พลิก กม.ป.ป.ช.มิให้นับอายุความจำเลยหนีคดี บังคับใช้ย้อนหลังไม่ได้ ชนวน ‘ทักษิณ’รอด?
“…ไม่ใช่แค่กรณีของนายทักษิณ นายวัฒนา หรือนายประชา เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อปลายปี 2560 รวมถึง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต ที่หลบหนีไปช่วงก่อนมีคำพิพากษาเมื่อปี 2560 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากถูกออกหมายจับไปก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ มีผลใช้บังคับ…”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่า อายุความคดีของอดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘อื้อฉาว’ ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในคดีทุจริตการซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก กำลังจะหมดอายุความลงในวันที่ 21 ต.ค. 2561 หลังจากครบ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98
อย่างไรก็ดีตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ที่เพิ่งบังคับใช้หมาด ๆ เมื่อปลายเดือน ก.ค. 2561 นั้น มีการระบุไม่ให้นับเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และไม่ให้นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้บังคับ
คำถามคือ ในเมื่อกฎหมาย ป.ป.ช. ระบุเช่นนั้น ทำไมคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ถึงยังหมดอายุความอยู่ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
คดีนี้ อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์ตนเองสำหรับผู้อื่น ผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 (ขณะนั้น) และประมวลกฎหมายอาญา กรณีคุณหญิงพจมาน ประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ราว 33 ไร่ ราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง โดยนายทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรส (ขณะนั้น)
ศาลฎีกาฯรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2550 และสั่งไต่สวน ถัดมาประมาณปีเศษ เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2551 ศาลฎีกาฯพิพากษาว่า นายทักษิณ มีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ยกฟ้องคุณหญิงพจมาน อย่างไรก็ดีนายทักษิณ ได้ขออนุญาตศาลฎีกาฯ ขอไปรับชมการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศจีน เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2551 และไม่กลับมาประเทศไทยอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
กรณีนายทักษิณหลบหนีคดีนั้น นับเป็นใบเบิกทางให้นักการเมืองรุ่น ‘ลายคราม’ ในประเทศที่ตกเป็นจำเลยคดีทุจริต เริ่มทยอยหลบหนีไปก่อนมีคำพิพากษาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย (คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หนีปี 2552) หรือนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย (คดีทุจริตรถ-เรือดับเพลิง ไม่มีข้อมูลว่าหนีไปเมื่อใด แต่เป็นช่วงก่อนคำพิพากษาเมื่อปี 2556)
การหลบหนีคดีของ ‘บิ๊กนักการเมือง’ ดังกล่าวส่งผลกระเทือนต่อความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในประเทศอย่างมาก ส่งผลให้หลายหน่วยงานร่วมหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะหัวหอกในการปราบปรามการทุจริตคือ สำนักงาน ป.ป.ช.
ท้ายที่สุด ‘ตกผลึก’ ออกมาเป็น พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับที่ 3 ทีแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2558 มาตรา 74/1 ระบุว่า ในการดำเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ จากเดิมใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2554 ระบุว่า นับเฉพาะในส่วนของคดีในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติในส่วนของการหนีคำพิพากษาคดีในชั้นศาล
เบื้องต้น แต่ไม่สามารถหยุดอายุความคดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ได้ นั่นหมายความว่า นายทักษิณ นายวัฒนา นายประชา และนักการเมืองรายอื่น ๆ ที่หลบหนีคำพิพากษา และถูกออกหมายจับไปก่อน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับนี้บังคับใช้ อายุความยังเดินเหมือนเดิม
“ถ้าหมายจับเก่าก็จะไม่นับย้อนหลังในส่วนนี้ ซึ่งในหมายจะเขียนไว้เลยว่า ให้กลับมาภายในอายุความเท่าไหร่ แต่ถ้าในหมายใหม่ก็จะเขียนประมาณว่า ให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้นต้องดูในหมายจับว่าเขียนอย่างไร” นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. (ตำแหน่งขณะนั้น ปัจจุบันเป็นเลขาธิการฯ) ระบุ
เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายโดยเฉพาะศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ต้องหารือกันอีกครั้ง เพื่อไม่ให้นับอายุความคดีจำเลยที่อยู่ในชั้นศาลด้วย ถึงขนาดเกิดแนวคิดที่ว่า ให้แก้ไขปัญหากฎหมายเกี่ยวข้องกับอายุความคดีทุจริต ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ปรากฏหลักฐานการทุจริตด้วย อย่างไรก็ดีผลการศึกษาดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก เพราะกระทบสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเกินสมควร
กระทั่งระหว่างปี 2560-2561 ในระหว่างการร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2561 ได้บัญญัติมาตรา 7 ที่ระบุสาระสำคัญว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่หลบหนี มิให้นับระยะเวลาหลบหนีเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ (อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่นี่)
สำหรับมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 บัญญัติว่า ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 มาใช้บังคับ
อย่างไรก็ดีการออกกฎหมายเพื่อ ‘อุดช่องโหว่’ จำเลยหลบหนีทั้งหมดทั้งมวลดังกล่าว ไม่มีผลบังคับใช้กับ ‘ผู้ถูกกล่าวหา-จำเลย’ ที่หลบหนีไปก่อนกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับนี้ใช้บังคับ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ไม่มีผลย้อนหลังนั่นเอง
นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่กรณีของนายทักษิณ นายวัฒนา หรือนายประชา เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี เมื่อปลายปี 2560 รวมถึง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยทุจริต ที่หลบหนีไปช่วงก่อนมีคำพิพากษาเมื่อปี 2560 ด้วยเช่นกัน เนื่องจากถูกออกหมายจับไปก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับนี้ มีผลใช้บังคับ
เฉลยคำตอบว่า ทำไมคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินบริเวณรัชดาภิเษก ถึงหมดอายุความลงในวันที่ 21 ต.ค. 2561 นี้ อย่างไรก็ดีนายทักษิณยังมีหมายจับอีกหลายใบ และเกือบทุกใบออกภายหลัง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ไปแล้วด้วย
นั่นหมายความว่า ต่อให้อายุความคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินบริเวณรัชดาภิเษกหมดอายุความลง ก็ยังเหลืออีกหลายคดีที่เป็นชนักติดหลังนายทักษิณอยู่ และหากยังหลบหนีไม่กลับมาสู้คดี อายุความของคดีเหล่านั้นก็ไม่มีวันหมดอายุลง จนกว่าจะกลับมาต่อสู้คดีนั่นเอง
ส่วนนายทักษิณจะกลับมาต่อสู้คดีหรือไม่ หลายคนคงทราบคำตอบกันอยู่แล้ว!