สภาวิศวกร ชี้แนะ รับมือดินถล่ม ภูเขาทรุดพังทลาย อย่างไรให้ปลอดภัย
ศ. ดร. อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร เปิดเผยถึงการรับมือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใกล้ภูเขาอย่างไรให้ปลอดภัยไม่ถูกดินถล่มและภูเขาทรุดฟังทลายมาทับบ้าน
ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงมากกว่าภาคอื่นๆ เพราะว่าเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาที่มีความ ลาดชันอยู่มาก แต่ถ้าเป็นพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบ ความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นน้อยกว่า ส่วนพื้นที่ตรงไหนเสี่ยงมากกว่ากัน ต้องดูแผนที่เสี่ยงภัยแผ่นดินถล่ม ของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและดูว่าจุดที่จะปลูกที่อยู่อาศัยหรือพื้นที่ในหมู่บ้านของเราอยู่ตรงจุดไหนในแผนที่นี้ โดยจะบอกสี เป็น สีแดง สีเหลือง สีเขียว พื้นที่ที่อันตรายที่สุดคือ สีแดง สีแดงนี้ถ้าเจอน้ำฝน 100 มิลลิเมตรต่อวัน มีโอกาสดินถล่มได้ ถ้าเป็นสีเหลือง ต้อง 200 มิลลิเมตรต่อวันขึ้นไป อีกทั้งยังสามารถดูได้จากการดูสภาพทางธรณีวิทยาว่า ดินหินต่างๆ บริเวณไหนที่มีโอกาสที่เกิดการผุพังง่าย หรือร่วงไถลลงมาได้มากกว่ากัน สามารถวิเคราะห์ได้แผนที่ตรงนี้เราสามารถขอข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีได้ ศ.ดร. อมร กล่าว
ศ. ดร. อมร กล่าวอีกว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดูแลในด้านพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่มเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการไปจัดตั้งระบบเตือนภัย วัดปริมาณน้ำฝน มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ในเรื่องของดินถล่ม ให้กับพื้นที่เสี่ยง เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งก็มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งทางราชการก็ได้ดำเนินการไปบางส่วนที่จะไปช่วยเหลือประชาชนอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นพื้นที่ในเขตเมือง จะมีความเสี่ยง ที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินทรุดตัว ผลจากการสูบน้ำบาดาลกันเป็นจำนวนมาก ทำให้น้ำใต้ดินหายไป แผ่นดินจึงยุบตัวลง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่ายเกิดขึ้นด้วย อย่างพื้นที่กรุงเทพมหานคร อีกสาเหตุปัจจัยหนึ่งคือ น้ำท่วมที่มาจากน้ำทะเลสูงขึ้น ต่างจากลักษณะของความเสียหายที่เกิดจากโคลนถล่มจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความ ลาดชัน ตรงเชิงภูเขา ซึ่งจุดที่เป็นอันตรายมากๆ คือ พื้นที่เป็นหุบเขา ที่มีภูเขาล้อมรอบทุกด้านเป็นแอ่งกระทะ ที่นี้ ยิ่งเป็นจุดที่อันตรายที่สุด เพราะกลายเป็นที่รวมของตะกอน หรือแอ่งตะกอน ของเศษดิน เศษหิน ไหลลงมากองรวมกันอยู่ข้างล่าง
เลขาธิการสภาวิศวกร กล่าวอีกว่า อยากจะฝากบอกพี่น้องประชาชนทุกคนว่า เรื่องทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เราสามารถแจ้งเตือนภัยได้ และทางกรมโยธาธิการ และผังเมืองกำลังออกกฎหมายขึ้นมา เพื่อบังคับเกี่ยวกับเรื่องของการก่อสร้างอาคารที่อยู่ติดกับเชิงเขา จะต้องมีระยะล่น ระยะห่างจากเชิงเขาอยู่พอสมควร ซึ่งกำลังอยู่ร่างกฎกระทรวงขึ้นมา จากการที่บ้านเรามีกฎกระทรวงที่เกี่ยวกับเรื่องอาคารหลายฉบับ ที่บางฉบับก็บอกว่าให้เว้นห่างจากถนนสาธารณะ บางฉบับก็ให้เว้นห่างจากแม่น้ำ ลำธารสาธารณะฉบับใหม่นี้ จะบอกให้เว้นระยะห่างจากตัวภูเขาหรือที่ลาดชัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ดีกว่าที่เราเว้นระยะห่างทำกันเอง บางทีประชาชนไม่รู้ คิดว่าภูเขาแข็งแรงมั่นคง แต่จริงๆ แล้วอะไรก็สามารถตกลงมาใส่หลังคาบ้านเราได้ จึงเป็นเรื่องที่เราต้องระมัดระวังว่าเราอยู่ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงอยู่
พร้อมกับขอแนะนำพี่น้องประชาชนกรุณาดูว่า ในแผนที่เสี่ยงภัยบ้านของเราอยู่ตรงไหน มันเป็นพื้นที่สีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว และถ้าเรารู้ว่ามีความเสี่ยงแล้ว อย่านิ่งนอนใจ ฝนตกหนักๆ อย่านอนหลับเพลิน ต้องคอยสังเกตสิ่งรอบข้าง และเป็นหมู่บ้านต้องร่วมมือกัน จัดเวรยาม เพราะไม่มีทางที่คนส่วนกลางจะมาอยู่กับเราได้ตลอดเวลา สุดท้ายต้องพึ่งพาตนเอง ต้องมีการจัดเวรยาม และก็ต้องมีการจัดระบบว่า เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว พวกเราจะไปอยู่ตรงไหนกัน จะขึ้นที่สูงตรงไหนที่จะทำให้ปลอดภัยจากแนวที่ดินโคลนถล่มจะตกลงมา
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก http://www.nationtv.tv