ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!
".. ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานอัยการโจทก์แล้ว เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอให้เชื่อได้ว่า จำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำ แคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติเครื่องอันเป็นเท็จที่เกินจริงว่า สามารถตรวจจับได้ทุกสถานการณ์ ทุกสสาร โดยไม่ต้องชาร์จไฟ แต่ใช้ไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ใช้ แต่บริษัทจำเลยเพียงแต่นำเข้าเครื่องและเอกสารจากบริษัท Comstrac สหราชอาณาจักร มาจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจไม่ล่วงรู้ได้ว่า ข้อความนั้นเป็นเท็จ หรือร่วมกับบริษัทผู้ผลิต กระทำการอันเป็นเท็จ ซึ่งหากพบการกระทำที่ร่วมบุคคลอื่นก็ชอบที่ผู้เสียหายจะยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายนั้นได้อีก ดังนั้น จำเลยคดีนี้จึงยังไม่มี ความผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง ขณะนี้พนักงานอัยการอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์..."
ในการเผยแพร่เผยผลคำพิพากษาคดีพิเศษ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนผู้ผลิต ผู้จําหน่าย หรือตัวแทนจําหน่าย เครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัย GT200 และ ALPHA 6 มีพฤติการณ์ฉ้อโกงหรือลวงขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด ต้องสงสัยที่ไม่มีคุณภาพตามที่กล่าวอ้าง กับหน่วยงานของรัฐ ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณชนไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2561 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ: ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก)
นอกเหนือจากการระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลคำพิพากษาของ ศาลแขวงดอนเมือง ในคดีอาญา ที่กรมราชองครักษ์ และ กรมสรรพาวุธทหารบก เป็นโจทก์ฟ้องร้อง บริษัท เอวิเอ แซทคอม จากัด กับผู้บริหาร ในความผิดฐานฉ้อโกง กรณีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 โดย นายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ถูกตัดสินโทษจำคุกคนเดียวไปแล้ว รวมจำนวน 19 ปี ส่วนบริษัท เอวิเอ แซทคอม จากัด เสียค่าปรับชดใช้เงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 9,090,000 บาท (อ่านประกอบ : ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี)
มีการระบุถึงผลคำพิพากษาของศาลแขวงดอนเมือง ในคดีพิเศษที่ 35/2555 ระหว่าง กองบัญชาการกองทัพไทย โดย ศูนย์รักษาความปลอดภัย ในฐานะโจทก์ กับ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก เป็นจำเลย
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานอัยการโจทก์แล้ว เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเพียงพอให้เชื่อได้ว่า จำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำ แคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติเครื่องอันเป็นเท็จที่เกินจริงว่า สามารถตรวจจับได้ทุกสถานการณ์ ทุกสสาร โดยไม่ต้องชาร์จไฟ แต่ใช้ไฟฟ้าสถิตจากตัวผู้ใช้ แต่บริษัทจำเลยเพียงแต่นำเข้าเครื่องและเอกสารจากบริษัท Comstrac สหราชอาณาจักร มาจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งจำเลยอาจไม่ล่วงรู้ได้ว่า ข้อความนั้นเป็นเท็จ หรือร่วมกับบริษัทผู้ผลิต กระทำการอันเป็นเท็จ ซึ่งหากพบการกระทำที่ร่วมบุคคลอื่นก็ชอบที่ผู้เสียหายจะยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายนั้นได้อีก ดังนั้น จำเลยคดีนี้จึงยังไม่มี ความผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง ขณะนี้พนักงานอัยการอยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกไปแล้ว จึงขอย้อนนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง
สำนักข่าวอิศรา เคยสืบค้นข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2549-2558 บริษัทแจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญาจัดซื้อเครื่องตรวจจับและค้นหาวัตถุระเบิด ,เครื่องตรวจค้นอาวุธและวัตถุระเบิดแบบประตู ,เครื่องตัดสัญญาณคลื่นโทรศัพท์ กับหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 4 แห่ง จำนวน 8 สัญญา รวมเป็นเงิน 76,937,900 บาท จำแนกเป็น
1. ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการทหารสูงสุด จัดซื้อ 3 สัญญา เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2550 และ 13 ม.ค. 2552 รวมเงิน 12,200,000 บาท
2. การกีฬาแห่งประเทศไทย ซื้อเครื่องตรวจสอบและค้นหาวัตถุระเบิดและตัดสัญญาณโทรศัพท์ รวม 4 รายการ วันที่ 28 มี.ค. 2551 วงเงิน 3,680,000 บาท
3. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ซื้อเครื่องตัดสัญญาณคลื่อนโทรศัพท์ วงเงิน 8,470,000 บาท วันที่ 7 ก.ค. 2549
4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( 3 หน่วย ได้แก่ กองพลาธิการ,ตำรวจภูธร จังหวัดลำปาง,กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด) 3 สัญญา 52,587,900 บาท และจัดซื้อชุดค้นหาทิศทางโทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อ Coms Tras รุ่น CTS GSMG Pocket จำนวน 11 ชุด วงเงิน 49,399,900 บาท เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2558
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า บริษัท แจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนวันที่ 19 มิ.ย. 2539 ทุน 5 ล้านบาท (18 มิ.ย.2553 เพิ่มเป็น 10 ล้านบาท ,29 ก.ย. 2557 เพิ่มเป็น 20 ล้านบาท)ประกอบธุรกิจ จำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องตรวจหา กล้องตรวจการ ที่ตั้งเลขที่ 437 ซอยบางนา-ตราด 27 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งสำนักงานบัญชีเลขที่ 2/36 ซอยบางนา-ตราด 25 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 10 ส.ค. 2560 น.ส.จิราพร เชาว์เฉียบ ถือหุ้น 50.99% นายหยาง เซียะ เซียง สัญชาติจีนไต้หวัน 50% และร่วมกันเป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินรอบปี 2559 รายได้ 140,783,021 บาท กำไรสุทธิ 8,074,588 บาท สินทรัพย์ 72,159,050 บาท หนี้สิน 51,811,001 บาท กำไรสะสม 348,049 บาท
อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่า การจัดซื้อของหน่วยงานอื่น 3 หน่วยงาน มีปัญหาเหมือนกรณีเครื่อง GT 200 กับ ศรภ.หรือไม่
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ย้อนไปตรวจสอบข้อมูล บริษัท แจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ยังประกอบธุรกิจอยู่ ไม่ได้มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลบริษัทฯ
นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่ามีรายได้รวม 107,124,365.97 บาท รวมรายจ่าย 98,610,779.38 บาท กำไรสุทธิ 6,036,949.91 บาท
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลการทำธุรกิจล่าสุดของ บริษัท แจ๊คสัน อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในปัจจุบัน
อ่านประกอบ :
ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์