เช็คท่าที 3 พรรคดังกับการเลือกตั้ง ‘ใต้ปีก’คสช.ในวันที่ กกต. ไม่ได้คุมกติกา?
“…คนทั้งประเทศ ทั่วโลก หรือนานาชาติ ต่างจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้งจะเสรี เป็นธรรม ได้มาตรฐานหรือไม่ ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ถ้าเสรีภาพทางการเมืองยังไม่เปิด เชื่อจริง ๆ ว่า ทั้งพรรคเก่า และกลุ่มการเมืองที่แจ้งจัดตั้งพรรคใหม่ กกต. เจ้าหน้าที่ กกต. หรือสื่อ เชื่อว่าทุกคนไม่มีปัญหา ไม่มีความวุ่นวาย โกลาหล หรือความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ทุกท่านพร้อมลงเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้ง เพื่อใช้สิทธิกันหมด สุดท้ายความไม่พร้อมคือใครกันแน่ คนไม่พร้อมคือใคร ใครกันแน่ที่ไม่พร้อมถึงต้องมาขวาง…”
พลันที่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปรยว่า อยากทำงานด้านการเมืองต่อ
บรรดานักเลือกตั้งทั้ง ‘รุ่นใหม่’ และ ‘ลายคราม’ ต่างดาหน้าออกมาหนุน-ต้าน กันอย่างเป็นจังหวะจะโคน สอดรับกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 13/2561 ‘คลายล็อค’ ให้พรรคการเมืองเลือกหัวหน้า เลขาธิการ และคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ รวมถึงสรรหาสมาชิกได้ แต่ ‘ปิดประตู’ หาเสียงจนกว่าจะมี พ.ร.ฎ.กำหนดการเลือกตั้งคลอดออกมาช่วงเดือน ธ.ค. 2561 รวมถึงกฎหมายลูก ส.ส.-ส.ว. และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จัดการแบ่งเขตเลือกตั้ง และกำหนดเก้าอี้ ส.ส. ไว้แล้ว 350 ที่นั่ง
ส่งผลให้เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2561 สำนักงาน กกต. จัดงานประชุมชี้แจงการดำเนินการของพรรคการเมือง และทำตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 โดยมีกลุ่มการเมืองรวม 119 กลุ่ม รวมถึงพรรคการเมืองหน้าเก่า และหน้าใหม่ เข้ามาร่วมฟังเป็นจำนวนมาก นำโดย 2 พรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมาย และนายภูมิธรรม เวชชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค ส่วนประชาธิปัตย์ นำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากนี้ยังมีพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่ เข้ามาร่วมฟังด้วย
สาระสำคัญหลัก ๆ ที่ กกต. ชี้แจง คือ การปฏิบัติ และวิธีการของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช .13/2561 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไทม์ไลน์การเลือกตั้ง การได้มาซึ่งสมาชิกพรรค การสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง รวมถึงการหาเสียงทางโซเชียลเน็ตเวิร์ค ที่เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า ทำได้ แต่ต้องรอหลังประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง เท่านั้น (อ่านประกอบ : กกต.แจงพรรคแนวทางเลือกตั้งตามคำสั่ง คสช. ใช้ 53 วันแบ่งเขต-หาเสียงต้องแจ้งก่อน)
ในช่วงท้ายของการประชุมดังกล่าว เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองเสนอความเห็น และซักถามเกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมืองต้องทำอย่างไรภายใต้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
@ชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย
ถาม : ประเด็นการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายความว่า พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า จะต้องมีสาขาพรรคในจังหวัดนั้น ๆ หรือถ้าไม่มีสาขา ต้องมีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดในจังหวัดนั้น ๆ เพราะฉะนั้นหมายความว่า ถ้าพรรคใดส่งผู้สมัคร 350 เขต ต้องมีสาขาหรือตัวแทนประจำจังหวัดด้วยหรือไม่ พรรคเพื่อไทยถามคำถามนี้มาประมาณ 3 สัปดาห์แล้ว และรอคำตอบจาก กกต. ตีความคำสั่งหัวหน้า คสช. 13/2561 ว่าเป็นอย่างไร
ผมเห็นว่าที่ กกต. บรรจุในเอกสาร หรือที่พูดมา มันไม่ตรงตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 เหตุผลที่ไม่ตรงก็คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 ไปยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 53/2560 บอกเงื่อนไขส่งผู้สมัครว่า ต้องมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด หรือมีสาขาพรรค ถ้าพรรคการเมืองใดยังไม่มีจะส่งผู้สมัครไม่ได้ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 ไปยกเลิกเสีย แปลว่า ถ้าไม่มีสาขา ไม่มีตัวแทนพรรคการเมือง ก็สามารถส่งผู้สมัครได้
ที่สำคัญตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 ที่ให้พรรคการเมืองจัดตั้งสาขาได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่กฎหมายลูก ส.ส. และ ส.ว. ประกาศ แปลว่า พรรคการเมืองสามารถทำสาขาได้ถึงวันที่ 14 ก.ย. 2562 ดังนั้น สมมติมีการเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 แปลว่า พรรคนั้น สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยไม่มีสาขาพรรคสามารถทำได้หรือไม่
ขณะเดียวกันบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ให้ยกเลิกมาตรา 47 ผมท่องจำมาเลย พรรคการเมืองใดจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องมีสาขาพรรค หรือตัวแทนประจำจังหวัดจะส่งได้ แต่มีการยกเลิกมาตรา 47 นี้แล้ว บทเฉพาะกาลยกเลิกไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีสาขา หรือตัวแทน ก็สามารถส่งผู้สมัครได้
พอเขียนไปเขียนมา ท้ายสุดพันกันว่า คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ต้องฟังความเห็นตัวแทนพรรค หรือสาขาพรรคในจังหวัด หรือสมาชิกพรรค มันจะเกิดความสับสน ถ้าจะตีความเพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ได้ ตีความว่า ถ้ามีสาขาก็ไปฟัง ถ้ามีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดก็ไปฟัง ถ้ามีสมาชิกพรรคก็ไปฟัง มันก็สมบูรณ์ การอ้างมาตรา 145 ว่า ยังมีอยู่ แต่มาตรา 145 เป็นบทยกเว้นของหลักทั่วไป
@วรรณรัตน์ ชาญนุกุล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
ถาม : ผมสนับสนุนคำถามของพรรคเพื่อไทยในประเด็นนี้ โดยรัฐธรรมนูญปี 2560 เขียนว่า ให้รับฟังสมาชิกกว้างขวาง มีการรับฟังความเห็นจากสาขา หรือตัวแทน น่าจะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 อยู่แล้ว
@แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.
ตอบ : ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือในชั้นคณะอนุกรรมการ และกำลังเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต. พิจารณา จึงยังไม่สามารถตอบได้ หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว จะมีหนังสือเวียนแจ้งให้ทุกพรรครับทราบ และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามกฎหมาย
@ปิยบุตร แสงกนกกุล ว่าที่เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่
ถาม : อ่าน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ และฟังรายละเอียดจากที่ กกต. บรรยาย เข้าใจเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯว่า ต้องการให้พรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ต้องการให้กลุ่มทุนเป็นเจ้าของ ให้ทุกคนเป็นเจ้าของร่วม พรรคจะเกิดได้ 2 อย่างคือ 1.กติกาชัดเจน 2.เวลาต้องมีพอสมควร
ทั้งนี้ประเด็นเรื่องการจัดตั้งพรรค เท่าที่ทราบจากประธานกรรมการ กกต. ระบุว่า มีอยู่ประมาณ 119 กลุ่ม ที่เตรียมจดแจ้งชื่อ และต้องยื่นเอกสารให้ กกต. รับรอง หากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงในวันที่ 24 ก.พ. 2562 หรือขยับเป็นเดือน พ.ค. 2562 ก็ตาม เรียนตามจริงว่า จะสามารถอนุมัติให้ทุกพรรคเกิดขึ้นได้ทันจริงหรือไม่ เพราะค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ใช้เวลาถึง 2 เดือน กกต. จะอนุมัติ ถ้าวันนี้พรรคอนาคตใหม่ได้รับการอนุมัติ จะใช้เวลาประมาณ 97 วัน ดังนั้นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 เดือน กลุ่มการเมืองที่เหลืออยู่จะจัดตั้งพรรคสำเร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่
นอกจากนี้ต่อให้ตั้งพรรคสำเร็จ จะหาสมาชิกพรรคทันหรือไม่ หากพรรคใดพรรคหนึ่งต้องการลงรับสมัครเลือกตั้งครบทุกเขต อย่างน้อยต้องมีสมาชิกประมาณ 7,700 ราย ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ 10,000 ราย ภายใต้เวลาจำกัด ทำได้หรือไม่ หรือว่าสุดท้ายแล้ว ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกติกาเรื่องพวกนี้อีก ถ้าแก้อีกเจตนารมณ์ต้องการให้มีสมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ใช่ผูกขาดพรรค จะทำตามเจตนารมณ์นี้ได้อย่างไร
ผมเห็นใจ กกต. และเจ้าหน้าที่ กกต. ทุกท่าน ในฐานะผู้ปฏิบัติ พยายามทำตามกฎหมายพรรคการเมืองให้เรียบร้อย และเป็นกฎหมายพรรคการเมืองแรก ๆ ที่พยายามให้พรรคเป็นของมวลชน ของสมาชิกทั้งหมด แต่อุปสรรคทั้งหลาย ไม่ได้เกิดจาก กกต. แต่เกิดจากคำสั่ง คสช. ที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อพรรคเก่า หรือพรรคใหม่ และ กกต. ที่เป็นฝ่ายปฏิบัติการเลย เห็นใจจริง ๆ ที่ กกต. ไม่สามารถให้คำตอบยืนยันได้ว่า จะหาสมาชิกพรรคได้ด้วยวิธีอย่างไร คำตอบที่พูดกันคือ ให้แต่ละพรรคลุ้นเอา แล้วไปตายเอาดาบหน้า
สุดท้ายปัญหาอยู่ที่ คสช. ไม่ยอมปลดล็อค ถ้าปลดล็อคเมื่อไหร่ เดินหน้าเต็มที่ แสวงหาสมาชิกให้เต็มที่ บังเอิญเป็นคำสั่งของ คสช. เลยไม่รู้จะหาสมาชิกอย่างไร เจตนารมณ์ต้องการให้หาสมาชิกเยอะ อย่างน้อยเป็นหมื่นรายทั้งประเทศ แต่ไม่ให้เดินทางไปพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างนั้นหรือ ปล่อยให้คลุมเครือ แล้วผู้มีอำนาจที่เสมือนเป็นกฎหมายอยู่แล้ว มาจับกลุ่มนั้นกลุ่มนี้อย่างนั้นหรือ
คนทั้งประเทศ ทั่วโลก หรือนานาชาติ ต่างจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ การเลือกตั้งจะเสรี เป็นธรรม ได้มาตรฐานหรือไม่ ไม่มีวันเกิดขึ้นได้ถ้าเสรีภาพทางการเมืองยังไม่เปิด เชื่อจริง ๆ ว่า ทั้งพรรคเก่า และกลุ่มการเมืองที่แจ้งจัดตั้งพรรคใหม่ กกต. เจ้าหน้าที่ กกต. หรือสื่อ เชื่อว่าทุกคนไม่มีปัญหา ไม่มีความวุ่นวาย โกลาหล หรือความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ทุกท่านพร้อมลงเลือกตั้ง จัดการเลือกตั้ง เพื่อใช้สิทธิกันหมด สุดท้ายความไม่พร้อมคือใครกันแน่ คนไม่พร้อมคือใคร ใครกันแน่ที่ไม่พร้อมถึงต้องมาขวาง
นอกจากนี้มาตราสุดท้ายของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ระบุว่า บรรดาประกาศหรือระเบียบที่เคยออกตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯเมื่อปี 2550 ให้มีผลบังคับใช้ต่อ ทีนี้มีประกาศเมื่อปี 2550 อยู่ฉบับหนึ่ง ระบุว่า ให้หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อนายทะเบียนใน 30 วัน ขณะนี้ต้องทำตามประกาศดังกล่าวหรือไม่ เพราะกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไม่ได้ระบุให้ดำเนินการในส่วนนี้
ขอให้ทุกกลุ่มการเมือง และพรรคการเมือง เรียกร้องว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ ให้ช่วยกันรวบรวมความคิดเห็นให้ กกต. เพื่อให้ กกต. เสนอแก่ คสช. ให้ปลดล็อคทางการเมือง ถ้าปลดล็อคแล้ว จะได้ไม่ต้องมาประชุมกันเหมือนวันนี้ให้ปวดหัว เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างเสรี และเป็นธรรม
@แสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต.
ตอบ : เรื่องการจดแจ้งพรรคการเมือง เราเร่งอยู่แล้ว แต่ที่บอกว่าใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน ข้อเท็จจริงคือเอกสารอยู่ในมือเราไม่ถึง 2 สัปดาห์ ส่วนที่เหลือส่งให้หน่วยงานไปตรวจสอบ แต่เขาไม่ส่งกลับมา ดังนั้นเร็วที่สุดคือน่าจะประมาณ 45 วัน แต่ถ้ามาช่วงนี้จะเร่งให้เร็วขึ้น ส่วนเหตุผลที่ล่าช้าเป็นเรื่องทางทะเบียน เช่น การจดแจ้งพรรคใช้สมาชิก 500 ราย ต้องแจ้งเลขบัตรประชาชน 500 เลข ถ้าสุ่มตรวจเจอเลขไม่ตรงกับทะเบียนราษฎร์สักรายหนึ่ง ก็ต้องให้ไปแก้ใหม่ ปัญหาอยู่ตรงนี้ ส่วนเรื่องการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินแก่นายทะเบียน เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ไม่ต้องแสดงแล้ว
นี่คือท่าทีของพรรคการเมืองที่ยัง ‘กังขา’ กับกระบวนการเลือกตั้ง ‘ใต้ปีก’ คสช. โดยเฉพาะประเด็นการ ‘ปลดล็อค’ ทางการเมือง ที่ไม่ใช่แค่ 3 พรรคข้างต้นเท่านั้น แต่เกือบทุกพรรค และทุกกลุ่มการเมือง ต้องการให้ คสช. ดำเนินการโดยเร็ว เพราะคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2561 ยังไม่ได้ให้อิสระเพียงพอแก่พรรคการเมือง
ท้ายที่สุดข้อเสนอแนะเหล่านี้จะไปถึงมือ คสช. หรือไม่ คงต้องรอวัดฝีมือ กกต. ไปก่อน!