GC เปิดตัวโครงการ “Circular Living Campaign 2018
สยามพิวรรธน์จับมือ GC เปิดตัวโครงการ “Circular Living Campaign 2018” นำความคิดสร้างสรรค์สร้างคุณค่าการจัดการปัญหาขยะพลาสติก ด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืน
กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC สององค์กรชั้นนำของประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดการปัญหาขยะและส่งเสริมการใช้พลาสติกอย่างยั่งยืน แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “Circular Living Campaign 2018” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสร้างความตระหนัก ให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและประชาชน เกี่ยวกับการคัดแยกขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล อันเป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยโครงการ “Circular Living Campaign 2018”นี้ประกอบด้วยกิจกรรมรักษ์โลกต่างๆ มากมาย เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้แก่ Power of Sharing, Sustainable Designer’s Contest, Circular Living Festival, Up Cycling X’Mas Tree และ Circular Living Symposium โดยเริ่มแคมเปญแรก คือ Power of Sharing ด้วยการจัดวางถังขยะเพื่อรับบริจาคขยะพลาสติกทั้งหมด 3 ศูนย์ ได้แก่ สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อนำไปอัพไซเคิลเป็นเสื้อให้แก่มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อไป
ปฏิภาณ สุคนธมาน ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า “GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ตระหนักถึงปัญหาขยะและความท้าทายในการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยบริษัทฯ ได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ภายใต้แนวคิด Circular Economy หรือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก ด้วยการ Upcycling การนำไอเดีย การออกแบบ การนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาและ ต่อยอดเพื่อแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นรูปธรรม
“ในครั้งนี้ GC ร่วมกับ สยามพิวรรธณ์ ดำเนินโครงการ “Circular Living Campaign 2018” เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อ Value Chain การจัดการขยะอย่างครบวงจรในย่านสยาม ตั้งแต่การทิ้งขยะของท่าน จนถึงการแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากขยะ ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในแนวคิด Circular Economy เพื่อสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับทุกคน การที่ GC มาร่วมกับ สยามพิวรรธน์ในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อ Value Chain การจัดการขยะอย่างครบวงจรในย่านสยาม ตั้งแต่การทิ้งขยะของท่าน จนถึงการแปรรูปให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าจากขยะ” ปฏิภาณกล่าว
ด้านนราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีในการดำเนินธุรกิจ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ พร้อมนำเสนอโครงการรูปแบบแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร และสร้างบรรทัดฐานที่ดียิ่งขึ้นให้กับธุรกิจค้าปลีกของประเทศเสมอมา กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ได้สร้างพื้นที่สาธารณะ ที่เป็นประโยชน์ใจกลางเมืองให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่ละทิ้งการดำเนินกิจกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิด “คิดต่าง สร้างคุณค่า” ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับสังคม ชุมชน และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติกแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการและกลุ่มสาธารณชนทั่วไป
“ปีนี้เริ่มแคมเปญแรกภายใต้โครงการ “Circular Living Campaign 2018” คือ Power of Sharing จัดวางถังขยะบริเวณสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่เพื่อรับบริจาคขยะพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว ติดตั้งทั้งหมด 30 จุด ทุกชั้นของทั้ง 3 ศูนย์ฯ แบ่งเป็นขยะพลาสติกทั้งประเภท PE โพลิเอทิลีน (Polyethylene) เช่น ท่อน้ำ ถัง ถุง ขวด และ PET คือ โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terephthalate) หรือ เพ็ท เป็นประเภทขวดบรรจุน้ำดื่ม น้ำมันพืช กลุ่มนี้สามารถรีไซเคิลให้เป็นเส้นใยทำเสื้อกันหนาว พรม และใยสังเคราะห์ในหมอน เป็นต้น และจะนำไปพัฒนาสร้างมูลค่าผลิตเป็นเสื้อมอบให้แก่ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร รับบริจาคพลาสติก ตั้งแต่วันนี้ ถึง 20 ธันวาคม 2561 นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ให้ความรู้และการต่อยอดขยะพลาสติกผ่านการออกแบบให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกด้วย ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสแนวคิดใหม่ๆให้กับคนรุ่นใหม่ในด้านการออกแบบให้มีแนวคิดในการช่วยกันแก้ปัญหา และ ช่วยสร้างมูลค่าให้กับพลาสติกเพิ่มมากขึ้น” นราทิพย์กล่าว
ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้รับเกียรติจากกิตติรัตน์ ปิติพานิช ปฎิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, วราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และดาราสาวมากความสามารถอย่าง อาย-กมลเนตร เรืองศรี ร่วม พูดคุยในหัวข้อ “From Trash to Treasure” นำความคิดสร้างสรรค์สร้างคุณค่าแก่ขยะพลาสติก
เริ่มกันที่ กิตติรัตน์ ปิติพานิช ให้ความเห็นถึงปัญหาขยะพลาสติกในปัจจุบันว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะต่างๆ ทั้งขยะมูลฝอยจากชุมชน ปริมาณขยะจากโรงงาน ขยะพลาสติกจากที่ต่างๆ เช่นท้องทะเล หรือในวงจรอุตสาหกรรม มีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตภาคอุตสาหกรรมและความต้องการในการบริโภค จึงส่งผลให้มีปริมาณขยะตกค้างจำนวนมาก ดังนั้นการใช้หลักกระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Design Thinking) สามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะนี้ได้ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เช่น การวางแผนผลิตด้วยการบริหารจัดการต้นทุนวัสดุให้คุ้มค่าสุงสุด หรือการเพิ่มมูลค่าด้วยการดีไซน์หรือสร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ (Story Telling) จะทำให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนได้ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญ ที่สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนยุคปัจจุบัน และสร้างความสุขแบบยั่งยืนเพื่อลูกหลานเราต่อไปได้
ส่วน วราวรรณ ทิพพาวนิช กล่าวว่า ปัญหาขยะล้นเมืองเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อการจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สำหรับขยะพลาสติกเป็นภารกิจที่ GC และพันธมิตรต่างๆ อาสาเข้ามาดำเนินการเพื่อลดขยะพลาสติกโดยการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งโครงการ “Circular Living Campaign 2018” จะช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายนี้เป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
ตบท้ายด้วยดาราสาวมากกว่าความสามารถ อาย-กมลเนตร เรืองศรี ให้ความเห็นว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากเริ่มจากตัวเราเป็นอันดับแรก ซึ่งส่วนใหญ่จะมองว่าขยะพลาสติกเป็นผู้ร้าย แต่ในความเป็นจริงปัญหาหลักของขยะพลาสติก คือ การจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกวิธี หลายครั้งคนมักจะใช้พลาสติกเพียงครั้งเดียวและไม่นำกลับมาใช้ใหม่ บางคนโยนขยะทิ้งไปราวกับเป็นของไร้ค่า
“อายเป็นคนรักงานศิลปะและการเดินทางอายจึงปรับไลฟ์สไตล์ให้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น การนำขยะพลาสติกที่ใช้แล้ว มาสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการ DIY ให้เป็นของเก๋ๆ ชิ้นใหม่ หรือแทนที่เราจะซื้อสบู่ แชมพู ขวดใหม่ทุกครั้งที่ใช้หมด เราก็บรรจุภัณฑ์ไป Refill สบู่ แชมพู ต่างๆ ตามร้านค้าที่ให้บริการ รวมถึงให้ความสำคัญในการคัดแยกขยะ ทั้งประเภท PE และ PET เช่นขวดนม ขวดน้ำต่างๆ สามารถนำมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไปได้ นอกจากนี้อายยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆและพฤติกรรมคนจากการเดินทาง อย่างซูเปอร์มาเก็ตที่ญี่ปุ่น จะมีป้ายรณรงค์การใช้พลาสติกซ้ำ หรือ เห็นวิธีการคัดแยกขยะที่ทำอย่างเป็นระเบียบและจริงจัง ซึ่งพฤติกรรมดีๆ จากสิ่งรอบตัว สามารถนำมาปรับพัฒนาเข้ากับตัวเอง และช่วยบอกต่อเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้” กมลเนตรกล่าว
โครงการ “Circular Living Campaign 2018” จะเป็นโครงการที่ร่วมแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่ผู้บริโภคและประชาชน พร้อมกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวที่จะนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการนำพลาสติกกลับมาใช้ซ้ำและ รีไซเคิล เพื่อส่งเสริมหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อไป