ใครถ่วงเวลา ธนาคารที่ดินถึงล่าช้าและยังไม่เกิด
ปัญหาที่ดินของประเทศไทย ใหญ่เกินธนาคารที่ดินจะแบกภาระไว้หน่วยงานเดียวได้ ธนาคารที่ดินต้องทำงานเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องที่ดินให้ได้
รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในที่ดินอย่างทั่วถึง เพราะประเทศไทยประสบปัญหาเกษตรกรรายย่อยและคนยากจนไม่มีที่ดินทำกิน
การถือครองที่ดินกระจุกตัว มีการเก็งกำไร ที่ดินถูกปล่อยร้างไว้จำนวนมาก เรียกว่า ยิ่งมีที่ดินมาก ยิ่งใช้น้อย
สถาบันบริหารจัดการที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือบจธ. ได้ระบุถึงตัวเลข
- คนมีที่ดินมากกว่า 50,000 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์ เพียงแค่ 3% หรือ 1,500 ไร่
- คนที่มีที่ดินมากกว่า 10,000 ไร่ ใช้ประโยชน์เพียง 30% หรือ 3,000 ไร่
- คนมีที่ดินมากกว่า 5,000 ไร่ ใช้ประโยชน์เพียง 70.83% หรือ 3,500 ไร่
และคนมีที่ดินมากกว่า 200 ไร่ แต่ใช้ประโยชน์เพียง 71.74% หรือ 142 ไร่
นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขคนไทยทั้งประเทศถือครองที่ดิน (โฉนดที่ดิน) เพียง 15 ล้านราย โดยกลุ่มคนรวยที่ดิน 20% แรกถือครองที่ดินรวมกันมากเกือบ 80% ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ ขณะที่คนส่วนใหญ่อีก 80% ถือครองที่ดินรวมกันเพียง 20% ของโฉนดที่ดินทั้งประเทศ
เกิดอะไรขึ้นกับการใช้ที่ดินของไทย ทั้งๆที่หลายรัฐบาลพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงจุดนี้ ที่เป็นรูปธรรมที่สุด วันนี้เรามีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ซึ่งบทบัญญัติในมาตรา 7 (1) กำหนดให้ บจธ. มีภารกิจหลักในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
และ บจธ.ก็ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติธนาคารที่ดิน พ.ศ. ....แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2558 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง
“ผมไม่รู้ว่า รัฐบาลชุดนี้ประวิงเวลาหรือไม่ ทั้งๆที่ได้แถลงนโยบายชัดเจน แต่เรื่องธนาคารที่ดิน กลับยังไม่ชัดเจน” นายประยงค์ ดอกลำไย กรรมการผู้แทนองค์กรชุมชน คณะกรรมการ สถาบันบริการจัดการธนาคารที่ดิน มองว่า 10ปี (2551-2561) รัฐบาลทุกรัฐบาลมีนโยบายเรื่องธนาคารดิน การกระจายที่ดิน กรรมสิทธิ์ร่วม แต่สิ่งที่เกิดขึ้น 10 ปีเรื่องดังกล่าวกลับไม่คืบหน้าเลย ยิ่งระยะเวลา 4 ปี และเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คาดว่าไม่คืบหน้าใดๆ เช่นกัน
พร้อมกันนี้ นายประยงค์ ได้ยกตัวอย่างชาวนาฉะเชิงเทรา 90% เป็นชาวนาเช่า มี 6% เท่านั้นมีที่ดินของตนเอง โฉนดส่วนใหญ่ติดจำนอง ธ.ก.ส. นี่คือสภาพความเป็นจริง
ขณะที่ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มองปัญหาที่ดินในประเทศไทยว่า จะฉีดยาชา จะผ่าตัด ฐานคิดของเราคิดว่าปัญหานี้จะแก้ได้ 180 องศาหรือไม่ หรือจะจำกัดการถือครองที่ดิน เราต้องช่วยกันคิด ยิ่งเมื่อคนที่ตัดสินใจเรื่องภาษีที่ดิน ธนาคารที่ดินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีส่วนได้เสียกับการที่จะตัดสินใจเอาหรือไม่เอานโยบายนี้
“วันนี้มีข้อมูลการถือครองที่ดินของสมาชิกรัฐสภาไทย เป็นอย่างไร การเอาที่ดินออกมานอกระบบทุนนิยม ผมคิดว่ายากมาก หากเราใช้พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ก็สามารถถึงที่ดินออกมาจากทุนนิยมกลาย ๆ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งหรือไม่ เมื่อเทียบกับการจำกัดการถือครองที่ดิน ผมชวนแลกเปลี่ยน สภาพธนาคารที่ดิน กับปัจจัยทางการเมือง คนที่ร่วมตัดสินใจเรื่องนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง แค่เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังแทบไปไม่รอด เลื่อนมา 7 รอบกว่าจะผ่านการพิจารณาคลอดกฎหมายออกมา นี่คือสถานการณ์จริง ธนาคารที่ดินก็เช่นเดียวกัน”
ดร.บัณฑูร วิเคราะห์จากบทเรียนในอดีตด้วยว่า เราพยายามแก้ไขปัญหาที่ดินมาหลายวิธี มีสปก. มีกฎหมายการจัดการที่ดินหลายฉบับ ท้ายสุดก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ ฉะนั้นการจะมีธนาคารที่ดินเกิดขึ้นจึงต้องพิสูจน์ผลงานบริหารให้สังคมทั้งสังคมเชื่อมั่น รวมถึงภาระด้านงบประมาณ ธนาคารที่ดินกับการอยู่รอดอย่างยั่งยืน
สุดท้ายเขาเห็นว่า ปัญหาที่ดินของประเทศไทย ใหญ่เกินธนาคารที่ดินจะแบกภาระไว้หน่วยงานเดียวได้ ธนาคารที่ดินต้องทำงานเชื่อมต่อกับระบบที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องที่ดินให้ได้
"ผมคิดว่าเราไม่สามารถถคาดหวังให้ธนาคารที่ดินแบกรับโจทย์เรื่องที่ดินทั้งหมดหรือแก้ได้ทุกเรื่อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น สปก. ผังเมือง ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ร.บ. คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ร.บ.ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน กฎหมายเหล่านี้ก็จะเป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง โดยใช้คู่กันและใช้อย่างผสมผสาน แล้วให้ธนาคารที่ดินเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เติมช่องว่างการจัดการที่ดินเอกชน"
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูป มองว่า ปัญหาที่ดินไม่ใช่ปัญหาสังคม แต่คือปัญหาเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์มองข้าม เรามีเจนารมณ์เมื่อ 60 ปีก่อนที่จะปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการกระจายการถือครองที่ดิน และมีเงื่อนไขที่ทำได้ แต่เรากลับใช้โอกาสเปลือง จนเกิดสภาพจนกระจาย รวยกระจุก ณ ปัจจุบัน
แม้การจัดตั้ง ธนาคารที่ดิน ประเทศไทยยังไปไม่ถึงไหน ลองดูธนาคารที่ดินในต่างประเทศใน 4 ประเทศ
ธนาคารที่ดินแห่งสหพันธ์ (Federal Land Bank:FLB) ของสหรัฐอเมริกา ตั้งปี 2459 ตามกฎหมายการกู้ยืมเพื่อการเกษตรแห่งสหพันธ์ โดยให้สินเชื่อแก่เกษตรกรผ่าน 3 สถาบัน ธนาคารที่ดินแห่งสหพันธ์ และสมาคมธนาคารที่ดินแห่งสหพันธ์ ธนาคารสินเชื่อระยะยางแห่งสหพันธ์ และสมาคมสินเชื่อเพื่อการผลิต ธนาคารเพื่อสหกรณ์
ธนาคารที่ดินแห่งไต้หวัน (Land Bank Of Taiwan:LBOT) ตั้งปี 2489 ธนาคาร ที่ดินเป็นธนาคารชำนาญพิเศษ ดูแลรับผิดชอบด้านอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการเกษตร มุ่งพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐเกี่ยวกับบ้านที่ดินและการเกษตร
ธนาคารที่ดินแห่งฟิลิปปินส์ (Land Bank Of Philippines:LBP) ตั้งปี 2506 จัดซื้อที่ดินและสินทรัพย์การเกษตรเพื่อนำมาบริหารจัดการและขายต่อให้เกษตรกรรายย่อยที่ถือครองที่ดินขนาดเล็ก และการซื้อที่ดินเกษตรกรรมที่ให้เช่า
และธนาคารที่ดินการเกษตร (The Farmland Intermediary Management Institutions หรือ Farmland Bank)ญี่ปุ่น ตั้งปี 2557 ตามกฎหมายส่งเสริมกิจการของธนาคารที่ดินเกษตรกรรม โดยเป็นตัวกลางรวบรวม ปรับปรุงและให้เช่าที่ดินทำการเกษตร รวบรวมที่ดินให้เป็นที่ดินเกษตรผืนใหญ่บริหารจัดการที่ดินเกษตร ลดพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้าง เพิ่มขนาดของธุรกิจเกษตรด้วยที่ดินเกษตร สร้างแรงจูงใจในการผลิตขนาดใหญ่ เพิ่มผู้ทำการเกษตรรายใหม่ ขยายโอกาสของบุคคลและนิติบุคคลต่างๆ ทั้งเกษตรกรเดิมและหน้าใหม่และผู้เกษียณอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผอ.บจธ.โชว์ผลงานใช้งบ 130 ล้าน ช่วยเหลือเกษตรกรที่ดินหลุดมือได้เกือบ 300 ราย