สธ. แถลงยอมรับ รพ.ในสังกัดแออัดจริง
ปลัด สธ. แถลงยอมรับ รพ.ในสังกัด ก.สาธารณสุข แออัดจริง ชูนวัตกรรม ใช้ระบบทำงานแบบกลุ่มโรงพยาบาล สร้างเครือข่าย หวังเยียวยาปัญหา นำระบบไอทีจองคิวพบหมอ นำร่อง ราชบุรี-ปทุมธานี
วันที่ 3 ต.ค. 2561 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด สธ. แออัดและการพัฒนาบุคลากร โดยกล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมา รพ.มีความแออัดจริงและเป็นปัญหาซ้ำซ้อนมานานหลายสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. ได้รับทราบและมุ่งแก้ปัญหา
“การดูแลแก้ไขปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับ สธ. เพียงฝ่ายเดียว หลายอย่างต้องสร้างพันธมิตรรวมพลัง มีตั้งแต่ รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ในสังกัดของทหาร หรือตำรวจ แม้แต่รพ.เอกชน มาเป็นภาคีเครือข่ายดูแลสุขภาพของประชาชน ผ่านการทำระบบต่าง ๆ”
ปลัดสธ. กล่าวต่อว่า ปัญหาปัจจุบันมีประเด็นจะปรับปรุงพัฒนาแก้ไข โดยกำหนดบทบาท โดยเฉพาะการพัฒนาเขตสุขภาพ สนับสนุนแบบเครือข่ายช่วยเหลือกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่เข้าถึงและเป็นธรรม ซึ่งจะเห็นว่า รพ.ในสังกัดสธ. นั้นมีหลายระดับ แบ่งเป็น รพ.ศูนย์ รักษาโรคทับซ้อนต่าง ๆ ทั้งนี้ การพัฒนา รพ.ระดับตติยภูมิขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานจากรพ.ใกล้บ้านเช่นเดียวกับในกทม. นอกจากนี้ยังมี รพ.จังหวัด รพ.ทั่วไป ซึ่งมีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขาที่สำคัญ เช่น ผู้ป่วยโรคอายุกรรม การผ่าตัด สูตินารีเวช ตลอดจน รพ.ชุมชน ที่สามารถช่วยดูแลประชาชนได้
“สธ.พัฒนาระบบรองรับบริการแบบส่งต่อไร้รอยต่อ ซึ่งปีนี้ทำการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักเข้ารับบริการใน รพ.สต. ใกล้บ้าน และยังจัดทำร่างหมอครอบครัวขึ้นมา เพื่อต่อไปนี้จะได้ยกระดับเป็นหมอจริง ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ครอบครัว ดูแลตั้งแต่เกิด”
ส่วนการพัฒนานวัตกรรม นพ.สุขุม ระบุว่า อย่างที่ทราบกัน รพ.ขนาดใหญ่ รพ.ศูนย์ มีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนไว้วางใจ คิดว่า รพ.กลุ่มนี้รักษาได้ดีกว่า ทำให้เกิดอัตราครองเตียงสูง ดังนั้น จึงเกิดการพัฒนารูปแบบการทำงานแบบกลุ่ม รพ. ซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยผู้ป่วยหนักที่เข้ารับการรักษาในรพ.ศูนย์ จากนั้นจะถูกส่งตัวกลับไปยัง รพ.ระดับทั่วไป แล้วให้แพทย์แต่ละโรคช่วยกันดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีมาตรฐาน
ยกตัวอย่าง กาญจนดิษฐ์โมเดล จ.สุราษฎร์ธานี มี หรือนครชัยศรีโมเดล จ.นครปฐม เป็นต้น ฉะนั้นกาพัฒนาของ สธ. คือการทำให้ รพ.ศูนย์เป็นพี่เลี้ยง และรพ.ทั่วไปช่วยกันทำ อีกทั้ง เพื่อลดการแออัด ปีนี้จะนำระบบไอทีจองคิวออนไลน์เข้ามา ซึ่งเริ่มนำร่องที่ รพ.ราชบุรี และรพ.ปทุมธานี และคาดว่าจะนำไปใช้ครอบคลุมทั่วประเทศในอนาคต
“สิ่งที่สำคัญ คือ การรักษาพยาบาลอย่างเดียว อาจเป็นการตั้งรับ ให้คนไข้มาหาเรา ดังนั้น สธ..ต้องเปลี่ยนเป็นทำงานเชิงรุก มุ่งให้ประชาชนมีสุขภาพดี จะได้ไม่ต้องกลับมาหาเรา ด้วยการสร้างความรู้เกี่ยวกับสุขภาพให้แก่ประชาชน”
ปลัด สธ. กล่าวอีกว่า รัฐบาลและรมว.สธ.ให้ความสำคัญเรื่องบุคลากรด้วย นอกจากดูแลบ้านพัก ซึ่งมีงบประมาณจำกัด แต่ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่ค่อยมีบ้านพักที่มีการเผยแพร่แล้ว แต่ที่มีอยู่เป็นไปได้ว่าอาจรอการรื้อถอน ส่วนใหญ่จึงเป็นแฟลต นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างรั้วรอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบาล ( รพ.สต.) ป้องกันเหตุร้ายกับเจ้าหน้าที่ ดังนั้นมั่นใจว่า ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แฟนเพจเฟซบุ๊ก ‘แพทยสภา’ เผยแพร่ข้อมูลอ้างอิงจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุข้อมูลว่า ในปี 2560 มีประชาชนเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกทั่วประเทศตลอดทั้งปี จำนวน 184. 275 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 3.821 ครั้ง/คน/ปี และเข้ารับบริการผู้ป่วยใน 6.016 ล้านครั้ง หรือเฉลี่ย 0.125 ครั้ง/คน/ปี .