ปชช.52.38%มองครูตรวจการบ้านผิด ไม่มีจรรยาบรรณ แนะปฏิรูปความเลื่อมล้ำการศึกษา
ปชช.52.38%มองครูตรวจการบ้านผิด-ปล่อยนร.ถูกล่วงละเมิด ไม่มีจรรยาบรรณ แนะควรปฏิรูปความเลื่อมล้ำการศึกษา พร้อมคาดหวังให้ครูเป็นแบบอย่างที่ดีต่อนร.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ครู/อาจารย์ และ การศึกษาไทยในปัจจุบัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 4 ต.ค. 2561
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับข่าว ครูตรวจการบ้านผิด ครูปล่อยปละนักเรียนจนถูกรุ่นพี่ล่วงละเมิดทางเพศ อาจารย์ให้นักศึกษาแก้เกรดด้วย SEX แลก ฯลฯ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.38 ระบุว่า ไม่มีจรรยาบรรณในการเป็นครู/อาจารย์ รองลง ร้อยละ 33.94 ระบุว่า ไม่มีคุณธรรม (เมตตา กรุณา ซื่อสัตย์ สุจริต) ร้อยละ 27.42 ระบุว่า ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และวิชาชีพครู ร้อยละ 19.87 ระบุว่า ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์ ร้อยละ 17.73 ระบุว่า ไม่เอาใจใส่ศิษย์ ไม่ใส่ใจการสอน ร้อยละ 6.36 ระบุว่า เป็นการกลั่นแกล้ง ดูถูกเหยียดหยามศิษย์ ร้อยละ 2.86 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ รู้สึกเฉย ๆ อยู่ที่ตัวครู/อาจารย์ และเด็ก และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ด้านคุณสมบัติที่ดีของ “ครู/อาจารย์” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.94 ระบุว่า เป็นที่ปรึกษาและรับฟังปัญหาของนักเรียน ในเรื่องต่าง ๆ รองลง ร้อยละ 23.13 ระบุว่า มีทักษะในการสอน ถ่ายทอดความรู้ได้ดี ร้อยละ 18.36 ระบุว่า มีระเบียบวินัย ร้อยละ 14.87 ระบุว่า เก่ง มีความรู้ความสามารถ พัฒนาตัวเองหาความรู้อยู่เสมอ ร้อยละ 4.85 ระบุว่า ใจดีไม่ดุ ไม่ลงโทษเด็ก ร้อยละ 4.77 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับศิษย์ มีคุณธรรมและจริยธรรม และร้อยละ 0.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับจรรยาบรรณ “ครู/อาจารย์” ที่ควรมีมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.72 ระบุว่า อบรม สั่งสอน ฝึกฝน สร้างความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์เต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ รองลงมา ร้อยละ 27.82 ระบุว่า รักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์เสมอ ร้อยละ 25.68 ระบุว่า รักและศรัทธาในวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู ร้อยละ 8.35 ระบุว่า ไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร้อยละ 3.81 ระบุว่า ไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกายสติปัญญา จิตใจ อารมณ์และสังคมของศิษย์ ร้อยละ 2.46 ระบุว่า ปฏิบัติตน เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญา และวัฒนธรรมไทย และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อ “ครู/อาจารย์” ไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.54 ระบุว่า ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น ตรงต่อเวลา พูดจาชัดเจน แสดงความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา สุภาพเรียบร้อย เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 34.42 ระบุว่า ตั้งใจถ่ายทอดวิชาการ ร้อยละ 31.80 ระบุว่า ซื่อสัตย์ ยุติธรรม ไม่มีอคติลำเอียงต่อลูกศิษย์ ร้อยละ 28.06 ระบุว่า รักและเข้าใจศิษย์เพื่อที่ศิษย์จะได้กล้าปรึกษาในสิ่งต่าง ๆ ร้อยละ 24.09 ระบุว่า ส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้เรียนหาวิธีการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น ร้อยละ 18.84 ระบุว่า ไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด เช่น พูดจาข่มขู่ ใช้คำพูดไม่สุภาพ เยาะหยันหรือดูถูกผู้เรียน ร้อยละ 16.06 ระบุว่า ช่วยเหลือศิษย์โดยสังเกตความผิดปกติหรือข้อบกพร่องของศิษย์ และพร้อมให้การช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ร้อยละ 0.87 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ไม่คาดหวังอะไรกับ “ครู/อาจารย์” ไทยในปัจจุบัน และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงสิ่งที่ควรปฏิรูปมากที่สุดด้านการศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.55 ระบุว่า ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รองลงมา ร้อยละ 24.48 ระบุว่า กลไกและระบบการผลิต คัดกรอง และพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ร้อยละ 19.16 ระบุว่า ปรับโครงสร้างของหน่วยงานในสถานการศึกษา เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ร้อยละ 12.48 ระบุว่า การบริหารจัดการกลุ่มเด็กเล็กและเด็กก่อนวัยเรียน ร้อยละ 11.37 ระบุว่า การจัดการเรียนการสอน เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงใน ศตวรรษที่ 21 ร้อยละ 4.69 ระบุว่า การศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล และร้อยละ 1.27 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ