บอร์ด สปสช.เห็นชอบผลรับฟังความเห็น ปี 61 มอบอนุกรรมการฯ พิจารณา ‘75 ข้อเสนอ’
บอร์ด สปสช.เห็นชอบ “ผลรับฟังความเห็นบัตรทอง ปี 2561” หลังสรุปข้อเสนอ 75 ข้อ มอบอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าพิจารณาผลักดันตามข้อเสนอ ทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ คุ้มครองสิทธิ สร้างการมีส่วนร่วม ปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561 ที่โรงแรมเซ็นทราบายเซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ -ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่ประชุมได้เห็นชอบ “ผลการรับฟังความเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามมาตรา 18(13) ปี 2561” ซึ่งได้ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปฯ เป็นกลไกสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วม นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากทำให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังคุ้มครองประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 48 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ตามมาตรา 18 (13) จึงกำหนดให้จัดประชุมเพื่อเปิดรับความเห็นฯ ประจำทุกปี สำหรับปี 2561 คณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้ดำเนินการฟังความเห็นทั่วประเทศแล้วเสร็จ และได้สรุปผลความเห็นที่ได้รับฟัง เสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณา
ทั้งนี้การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปฯ ปี 2561 มีผู้ร่วมเสนอความคิดเห็นภาพรวมระดับเขตและประเทศ จากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ กลุ่มเปราะบาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกลุ่มอื่นจำนวน 14,342 คน สรุปความเห็นได้ 75 ข้อ โดยอนุกรรมการสื่อสารฯ ได้แบ่งความเห็นออกเป็น 8 ด้าน และวันนี้บอร์ด สปสช.เห็นชอบมอบอนุกรรมการชุดที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้
ด้านประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข มอบคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข, ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข มอบคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ, ด้านการบริหารจัดการสำนักงาน ด้านกลไกการเงินการคลัง และด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มอบคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริการจัดการกองทุน
ด้านการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ รวมถึงค่าบริการการจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงระยะยาว และด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มอบคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน, ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ มอบคณะอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ และด้านการเข้าถึงบริการกลุ่มเปราะบาง มอบคณะอนุกรรมการทุกชุดที่เกี่ยวข้อง
ด้าน นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นทั่วไป สปสช. กล่าวว่า ความเห็นในปี 2561 ที่ได้รวบรวมทั้งหมด คณะอนุกรรมการสื่อสารฯ ได้คัดกรองและจัดกลุ่มตามข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการตามมาตรา 18(13) และนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณาเพื่อดำเนินการ โดยข้อเสนอต่างๆ ที่ได้รับฟัง อาทิ การเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการ เช่น ยาโปรเจสเตอรโรนชนิดสอดเพื่อป้องกันการคลอดก่อนกำหนดและยาอิลิบูรินในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, เพิ่มงานฟื้นฟูคนพิการครอบคลุม 26 รายการตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข, เพิ่มการพอกยาและการสุ่มยาในบริการแพทย์แผนไทย, เพิ่มบริการรักษารากฟันแท้ เป็นต้น การปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานบริการ อาทิ เพิ่มหน่วยบริการที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในระบบบัตรทองและพัฒนาระบบส่งต่อการให้บริการ เพิ่มหน่วยบริการเจาะเลือดของเอกชนที่ได้มาตรฐาน เข้าเป็นหน่วยร่วมให้บริการ, กำกับดูแลหน่วยบริการเรียกเก็บเงินส่วนต่างกรณีบริการฟอกไต และเพิ่มตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ เป็นต้น
การพัฒนาบริหารกองทุนฯ อาทิ ผู้ป่วยปลูกถ่ายไตและมีภาวะไตวายต้องฟอกเลือด ให้สามารถใช้สิทธิฟอกเลือดและรับยากดภูมิ, เพิ่มค่าใช้จ่ายส่งต่อผู้ป่วยนอกของหน่วยบริการตติยภูมิกระทรวงสาธารณเท่ากับโรงเรียนแพทย์, จัดกลไกองรับยาใหม่หรือยาราคาแพงที่จะนำเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ และการปรับเปลี่ยนสัดส่วนงบบริหารจัดการกองทุนตำบลร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 20 เป็นต้น ส่วนข้อเสนอการเข้าถึงบริการของกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ แก้ไขมาตรา 5 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ครอบคลุมถึงคนไทยไร้สิทธิ์ และคนไทยที่รอพิสูจน์สถานะทางกฎหมาย, เสนอจัดตั้งกองทุนคนไร้สิทธิ สำหรับคนที่ไม่มีบัตรประชาชนหรืออยู่ระหว่างรอพิสูจน์สิทธิ และการเร่งเชื่อมโยงฐานข้อมูลพระภิกษุและสามเณรเพื่อลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“ทุกความเห็นที่ สปสช.ได้รับฟังจากทุกภาคส่วน บอร์ด สปสช. และคณะอนุกรรมกรรมการสื่อสารสังคมฯ ได้มีการรวบรวมเพื่อผลักดันไปสู่การแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เป็นหลักประกันสุขภาพสำคัญคนไทยทุกคน และยั่งยืนตลอดไป” ประธานอนุกรรมการสื่อสารฯ กล่าว