่งยอกยาการ์ตา 2 สมัย ซึ่งมีศักดิ์ศรีเป็นนายกเทศมนตรีดีเด่นของทั่วทั้งอินโดนีเซีย และเป็นที่ยอมรับในฝีไม้ลายมือการบริหารและการปกครองในระบอบฟังเสียงและสำรวจความต้องการของประชาชนอย่างโดดเด่น
"จาโกวี" ถือว่ามีศักดิ์ศรีเป็นนายกเทศมนตรีดีเด่นของทั่วทั้งอินโดนีเซียเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฝีไม้ลายมือด้านการบริหารและการวางระเบียบการปกครอง เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ชอบฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะริเริ่มทำอะไร เขาจะลงทุนย่ำไปสำรวจความต้องการของประชาชนทุกแห่งหนตำบลด้วยตนเอง
ทั้งนี้จากข้อมูลยืนยันของคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยจากประเทศไทย ซึ่งเคยเดินทางไปศึกษาดูงานด้านธรรมาภิบาลและการกระจายอำนาจในอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 23–30 ต.ค.ปีที่แล้ว (โครงการ USAID/Sapan) รวมทั้งได้เดินทางไปสัมภาษณ์ "จาโกวี" และสำรวจตลาดเทศบาลเมืองสุระการ์ตา (โซโล) แม้จะเป็นช่วงเวลาอันสั้น แต่ก็สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าผลงานของเขาโดดเด่นจริงๆ
"จาโกวี" เป็นวิศวกรซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านอุตสาหกรรมป่าไม้จากมหาวิทยาลัยในจังหวัดยอกยาการ์ตา เขาประสบความสำเร็จในอาชีพนักธุรกิจด้านเครื่องเรือนและการส่งออก ตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งนักการเมืองท้องถิ่นเขาไม่เคยรับเงินเดือน "จาโกวี" ชอบตระเวนไปพบปะคนรากหญ้า ประชาชนทุกกลุ่มและทุกวัน เพื่อรับทราบปัญหาของชาวบ้าน และเป็นโอกาสที่เขาจะได้รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนโดยตรง
เมื่อต้นปีนี้ศูนย์เฝ้าระวังคอร์รัปชั่นอินโดนีเซีย (ICW) ประกาศว่า การบริหารของ "จาโกวี" เป็นไปอย่างโปร่งใสและไร้คอร์รัปชั่น เขาสามารถบริหารจัดการทุกอย่างอย่างครบถ้วนด้วยหลักธรรมาภิบาล นักสังเกตการณ์ทางการเมืองอินโดนีเซียคาดว่า "จาโกวี" จะได้เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงที่ไม่ใช่มุสลิมและมุสลิมหัวเสรีนิยมซึ่งมีจำนวนมากในนครจาการ์ตา
การที่ "จาโกวี" ย้ายถิ่นจากบ้านเกิดที่เมืองโซโล ยอกยาการ์ตา (หมดสมัยที่สองซึ่งกำหนดไม่เกินสองสมัยในบ้านเกิด) มาสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ว่าการนครจาการ์ตา แสดงว่าเขามีความมั่นใจไม่น้อยในการลงสนามเลือกตั้งที่จาการ์ตาซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดยอกยาการ์ตาโดยเที่ยวบินประมาณ 55 นาที การที่เขามุ่งมั่นลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้เท่ากับเขาได้กำหนดอนาคตทางการเมืองของตนเองที่น่าจะสูงกว่าการเป็นผู้ว่าการนครจาการ์ตาเพียงเท่านั้น!
สำหรับ ดร.ฮีดายัต นูรวาฮิด อดีตประธานสภาฯ และอดีตประธานพรรคกอาดิลลัน สยะห์ตรานั้น มีภาษีมากกว่า "จาโกวี" เพราะเป็นถึงอดีตหัวหน้าพรรคอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย รวมทั้งเป็นอดีตประธานสภาฯ และนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ดร.ฮีดายัต นูรวาฮิด เป็นที่ชื่นชมและชื่นชอบของชาวมุสลิมอินโดนีเซีย "กลางๆ" ที่ค่อนข้างเคร่งครัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นคนที่นิยมแนวทางสันติวิธี ยึดมั่นอิสลามสายกลาง และมักอะลุ้มอล่วยกับผู้ที่ไม่ใช่อิสลามิกชน (เช่นกรณีการแสดงความเห็นว่า เหล้าไม่ใช่สิ่งต้องห้ามในจาการ์ตาหรือในอินโดนีเซีย) เขาจึงเป็นที่ยอมรับในทางสากลอย่างกว้างขวาง
แนวทางศาสนาอิสลามในอินโดนีเซียที่ฉายจากมุมมองของ ดร.ฮีดายัต นูรวาฮิด จะเห็นได้จากบทปาฐกถาของเขาในหัวข้อ "อนาคตของการเมืองอิสลามในอินโดนีเซีย และการสนับสนุนต่อความมั่นคงในภูมิภาค" (The Future Of Political Islam In Indonesia And Its Contribution To Regional Stability) ซึ่งเขาได้รับเชิญไปบรรยาย (ภาษาอังกฤษ) ณ สถาบันนโยบายสาธารณะลี กวน ยิว มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (School of Lee Kuan Yew Public Policy, National University of Singapore) ท่านที่สนใจสามารถรับฟังและรับชมได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=uc3v8XS-ZzA
และสำหรับท่านที่ยังสนใจที่จะศึกษาแนวคิดหรือวิสัยทัศน์ของประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม ในฐานะประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศพี่เบิ้มประเทศหนึ่งของประชาคมอาเซียน โดยผ่านทัศนะของผู้นำอินโดนีเซียคนปัจจุบัน ดร.สุศีโล บัมบัง ยุทธโยโน เชิญรับฟังทัศนะของท่านได้จากสุนทรพจน์ (ภาษาอังกฤษ) ซึ่งท่านได้กล่าว ณ โรงเรียนการบริหารการปกครองจอห์น เอฟ เคนเนดี้ สถาบันการศึกษาการเมือง มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา (John F. Kennedy School of Governance, Institute of Politics, Harvard Universary) เมื่อราวๆ สัก 3 ปีที่แล้ว ดังนี้
ตอนที่ 1 รับฟังและรับชมได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=vNPT4UvG36g&feature=relmfu
ตอนที่ 2 รับฟังและรับชมได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=WzPxujM63BA&NR=1
ตอนที่ 3 รับฟังและรับชมได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=KPRlnS6B95k&feature=relmfu
ตอนที่ 4 รับฟังและรับชมได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=xkXNtHMQY5w&feature=relmfu
และตอนสุดท้ายรับฟังและรับชมได้จาก http://www.youtube.com/watch?v=jPG_8vdQWZQ&feature=relmfu
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กลุ่มผู้หญิงกำลังสานเสวนา จัดโดยฝ่ายกิจการสตรี พรรคเปกาเอส
2 อานิส บียารฺวาตี หัวหน้าฝ่ายกิจการสตรี พรรคเปกาเอส
3 โปสเตอร์หาเสียงผู้ว่าการและรองผู้ว่าการนครจาการ์ตา ดร.ฮีดายัต-ศ.ดร.ดีดิก
4 ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กำลังมอบของที่ระลึกแก่ "จาโกวี" นายกเทศมนตรี "ดีเด่น" แห่งเมืองสุระการ์ตา (โซโล) ในคราวไปศึกษาดูงานด้านธรรมาภิบาลและการกระจายอำนาจในอินโดนีเซียระหว่างวันที่ 23 – 30 ต.ค.2554