คำถามจาก “ชุมชนป้องอ่าวบางละมุง-นาเกลือ”...ดุลยภาพการพัฒนาอยู่ตรงไหน?
ในกระแสการเปลี่ยนแปลงที่โอบล้อมชุมชนท้องถิ่นให้เหลือที่ยืนน้อยลงทุกขณะ ชุมชนอ่าวบางละมุง-นาเกลือ จ.ชลบุรี กำลังเผชิญหน้ากับอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล การสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกมูลค่านับหมื่นนับแสนล้าน
คนประมงพื้นบ้านมีแต่ความคิดที่จะคงไว้ซึ่งท้องทะเลของตนเองสืบทอดต่อยอดถึงลูกหลาน ไม่ตักตวงเฉพาะประโยชน์ตน วันนี้ชีวิตคนเล็กคนน้อยชุมชนชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบางละมุง-นาเกลือ กำลังถูกท้าทาย… ระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจ กับวิถีชีวิตชุมชนชาวประมง ดุลยภาพควรอยู่ตรงไหน?
หว่านเมล็ดเพิ่มศักยภาพ ให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือของโลก
เพื่อผลักดันไทยก้าวไกลระดับโลกสู่พานิชย์นาวีมุ่งเป็น 1 ใน 10 ประเทศของโลกที่มีเรือผ่านท่ามากที่สุด โดยพัฒนาศักยภาพการแข่งขันขนส่งสินค้าทางทะเล เป็นประตูการค้าของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คาดหวังว่าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 จะเป็นคำตอบ
ข้อมูลจากเว็บ www.laemchabangportphase3.com ประมาณการว่าภายหลังผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว การเติบโตของปริมาณการเข้าออกสินค้าน่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี หมายความว่าในปี 2559 ปริมาณตู้สินค้าที่ผ่านท่าเรือแหลมฉบังจะสูงเกินกว่า 10 ล้าน ทีอียู (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ ความยาว 20 ฟุต เท่ากับ 1 ทีอียู) และในปี 2563 จะมีปริมาณสินค้าสูงถึง 16 ล้านทีอียู ซึ่งสูงเกินขีดความสามารถของโครงการขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2
ซึ่งโครงการขั้นที่ 1 ถูกออกแบบให้สามารถรองรับตู้สินค้าที่ไม่สามารถเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพได้ 4.0 ล้านทีอียู และหลังจากโครงการขั้นที่ 1 รองรับตู้สินค้าจนทะลุขีดความสามารถ รัฐบาลจึงผลักดันแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โครงการขั้นที่ 2 ตามมาเพื่อให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยประมาณการว่าจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 6.8 ล้านทีอียู และหากรวมโครงการขั้นที่ 3 ที่จะใช้เงิน 88,000 ล้าน ในการก่อสร้าง สามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 8 ล้านทีอียู รวมทั้งหมด 18.8 ล้านทีอียู หากเป็นจริงดังที่คาด ท่าเรือแหลมฉบังจะมีศักยภาพรองรับตู้คอนเทนเนอร์ ได้กว่า 19 ล้านตู้ คิดดูรายได้ต่อปี จะอยู่ที่หลักอะไรก่อนล้านดี
ขณะที่การคาดการณ์ปีงบประมาณ 2555 การท่าเรือแห่งประเทศไทย ระบุว่าท่าเรือแหลมฉบังจะมีตู้สินค้าผ่านท่าประมาณ 6.0 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6% ซึ่งการเกิดขึ้นของท่าเรือขั้น 1 และ 2 นอกจากนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ก่อผลกระทบกับชุมชนด้วยเช่นกัน
เฟส 1-2 ปัญหายังไม่จบ... อย่าพึ่งพูดถึงเฟส 3
ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิจัยท้องถิ่น ให้ข้อมูลกับผมว่า โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังเฟสที่ 1 เกิดขึ้นในปี 2530 มาเสร็จสมบูรณ์เปิดดำเนินการในปี 2534 และเฟสที่ 2 ตามเข้ามาในปี 2540 สร้างเสร็จในปี 2543 เปิดดำเนินการในปี 2544 ทั้งสองโครงการมีพื้นที่ทางบก ประมาณ 6 พันกว่าไร่ และพื้นที่ทางทะเลที่มีการเวณคืนในปี 2539 อีก 3 หมื่นกว่าไร่ แต่การท่าเรือยังไม่ได้เอาพื้นที่ทางทะเลไปทั้งหมดยังคงให้ชาวบ้านได้หากิน ทำการประมงได้อยู่ แต่การท่าเรือไม่เคยรับผิดชอบ ไม่เคยมาดูแลผลกระทบอะไรกับชาวบ้านเลย
เมื่อโขดปลาหมึก หรือสันดอนใต้ทะเล แหล่งที่อยู่อาศัยและขยายพันธ์ของหมึกกล้วย ทำเลทำมาหากินของชาวบ้าน ถูกแทนที่จนเหลือเพียง 20 % ด้วยแนวเขื่อนกันคลื่น หรือ water break ยาว 3 กิโลเมตร สร้างขึ้นเพื่อกันคลื่นทะเลที่จะเข้ามากระทบกับการเทียบท่าขนถ่ายสินค้าทางทะเล เป็นต้นเหตุทำให้น้ำเปลี่ยนทิศ ระบบนิเวศของน้ำ และทราย ไปไหนไม่ได้ ชายฝั่งทะเลเปลี่ยนแปลงเกิดการกัดเซาะชายฝั่งไปเรื่อยๆ เกิดตะกอนเลนทับถม ทรัพยากรใต้ทะเลบางอย่างสูญพันธ์ อย่างหอยตลับ หอยกระโดดหายไป ป่าชายเลนก็หายไป
ดร.สมนึก อธิบายต่อว่านอกจากมีท่าเรือและปัญหาคราบน้ำมันและน้ำเสียปล่อยทิ้งจากเรือเดินสมุทรลอยซัดเข้าฝั่งแล้ว สิ่งที่ตามมาคือโรงไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม โกดัง รถคอนเทนเนอร์ การขนส่งทางรถไฟ อากาศเสีย น้ำเสีย ผู้คนต่างถิ่นก็อพยพเข้ามา เป็นต้นเหตุปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคม ลักขโมย ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย ยาเสพติด ขยะ สิ่งแวดล้อม รถติด อุบัติเหตุ ขณะที่รัฐไม่เคยเตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้
ประเด็นที่กลุ่มชาวประมงกังวลมากที่สุดก็คือว่า เขาสัมผัสกับผลกระทบหลังจากการทำเฟส 2 เสร็จแล้ว ประมาณ 3 ปี ระบบนิเวศชายฝั่งเขาเสียไปทั้งหมด ทั้งการตื้นเขิน สัตว์น้ำขนาดเล็กลดลง มีตะกอนเพิ่มขึ้น และก็การกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มขึ้น ป่าชายเลนหายไปทำให้เขตพื้นที่ทำกินต้องขยับออกไปอีก ที่เป็นปัญหาเพราะว่าชาวบ้านทำประมงพื้นบ้าน เป็นประมงขนาดเล็ก เครื่องไม้เครื่องมือที่มีไม่เอื้ออำนวยที่จะออกหากินไกล สัตว์น้ำลดลง รายได้ก็ลดลง ถ้าเกิดเฟส 3 ขึ้นมา ทำให้ระบบนิเวศที่กำลังพื้นตัวยิ่งกลับแย่ลงไปอีก
“พอแล้วกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ท่าเรือ เป็นการพัฒนาถูกทิศทางแล้วหรือ ทำไมเอาอุตสาหกรรมมาอยู่กับการท่องเที่ยว เราต้องการพัฒนาโดยยึดธรรมชาติและชุมชนเป็นศูนย์กลาง เราต้องยอมรับความจริงแล้วมาช่วยกันแก้ปัญหา และหาคำตอบว่าการพัฒนาภาคตะวันออก อะไรน่าจะเหมาะสมกับพื้นที่มากกว่ากัน”
สัญญากับดวงตะวัน ของคนเลบางละมุง
“ผมขอสัญญากับดวงตะวัน แม้ตัวจะตาย ผมจะไม่ยอมให้เกิดการก่อสร้างท่าเรือใน เฟสที่ 3” คำพูดของลูกทะเลอ่าวบางละมุง รังสรรค์ สมบูรณ์ ประธานกลุ่มประมงบ้านบางละมุง ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่พูดออกมา ขณะกำลังนำเรือพาทีมงานมุ่งหน้าสู่เขตท่าเรือแหลมฉบัง เล่าให้ฟังอย่างคนอัดอั้น
“เมื่อมีเฟสที่ 1 ปัญหายังไม่ได้แก้ คุณนำเฟสที่ 2 เข้ามา ปัจจุบันตะกอนเลนเกิดขึ้นเต็มอ่าวบางละมุงไปหมด เมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นหาดทรายสวยน้ำทะเลสะอาดใส ปัจจุบันมีสิ่งปฏิกูลคล้ายกับที่ทิ้งของเสีย คุณบอกว่าเป็นโครงการที่สวยหรู จะมีเฟสที่ 3 เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือทวายประเทศพม่า ขนส่งทางรถไฟนำมาลงถึงท่าเรือ เพื่อการส่งออกต่างๆ มันเพ้อฝันมากกว่า ช่วงที่สร้างเฟสที่ 2 เสร็จ สัตว์น้ำในอ่าวบางละมุงหายไป สัตว์มีชีวิตในทะเลบางละมุงตายหมด หอยแมลงภู่ที่ชาวบ้านเลี้ยงตายหมด กุ้ง หอย ปู ปลาตายหมดไม่มีอะไรเหลือเลย”
รังสรรค์ ยังระบายต่อถึงการทำมาหากิน แต่เดิมคนที่นี่ออกทะเลหาปูปลาได้อย่างอุดมสมบูรณ์ แต่พอธรรมชาติถูกเปลี่ยนแปลง ความอุดมสมบูรณ์ลดลงจนบางวันออกไปแทบไม่ได้กลับมาเลยก็มี หอยเสียบเปลือกบาง หอยกระปุก หอยกระโดด และเคยที่ชุกชุม บัดนี้สูญพันธ์ถาวรจากตะกอนเลนที่บางช่วงหนาเกือบ 3 เมตร และเมื่อเดือนตุลาคมปี 2541 เกิดหอยตายทั้งอ่าวบางละมุง พวกเราทำเรื่องร้องเรียนแต่ก็หาผู้รับผิดชอบไม่ได้
ระหว่างที่ฟัง รังสรรค์พูดถึงความเจ็บปวด ผมลอบมองดวงตาเขา แต่กลับพบแววตาที่มุ่งมั่น
“ถ้าคุณจะมาสร้างเฟส 3 ชาวประมงบ้านบางละมุง แหลมฉบัง โรงโป๊ะ นาเกลือ สูญสิ้นลงไปแน่ มันยุติธรรมสำหรับพวกเขาไหมที่ต้องมาสูญเสียอาชีพนี้ลงไป หากเราไม่มีทะเลอนาคตลูกหลานใครจะรับผิดชอบ รัฐไม่ต้องมาดูแลชาวประมงหรอกเขาอยู่กันเองได้ วิถีชาวประมงนั้นไม่มีวัยเกษียณสามารถหากินได้จนถึงอายุ 70 โดยไม่ต้องพึ่งลูกหลาน เราอยู่ของเราได้อย่างสบายๆวันหนึ่ง 700-2000 บาท ส่งเสียลูกหลานให้เรียนหนังสือได้อย่างสบาย หลายครั้งที่โครงการของภาครัฐถูกต่อต้านจากประชาชนเพราะอะไร เพราะมันเข้ามารุกล้ำบ้าน จำกัดสิทธิทำกิน คุณคิดว่าคุณเป็นใครที่จะแนะนำให้เขาเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนการเพาะเลี้ยง ผมว่ารัฐไม่ควรทำ”
กระชังปูไข่ ธนาคารปูม้า
แม้ได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของท่าเรือขั้นที่ 1 และ 2 ชาวประมงที่นี่ไม่เคยร้องขออะไร กลับรวมกลุ่มฟื้นฟูอ่าวบางละมุง-นาเกลือให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา โดยก่อตัวเป็นเครือข่ายทำกระชังปูไข่ ธนาคารปูม้า ทำมาแล้วนับ 10 ปี นำปูไข่นอกกระดองฝากไว้ที่กลุ่ม บริจาคแม่พันธ์กุ้งแชบ้วย พันธ์ปลากระพง ปลาเก๋า และสัตว์น้ำต่างๆปล่อยลงอ่าวบางละมุง เพื่อให้ทะเลหน้าบ้านฟื้นตัว ชาวประมงสามารถฟื้นตัวได้
ธวัชชัย ประคองฝัน ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านชายทะเล ต.บางละมุง อ.บางละมุง ผู้ดูแลธนาคารปูม้า เล่าให้ฟังว่ากำหนดกติกาห่างฝั่ง 500 ร้อยเมตรให้เป็นที่อนุบาล ห้ามทำประมงทำให้ปูกุ้งสามารถอยู่กับที่ได้ และกำหนดขนาดของตาข่าย เมื่อชาวบ้านเห็นผลเห็นความสำคัญของธนาคารปูม้าที่ทำให้ไม่ต้องไปหากินถิ่นอื่น สามารถหากินกุ้งแชบ้วยปูม้าได้ตลอดทั้งปี ก็เต็มใจร่วมมือ และนำแม่พันธ์กุ้ง ปูมาให้ฟรี เมื่อมีคนจากอ่าวอื่นมาขอ อย่างคนมหาชัยเราก็แบ่งแม่พันธ์กุ้งแช่บ้วยไปให้ ซึ่งวันนี้ชาวบ้านสามารถหากินจับได้เกือบทุกวันหมด ถ้าไม่ทำหมดแน่นอน ชาวบ้านบางคนลงทะเลไป 3 ชั่วโมงได้มา 3-4 กิโลกรัม แค่นี้วันๆ เราก็อยู่ได้
“เฟส 1 เฟส 2 สร้างก็ไม่ได้ถามเรา เราไม่เคยขัดขวาง ถ้าสร้างท่าเรือเฟส 3 จะกินเนื้อที่ประมาณ 7 กิโลเมตร ทะเลบ้านเราจะหายไปอีก 4 กิโลเมตร ชุมชนบ้านชายทะเล นาเกลือ บ้านโรงโป๊ะ บ้านบางละมุง ต้องมาแย่งทรัพยากรกัน ในเมื่อเราทำให้ทรัพยากรมีอยู่ในอ่าวเรา แต่เขาจะมาทำลาย เอาเปรียบกับพวกเรามากเกินไป เราพยายามรวมกลุ่มลุกขึ้นสู้ เราไม่ถอย เราจะรักษาทะเลหน้าบ้านไว้ให้ได้”
คนบ้านแหลมฉบัง หวั่นท่าเรือขอพื้นที่คืน
การเวนคืนที่ดิน เป็นอีกประเด็นที่ชุมชนแถบนี้กังวลกลัวถูกย้ายถิ่น ไม่ต่างจากที่ชุมชนบ้านแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา ที่เกรงว่าการอนุโลมให้อยู่อาศัยทำกินในเขตเวนคืนจะสิ้นสุดลง
อัมพร คชรัตน์ ประธานชุมชนบ้านแหลมฉบัง วิงวอนว่า “เราเดือดร้อนมานาน อยากให้ยกเว้นบ้างในการขอใช้น้ำใช้ไฟฟ้าได้ ซ่อมแซมพัฒนาโรงเรียนบูรณะวัดได้ ปัจจุบันเราถูกตัดขาดความช่วยเหลือ ช่วยกันดูแลโรงเรียน วัด และสิ่งแวดล้อมกันเอง ป่าชายเลนก็ร่วมรักษาฟื้นฟู ที่นาที่ไร่กว่า 10,000 ไร่ ก็เวนคืนไปหมดแล้ว เหลือพื้นที่ชุมชน วัด โรงเรียน 400 ร้อยกว่าไร่ อยากให้เว้นไว้ ได้ยินว่าเขาจะนำไปพัฒนาเป็นบ้านพักพนักงาน”
อัมพร เล่าให้ฟังอีกว่าลูกชายของคนในหมู่บ้านอยากจะบวชที่วัดแหลมฉบังก็บวชไม่ได้ ทั้งที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาคช่วยกันก่อสร้างมาเอง สร้างเสร็จไม่นานก็ถูกการท่าเรือเวนคืนที่ดิน ยังถูกตัดขาดความช่วยเหลือจากราชการ การซ่อมบำรุงถนน การสร้างท่อระบายน้ำ งบที่จะมาสร้างวัดโรงเรียนก็ถูกตัด ขอบ้านเลขที่เพื่อใช้น้ำไฟก็ไม่ได้ ต้องผ่านการพิจารณาจากการท่าเรือก่อน
เครือข่ายประชาชนคัดค้านท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3
ที่ผ่านมาชุมชนอ่าวบางละมุง-นาเกลือ ไม่เคยคัดค้านทั้งเฟส 1 และ 2 ยอมรับและปรับตัวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่เมื่อปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อจะสร้างเฟส 3 ต่อ ชาวบ้านจึงตั้งเครือข่ายประชาชนคัดค้านท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 ที่มีกลุ่มอนุรักษ์อ่าวบางละมุง กลุ่มอนุรักษ์อ่าวนาเกลือ ชาวบ้านบางละมุง บ้านโรงโป๊ะ บ้านชายทะเล บ้านตะเคียนเตี้ย บ้านหนองเกตุน้อย บ้านแหลมฉบัง บ้านพักฟื้น บ้านตะเคียนเตี้ย บ้านสทิงลาย บ้านนาเกลือ บ้านพัทยาบางส่วน เพื่อปกปักพื้นที่ทำกินทางทะเลขนาด 4,125 ไร่ ที่จะใช้ในการก่อสร้างเฟส 3
นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไตรภาคี มีภาคประชาชน หน่วยงานราชการ นักวิชาการ กำกับติดตามการพัฒนาเพื่อขยายขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด 1) คณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินกิจการของการท่าเรือแหลมฉบัง 2) คณะอนุกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคมในพื้นที่โดยรอบการท่าเรือแหลมฉบัง 3) คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง
เมื่อมีการต่อต้านจากชาวบ้าน ทำให้การท่าเรือฯ จำเป็นต้องชะลอโครงการไว้ชั่วคราว โดยรอให้ผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด ตรวจสอบผลกระทบตั้งแต่เฟส 1-2 โดยมีเงื่อนไขว่าถ้าการท่าเรือแก้ปัญหาได้ครบถ้วนทุกประการแล้ว จึงค่อยกลับมาพิจารณาโครงการเฟส 3 อีกครั้ง
ผลจากการต่อสู้อาจเป็นการยืดลมหายใจได้ห้วงเวลาหนึ่ง แต่ชะตากรรมข้างหน้ายังไม่สามารถหยั่งรู้ได้
“หากท่าเรืออยู่ได้ชาวบ้านอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ได้ท่าเรืออยู่ได้ ถ้าท่าเรืออยู่ได้แต่ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ เราจะทำไปทำไม” ประโยคในช่วงท้ายๆที่รังสรรค์ สมบูรณ์ พูดขึ้นมาก่อนจะสิ้นสุดการสนทนา
“ชาวประมงที่นี่ทำมาหากินกันมาแต่บรรพบุรุษ อาจต้องพ่ายแพ้แก่ผู้มาที่หลังที่อ้างการเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ พวกคุณไม่ใช่เจ้าชีวิตพวกเรา การเพ้อฝันคาดเดาพยากรณ์จากคนไม่กี่คน คุณไม่ต้องรับผิดชอบอะไรหากคำนวณผิดขึ้นมา แต่วิถีชีวิตนี้ผมต้องปกป้องด้วยชีวิตอยู่แล้ว”
ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับสิทธิชุมชน “ดุลยภาพ” ใครเป็นผู้กำหนด .