หลากทัศนะ พ.ร.บ.ปรองดอง...เหยื่อคดีใต้อยากได้ "นิรโทษกรรม" เหมือนม็อบการเมือง
กลายเป็นข่าวดังไปทั่วประเทศ (และอาจจะทั่วโลก) สำหรับการเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ (ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง) จนก่อความวุ่นวายขัดแย้งทั้งในและนอกสภา โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดกับสภาผู้ทรงเกียรตินั้น เละเทะชนิดที่ว่าสภาโจ๊กยังดูดีกว่าสภาจริง
ผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยพยายามทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้ร่างกฎหมายบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่น่าจะมีเรื่องอื่นสำคัญกว่าอีกหลายเรื่อง ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านนำโดยพรรคประชาธิปัตย์ก็ฮือขัดขวางแบบไม่ต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์และมารยาทใดๆ
กลายเป็นสงครามย่อยๆ ขึ้นในอาคารรัฐสภา...
ขณะที่ปัญหาของประชาชนคนทั้งประเทศยังมีอีกมากมายที่รอนักการเมืองร่วมมือกันแก้ไข แม้แต่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมีคนถูกระเบิด ถูกยิง ถูกกระทำรุนแรง กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายทุกวัน
แน่นอนว่าสภาพการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วทุกหัวระแหง รวมถึงแทบทุกวงพูดคุยตามร้านน้ำชาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่กำลังกลายเป็นชนวนจุดความขัดแย้งระลอกใหม่อยู่ในขณะนี้...
หวั่นตีความคลุมนิรโทษกลุ่มป่วนใต้
เริ่มจากประเด็นเนื้อหาในร่างกฎหมาย โดยเฉพาะร่างที่เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่วันนี้พลิกบทมาเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันดันกฎหมายปรองดอง แม้หลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายจะระบุค่อนข้างชัดว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการชุมนุมและความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา แต่เนื้อหาจริงๆ ของกฎหมายซึ่งมีอยู่ 8 มาตรา บางมาตราสุ่มเสี่ยงให้ตีความแบบกว้างขวางว่าเป็นการ "นิรโทษใครก็ได้" ตั้งแต่ชายชุดดำ กลุ่มเผาบ้านเผาเมือง หรือแม้แต่คนที่ใช้อาร์พีจียิงกระทรวงกลาโหม
จนทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าเขียนกฎหมายแบบนี้ กลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อาจได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่?
เนื้อความในมาตรา 3 (1) ของร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เขียนเอาไว้ให้การกระทำเหล่านี้ถือว่าไม่เป็นความผิดอีกต่อไป
"การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีใดๆ อันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง"
หากใครอุตริไปตีความว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าข่ายเป็นการ "แสดงออกทางการเมือง" ด้วยหรือไม่ เพราะมีเป้าหมายหรือจุดประสงค์ทางการเมืองคือการ "ต่อต้านรัฐ" เหมือนกัน ก็คงจะยุ่งกันใหญ่
แม้แต่ สิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ก็ยังยอมรับว่า "คงวุ่นวายน่าดู"
"ผมมองว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทำขึ้นเพื่อกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น ไม่ควรนำมาโยงกับภาคใต้ เพราะไม่สามารถนำมาใช้กันได้เลย คิดว่าถ้าเอามาใช้จริง ปัญหาในภาคใต้คงเกิดความวุ่นวายน่าดู"
ทหารหนุน "อภัยโทษ" ปลดล็อคขบวนการ
อย่างไรก็ดี แนวคิดที่จะให้ "ยกโทษทุกฝ่าย" เพื่อ "การปรองดอง" นั้น กลับตรงใจใครหลายคนหากขยายผลมาแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
แหล่งข่าวจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า หากฝ่ายการเมืองขยายขอบเขตการนิรโทษกรรมมาถึงผู้กระทำความผิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ก็จะตรงกับนโยบายของ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่เคยเสนอให้ออกกฎหมาย "อภัยโทษ" โดยยึดหลักการตามมาตรา 17 สัตต แห่งพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเนื้อหานิรโทษผู้กระทำผิดทุกฝ่าย
"ท่านแม่ทัพเคยเสนอแนวคิดนี้ไปยังรัฐบาล เนื่องจากการทำงานในพื้นที่ตลอดมาทำให้ทราบว่ามีสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบจำนวนไม่น้อยที่ต้องการหันหลังให้ขบวนการ แต่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากติดหมายจับตามความผิดที่พวกเขาเคยก่อ ท่านแม่ทัพเห็นว่าหากปลดล็อคตรงนี้ จะมีคนออกจากป่า ออกจากขบวนการมาร่วมมือกับรัฐเป็นจำนวนมาก" แหล่งข่าว ระบุ
น้องผู้ต้องหาคดีกรือเซะอยากให้นิรโทษพี่ชายบ้าง
นางรอปิอะห์ สาแม น้องสาวผู้ต้องหาในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 ที่รู้จักกันดีในนาม "เหตุการณ์กรือแซะ" ซึ่งถูกควบคุมตัวที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และถูกดำเนินคดีจนศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมให้พี่ชายมาโดยตลอดแต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อทราบข่าวว่ารัฐบาลกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ก็รู้สึกดีใจ และคิดว่าน่าจะนำมาใช้กับทุกคน ทุกภาคส่วน เพราะทุกคนคือคนไทยเหมือนกัน
"ฉันอยากเห็นความเสมอภาค ความเท่าเทียมกัน รัฐบาลต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ กลุ่มนั้นกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะปรองดองได้ เพราะประชาชนในสามจังหวัดก็ควรได้รับสิทธิในการปรองดองด้วย"
"โดยเฉพาะกรณีของพี่ชาย ฉันคิดว่าน่าจะได้รับสิทธิด้วย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์กรือเซะ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็รู้ดีว่าประชาชนบางกลุ่มถูกหลอกเพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ฉะนั้นจึงน่าจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ปรองดอง รวมถึงกรณีอื่นๆ ด้วย ฉันไม่อยากให้รัฐบาลทำเหมือนกับว่าผลักดันกฎหมายมาใช้เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น" นางรอปิอะห์ กล่าว
นางสาวทัศนี โมง ลูกสาวเหยื่อผู้สูญหาย กล่าวว่า การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค ทุกฝ่ายต้องมีสิทธิร่วมในการปรองดอง ไม่ใช่ทำเฉพาะกลุ่มเสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองหรือพรรคพวกของรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องปรองดองกับกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพราะทุกคนคือคนไทยเหมือนกัน ต้องมีความเท่าเทียมกัน
ขณะที่ นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ถ้ารัฐบาลสามารถนำกระบวนการปรองดองที่กำลังดำเนินการอยู่มาใช้ร่วมกับประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะประเด็นสำคัญที่สุดคือต้องไม่ทำเพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทุกคนต้องได้รับประโยชน์กับสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ไม่เจาะจงกลุ่ม
"เรื่องนี้ถ้าทำได้จะเป็นเรื่องดีมาก โดยเฉพาะปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสงบสุขจะกลับมาโดยเร็วแน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ทุกคนกำลังรบกับความรู้สึก ถ้ารัฐสามารถทำอะไรที่ได้ใจประชาชนเพื่อแก้ปัญหาอย่างจริงจังจริงใจ คิดว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน ปัญหาภาคใต้นั้นไม่ต้องใช้กระสุนแก้ แค่ใช้จิตใจแก้ก็จะได้ใจ แล้วทุกอย่างจะคลี่คลายลงเอง" นายอับดุลอาซิส กล่าว
"นักสิทธิฯ"ชี้ปรองดองลัดขั้นตอน
ด้านมุมมองในมิติทางการเมืองและการยุติความขัดแย้งในสังคมไทยผ่านการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง นั้น นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ของรัฐบาลมองว่าเป็นการลัดขั้นตอน เพราะความจริงแล้วประเทศที่เกิดความขัดแย้งจะหาวิธีการจัดการความขัดแย้งซึ่งเป็นที่ยอมรับร่วมกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริง หรือนำเรื่องที่มีการกระทำผิดกฎหมายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เมื่อได้รับรู้ความจริงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดถูกดำเนินคดีแล้ว หลังจากนั้นจึงจะมาพูดคุยกันเพื่อสร้างความปรองดอง อาจจะนิรโทษหรืออภัยโทษทุกฝ่ายก็ต้องทำในขั้นตอนนี้
"แต่ครั้งนี้เป็นการลัดขั้นตอน ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับผิด ไม่ต้องรับโทษ ข้ามไปให้การเยียวยาเลย ทำให้ไม่ปรากฏความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น และสาเหตุของความขัดแย้งคืออะไรกันแน่ หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับประโยชน์ เพราะเมื่อทำผิดแล้วก็ไม่ต้องรับโทษ ต่อไปก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ซ้ำๆ"
"แนวทางที่ถูกต้องคือทุกอย่างต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน ต้องยอมรับผิดและยอมรับการลงโทษ หลังจากนั้นจะลดโทษหรืออย่างไรก็ค่อยว่ากัน ชัดเจนว่าเรื่องนี้ทำขึ้นเพื่อการเมือง ใครตายก็เอาเงินไป ต่อไปพอเกิดเรื่องอีกก็จ่ายเงินอีก ปัญหาก็จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญคือไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก การแก้ปัญหาด้วยเงินจะยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลายและไร้หลักประกัน"
นายสมพร สังข์สมบูรณ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ไม่ได้เกิดประโยชน์หรือเกิดผลใดๆ กับคนสามจังหวัดเลย เพราะมีความชัดเจนว่าได้กระทำขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น ไม่ใช่การปรองดองที่ทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาค ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้หันมาสามัคคีกลมเกลียวกันเหมือนเดิม
ชาวบ้านระอาพฤติกรรม "ผู้ทรงเกียรติ"
ส่วนกรณีที่เกิดความวุ่นวายขึ้นในสภาจนเป็นข่าวฉาวโฉ่ไปทั่วนั้น นายครองธรรม แซ่เจน ชาวบ้านในเขตเทศบาลนครยะลาซึ่งติดตามข่าวสารการเมืองอย่างใกล้ชิด ให้ทัศนะว่า ความปรองดองเป็นเรื่องดี แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ส่งเข้าสู่สภา กลับทำให้เกิดความแตกแยกกันขึ้น จึงเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งในตัวเอง ทุกคนกำลังทำในสิ่งที่เรียกว่าปรองดอง แต่ขณะเดียวกันขั้นตอนที่นำไปสู่การปรองดองนั้นกลับมีความขัดแย้ง เกิดสิ่งที่ไม่พึงประสงค์
"ผมอยากฝากถึงคนไทยทุกคนที่ได้รับฟัง รับชม และติดตามข่าวสารบ้านเมือง ให้พิจารณากันเองว่าความปรองดองจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่กับสิ่งที่เรียกว่า พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับนี้"
"ส่วนเรื่องที่มีการทะเลาะกันในสภา ผมมองว่าผู้แทนทุกคนเป็นบุคคลที่ทรงเกียรติ สถานที่ก็เป็นสถานที่อันทรงเกียรติ แต่พฤติกรรมที่แสดงออกมา อยากให้ผู้กระทำถามตนเองว่าได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับตำแหน่งอันทรงเกียรติแล้วหรือไม่"
นายครองธรรม กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่เสนอโดย พล.อ.สนธิ มีทั้งหมด 8 มาตรา ผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้โดยตรง คือ 1.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 2.ผู้ที่ได้รับกระทบจากการยุบพรรคการเมือง 3.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ
"นี่คือ 3 กลุ่มหลักๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และหากลงลึกไปในเนื้อหาของกฎหมายแล้ว จะเห็นได้ว่ามีการลบล้างคำพิพากษาของศาล ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลอื่นๆ ทุกศาล หากเป็นคดีที่ คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) หรือองค์กรอื่นๆ ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นผู้สอบสวนดำเนินคดี"
"ผมอยากฝากถามไปยังผู้ที่เสนอกฎหมายว่า เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ และหากทำอย่างนี้ต่อไปใครจะเชื่อถือศาล ผมเชื่อว่าต่อไปประเทศไทยจะมีความโกลาหลวุ่นวายมากขึ้นอย่างแน่นอน" นายครองธรรม กล่าว
เป็นการคาดหมายสถานการณ์บ้านเมืองที่น่าจะสอดคล้องกับความเห็นของคนอีกจำนวนมากในสังคม!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ความวุ่นวายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา
2 บรรยากาศร้านน้ำชาใน อ.เมืองยะลา (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
ขอบคุณ : คุณเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวี เอื้อเฟื้อภาพความวุ่นวายในสภา