แอมเนสตี้เรียกร้องไทยไม่ส่งกลับสองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิชาวจีน หวั่นถูกทรมาน
แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกส่งจดหมายเรียกร้องไทยยุติการดำเนินคดีกับสองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีน ทั้งสองได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR แต่ถูกจับกุมตามกฎหมายคนเข้าเมืองระหว่างอยู่ในประเทศไทย พร้อมทั้งเรียกร้องไม่ให้ส่งทั้งสองกลับประเทศจีนเพราะเสี่ยงที่จะถูกทรมานและได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม
สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกกรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวสองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีนอย่างทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข ระหว่างที่รอการพิจารณาจาก UNHCR เพื่อที่จะได้รับที่พำนักอาศัยในประเทศที่สาม ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 8 พ.ย. 2561 ได้รับที่พำนักอาศัยในประเทศที่สาม
อู๋ ยวี่-หัว (吴玉华) หรือที่มักรู้จักกันในชื่ออ้าย อู (哎乌) และหยาง ฉง (杨崇) สองสามีภรรยานักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวจีน ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวเบื้องต้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2561 ตำรวจพบว่าทั้งคู่มีเอกสารการเดินทางไม่ถูกต้อง และดำเนินคดีกับนางอู๋ในข้อหา “เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย” และ “พำนักอาศัยอย่างผิดกฎหมาย” และดำเนินคดีกับนายหยางในข้อหา “พำนักอาศัยเกินที่ได้รับอนุญาต” นางอู๋ได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. เนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ แต่นายหยางยังถูกควบคุมตัวต่อไป
ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางมายังประเทศไทย ในปี 2558 นายหยางตกเป็นเป้าหมายของทางการจีน เขาถูกทางการจีนควบคุมตัวโดยพลการและถูกทรมาน เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างสงบทางภาคใต้ของจีนเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ในปี 2554 ทางการจีนได้เรียกตัวและควบคุมตัวเขาหลายครั้ง เนื่องจากการเข้าร่วมกับ “ขบวนการถนนในเมืองใต้” ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงโดยการถือป้ายผ้าตามถนน เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและการส่งเสริมสิทธิ ในปี 2555 ศาลสั่งจำคุกเขาเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากการจัดประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยทรัพย์สินส่วนตัว หลังพ้นโทษเมื่อปี 2556 นายหยางยังคงเข้าร่วมกับการรณรงค์เพื่อสิทธิต่อไป ถูกเรียกตัวซ้ำแล้วซ้ำอีก และยังถูกควบคุมตัวโดยพลการ และถูกซ้อมโดยทางการ ในปี 2557 นางอู๋ก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน และได้ทำงานรณรงค์เพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ทั้งคู่ต่างได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees - UNHCR) ในเดือนกันยายน 2559
เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย และไม่มีกรอบกฎหมายอย่างเป็นทางการเพื่อให้ที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจึงไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศ ย่อมเสี่ยงต่อการจับกุม การควบคุมตัวโดยพลการและไม่มีเวลากำหนด ต้องอยู่ในสภาพที่เลวร้ายและเสี่ยงที่จะถูกบังคับส่งกลับ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เก็บข้อมูลกรณีนักกิจกรรมชาวจีนที่ถูกรัฐบาลไทยส่งกลับไปยังประเทศจีนตามคำร้องขอของรัฐบาลจีน พบว่าพวกเขาถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกระหว่างรอการพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายปี และสุดท้ายถูกศาลสั่งจำคุกเนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ
แอมเนสตี้จึงเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องให้ทางการไทยให้ปล่อยตัวหยาง ฉงโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ทั้งให้ยกเลิกการจำกัดสิทธิและการดำเนินคดีใดๆ ต่อเขาและอู๋ ยวี่-หัว และไม่ให้ส่งกลับสองสามีภรรยาไปประเทศจีนหรือประเทศอื่น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกถูกทรมาน หรือถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยด้วย