ชูวิจัย R2R ยกระดับบุคลากรพื้นที่ก้าวสู่นักวิจัยหน้าใหม่
รมว. สาธารณสุข กระตุ้นบุคลากร สธ. ระดับพื้นที่ สร้างงานวิจัย R2R มุ่งพัฒนางานสุขภาพ พัฒนาคน รองรับยุค Thailand 4.0 ด้าน สวรส. หนุนพื้นที่สร้างนักวิจัย R2R จากเขตสุขภาพ เพราะเข้าใจบริบทของพื้นที่ เปิดโอกาสสู่การเป็นนักวิจัยหน้าใหม่ ในงานประชุมวิชาการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (MOPH R2R Forum) ประจำปี 2561 ภายใต้หัวข้อ Routine to Research (R2R) to Future Health Care จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “R2R กับแผนพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี” ว่า โลกยุคใหม่ที่จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 สิ่งที่สำคัญในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะทางด้านสาธารณสุข คือ การวิจัยและองค์ความรู้ทางด้านสุขภาพที่ต้องได้มาจากสติปัญญาของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเอง ลดการพึ่งพาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ โดยสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งนี้การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย หรือ R2R จัดเป็นกระบวนการสำคัญด้านหนึ่งในการพัฒนางานควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ซึ่งสนับสนุนให้เกิดผลงานวิชาการ การเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการด้านสุขภาพ
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรในสังกัดจำนวน 4 แสนกว่าคน ถ้าทุกคนสามารถทำงานประจำให้เป็นงานวิจัยในเรื่องที่ตนเองสนใจหรือจากปัญหาที่เห็นในหน้างาน รู้จักสังเกต เพื่อให้เกิดคำถามสำหรับพัฒนางานให้ดีขึ้น รวมถึงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมพัฒนางานได้ก็จะเกิดเป็นประโยชน์สูงสุดกับงาน ดังนั้น อนาคตของงานสาธารณสุขยุค 4.0 ส่วนหนึ่งต้องพัฒนา R2R อยู่ตลอดเวลา โดยสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังปฎิรูป คือ การกระจายอำนาจลงไปสู่หน่วยงานในส่วนภูมิภาค
โดยให้เขตสุขภาพเป็นหน่วยบริหารจัดการคน เงิน ของด้วยตัวเอง ซึ่งหากแต่ละพื้นที่มีงานวิจัย R2R ที่นำมาแก้ไขปัญหางานในพื้นที่ได้ก็จะช่วยสร้างองค์ความรู้และระบบคิดใหม่ๆ ด้านสุขภาพที่เหมาะสมไปตามบริบทที่แตกต่างกันไป เชื่อว่าผลลัพธ์ก็จะนำมาสู่การพัฒนางานด้านบริการการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การบริหารงานในระบบสุขภาพ รวมถึงการมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน
ทางด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “R2R กับ นโยบายวิจัยสาธารณสุข เพื่อ Thailand 4.0” ว่า จากยุทธศาสตร์ของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อก้าวสู่ยุค Thailand 4.0 ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value–Based Economy สำหรับในมิติทางด้านสุขภาพสู่ยุค Thailand 4.0 นั้น จะต้องเน้นการดูแลสุขภาพโดยเน้นคุณค่า หรือ Value-based Health Care ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม 20 ปี ที่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนางานด้านสุขภาพว่าจะปรับตัวอย่างไรให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตลอดจนคาดหวังให้คนไทยมี 2W คือ ความมั่งคั่ง (Wealth) และความเป็นอยู่/มีสุขภาพที่ดี (Well being) อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ยังต้องการองค์ความรู้จากงานวิจัยมาสนับสนุนไปด้วย
ผศ.ดร.จรวยพร ยกตัวอย่างจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) ที่กำหนดให้เขตสุขภาพมีจำนวนเมืองสมุนไพร (Herbal City) อย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 จังหวัด โดยมุ่งเน้นให้พื้นที่ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรให้เข้าสู่ระบบสุขภาพและระบบเศรษฐกิจแบบครบวงจรในระดับจังหวัดนั้น ผู้บริหารพื้นที่อาจต้องกำหนดนโยบายวิจัย R2R ที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรในพื้นที่สร้างและจัดการความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนางานด้านสุขภาพจากงานวิจัย R2R อาทิ การตั้งคำถามเพื่อสร้างโจทย์วิจัยที่จะไปสู่แนวทางการพัฒนานโยบาย เช่น ทำอย่างไรคนไทยจะเลือกใช้ยาอมสมุนไพรบรรเทาอาการไอที่ผลิตในประเทศมากกว่ายาอมนำเข้ามาจากต่างประเทศหรือวิจัยเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้ยาสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบัน/แนวทางการลดค่าใช้จ่ายจากยาและเวชภัณฑ์ในเขตสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ให้เชื่อมโยงความรู้สู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย และมีการจัดการเพื่อใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา สวรส. ตั้งใจให้ R2R เป็นเครื่องมือสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพและระบบวิจัยสุขภาพ รวมทั้งมีการเรียกร้องให้คนทำงาน R2R มาช่วยตอบโจทย์ปัญหางานวิจัยเชิงระบบที่ใหญ่กว่าปัญหาของแต่ละหน่วยงานมากขึ้น ซึ่งงานวิจัยสร้างทั้งข้อมูลและความรู้ตลอดจนหน่วยงานนโยบายก็เริ่มมีวัฒนธรรมการใช้ความรู้และข้อมูลมาสนับสนุนการตัดสินใจหรือการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมากขึ้น แต่ปัจจุบันการวิจัยระบบสุขภาพยังมีข้อจำกัดในด้านบุคลากรการวิจัยที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น บทบาทสำคัญด้านหนึ่งของ สวรส. คือ การพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยระบบสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรทางการวิจัยสุขภาพ อีกทั้ง สวรส. ได้มีส่วนสนับสนุนนักวิจัย R2R ในเขตสุขภาพ พัฒนามาสู่การเป็นนักวิจัยหน้าใหม่ในการศึกษาวิจัยเชิงระบบและนโยบาย (Research to Policy : R2P)ที่สอดคล้องกับนโยบายสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข เช่น การศึกษาต้นทุนอรรถประโยชน์ของการทำผ่าตัดเอ็นไขว้หน้าโดยการส่องกล้องเข่า ในโรงพยาบาลทั่วไประดับ M1 ในเขตสุขภาพที่ 7 การประเมินการใช้เทคนิคการสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเขตสุขภาพที่ 2 เป็นต้น
ศ.ดร.จรวยพร กล่าวปิดท้ายว่า R2R คือเครื่องมือพัฒนาคน พัฒนางาน พัฒนาบริการโดยเชื่อว่าบุคลากรในพื้นที่จะรู้บริบทปัญหาและแนวทางการแก้ไขดีที่สุด เพียงแค่ทำการทบทวน วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลนำมาเรียบเรียง เพื่อให้เห็นข้อเท็จจริงอย่างมีระบบ มีหลักฐานเชิงประจักษ์เพียงพอที่จะใช้พัฒนาเป็นนโยบายแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ได้ ซึ่งจะดีกว่าการให้ส่วนกลางกำหนดเป็นนโยบายลงมา เพราะอาจไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ได้ทั้งหมด ทั้งนี้ หากประเทศไทยไทยมีนักวิจัย R2R ที่ใช้ข้อมูลจากงานประจำทำให้เป็นงานวิจัยแล้วนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนางานของตนเองให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ผลผลิตงานบริการ ตลอดจนการมีเครื่องมือสุขภาพที่มีมูลค่าเพิ่มตอบเป้าหมายของรัฐบาลยุค Thailand 4.0 ได้เช่นกัน